"ไซโคลนบุลบูล" พัดถล่มชายฝั่งอินเดีย ทำสถิติพายุลูกที่ 4 ฟื้นชีพไม่ยอมตาย

"ไซโคลนบุลบูล" พัดถล่มชายฝั่งอินเดีย ทำสถิติพายุลูกที่ 4 ฟื้นชีพไม่ยอมตาย

"ไซโคลนบุลบูล" พัดถล่มชายฝั่งอินเดีย ทำสถิติพายุลูกที่ 4 ฟื้นชีพไม่ยอมตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิชาการยกฉายาให้ "พายุบุลบูล" เป็น "พายุฆ่าไม่ตาย" หลังข้ามฝั่งมหาสมุทรเดิมจาก "พายุแมตโม" ยังกลายมาเป็นพายุไซโคลนได้อีกครั้งในประวัติศาสตร์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า พายุไซโคลนบุลบูล พายุรุนแรงระดับ 2 ได้เคลื่อนตัวใกล้ชายฝั่งทางตอนเหนือของอ่าวเบงกอล ใกล้กับนครโกลกาตา เมืองเอกของรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย ส่งผลทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ คาดว่าพายุลูกนี้จะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งประเทศบังกลาเทศต่อไป

พายุไซโคลนบุลบูล กลายเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจสภาพอากาศทั่วโลก เนื่องจากพายุลูกนี้เป็นร่างอดีตของ "พายุโซนร้อนแมตโม" ที่ก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลฟิลิปปินส์ ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนจะพัดขึ้นชายฝั่งตอนกลางของประเทศเวียดนาม เข้าสู่ประเทศกัมพูชา และสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในที่สุด

แต่หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุแมตโม ที่ทำท่าจะสลายตัวระหว่างเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย หย่อมฝนกลุ่มนี้ได้เคลื่อนตัวไปตามทางทิศตะวันตก ลอยเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ และลงสู่ทะเลอันดามันตามลำดับ

เมื่อหย่อมฝนที่เป็นร่างอดีตของพายุแมตโม ได้สัมผัสกับอุณหภูมิบนผิวน้ำของทะเลอันดามัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางธรรมชาติพัฒนากลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะเคลื่อนตัวออกไปสู่อ่างเบงกอล และปรับระดับความรุนแรงกลายเป็นพายุดีเปรสชันและพายุไซโคลนกำลังแรงในที่สุด

พายุแมตโมจึงได้ชื่อใหม่เป็น พายุไซโคลนบุลบูล ตามการตั้งชื่อพายุหมุนโดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาคในนิวเดลี พายุลูกนี้มีกำลังความเร็วลมสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อให้เกิดคลื่นลมสูงกว่า 7 เมตร บริเวณทะเลอ่าวเบงกอล และมีทิศทางเคลื่อนตัวขึ้นทิศเหนือ ขนานไปกับชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย และเคลื่อนตัวเข้าใกล้นครโกลกาตา ในวันนี้ (9 พ.ย.)

ทางการอินเดียได้ประกาศแจ้งเตือนภัยจากพายุลูกนี้ หลายพื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุดินโคลนถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน อีกทั้งพายุลูกนี้อาจจะก่อเหตุให้ปรากฏการณ์สตอร์มเซิร์จขึ้นได้ด้วย

นักวิชาการระบุว่า พายุแมตโม หรือปัจจุบันคือ พายุบุลบูล นับเป็นพายุไซโคลนลูกที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ ที่ได้พัฒนาฟื้นคืนชีพจากพายุโซนร้อนลูกเดิม ข้ามผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก่อตัวเป็นพายุได้อีกครั้งในทะเลอันดามัน อีกทั้งยังเป็นพายุลูกที่ 2 ในรอบเกือบ 60 ปี ที่ข้ามฝั่งมาเป็นกลายพายุไซโคลนกำลังแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook