“Never Again” เมื่อสิ่งของเล่าเรื่องเมืองไทย

“Never Again” เมื่อสิ่งของเล่าเรื่องเมืองไทย

“Never Again” เมื่อสิ่งของเล่าเรื่องเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นิทรรศการ “Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดแสดงวัตถุพยานในคดีทางการเมืองและสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นงานศิลปะที่หยิบยกประเด็นทางการเมืองมานำเสนอ ซึ่งไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในสังคมไทยด้วยเงื่อนไขทางการเมืองบางอย่าง วันนี้ Sanook จึงขอพาทุกคนไปสำรวจงานนิทรรศการเล็ก ๆ นี้ เพื่อทำความเข้าใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่และตั้งคำถามกับมัน

หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน

คุณทวีพัฒน์ แพรเงิน คิวเรเตอร์ของงานนิทรรศการ “Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” เล่าว่า จุดมุ่งหมายของนิทรรศการในครั้งนี้ก็เพื่อหยุดยั้งการเกิดรัฐประหารและสร้างเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้เสนอแนวทางการล้างผลพวงรัฐประหารในมุมมองกฎหมาย พร้อมกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีความทางการเมืองอีกด้วย

คุณทวีพัฒน์ แพรเงิน คิวเรเตอร์ของงานนิทรรศการในครั้งนี้คุณทวีพัฒน์ แพรเงิน คิวเรเตอร์ของงานนิทรรศการในครั้งนี้

“มันก็ย้อนกลับไปที่ชื่อ ก็คือทำให้หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน เรามองว่าวงจรรัฐประหารมันวนลูปมาก และมันทำให้ชีวิตหรือสังคมประชาธิปไตยไม่เดินไปไหน เมื่อเกิดความขัดแย้งมันก็พร้อมที่จะกลับมา” คุณทวีพัฒน์กล่าว

ภายในงาน ผู้ชมจะได้พบกับสิ่งของและวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วง 5 ปีภายใต้อำนาจการปกครองของคณะรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (คสช.) โดยสิ่งของแต่ละชิ้นจะมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ความขัดแย้ง และเหตุการณ์การแสดงออกที่ต่อต้านขัดขืนอำนาจรัฐบาล ไปจนถึงคดีความที่นำไปสู่การดำเนินคดีและจับกุมคุมขัง เช่น กระเทียม พริกแห้ง ขันน้ำ ปฏิทิน และใบปลิว ซึ่งสิ่งของทั้งหมดนี้จะถูกนำมาจัดแสดงภายในงาน

“อย่างใบปลิว คดีเล็กน้อยอะไรแบบนี้แหละที่เป็นคดีที่เขาจับจริง ๆ แล้วก็จะมีจดหมายจากคุก ที่มันเป็นผลสะท้อนความสูญเสียของกระบวนการยุติธรรมในยุค คสช. อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เราอาจจะคุ้นเคยกับตัวหนังสือ งานวิจัย หรือในข่าว แต่ตัววัตถุจริง ๆ นั้น พอเราประจันหน้ากับมันไม่เกินหนึ่งเมตร มันก็ให้ความรู้สึกหรือให้อะไรบางอย่างที่ตัวหนังสือให้ไม่ได้เหมือนกัน แล้วมีข้อมูลในทางคดี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริง ว่าโดนกี่ปี ปรับเท่าไหร่ ขึ้นศาลที่ไหน และความยากลำบากในช่วงเวลานั้น ๆ ของแต่ละคน” คุณทวีพัฒน์อธิบาย

สิ่งของต้องการเล่าเรื่อง

คุณทวีพัฒน์เล่าว่า สิ่งของที่อยู่ในนิทรรศการได้มาจากการหยิบยืมจากคนรู้จัก นักสะสม และพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่เก็บรวบรวมสิ่งของตามม็อบหรือการรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยสามารถแบ่งสิ่งของที่เอามาแสดงได้เป็นสองส่วน คือ วัตถุพยานที่เกี่ยวกับคดีความและสิ่งของที่แสดงออกถึงการต่อต้าน

ในส่วนของวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับคดีความที่เกิดการฟ้องร้อง เช่น หอมกระเทียมหรือขันน้ำที่อาจเห็นได้ตามข่าวทั่วไป รวมไปถึงสิ่งของบางชิ้น เช่น จดหมาย ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากคดีความทางการเมืองด้วยเช่นกัน

“มันจะมีจดหมายจากคุก เป็นแม่ที่โดนคดี ถูกจำคุก แล้วก็ได้ลดโทษมาเหลือ 28 ปี เขามีลูกเล็ก เขาก็เขียนจดหมายเพื่อถามสารทุกข์สุกดิบแล้วก็วาดรูป ความจริงมีหลายฉบับเยอะมาก พอเราอ่านเราก็รู้สึกว่ามันสะท้านใจ มันเป็นความรักที่พยายามดำเนินอยู่ แต่การโดนคดีแล้วต้องติดคุก ก็เพราะโดนข้อหาว่าไม่รัก แล้วความรักมันมีลำดับชั้นเหรอ ซึ่งผิดไม่ผิด ก็ไปดูกันเอาเอง” คุณทวีพัฒน์ชี้ประเด็น

เสื้อยืดที่แสดงออกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคต่าง ๆเสื้อยืดที่แสดงออกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคต่าง ๆ

อีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการ คือการจัดแสดงสิ่งของที่แสดงออกถึงการต่อต้านขัดขืน หรือแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับรัฐในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากไผ่ ดาวดิน หรือเสื้อไข่แมว เป็นต้น โดย “เสื้อยืด” เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่น่าสนใจและถูกใช้เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านขัดขืนหรือเคลื่อนไหวในเรื่องต่าง ๆ ในหลายยุคหลายสมัย การจัดวางเสื้อยืดแบบทวนเข็มนาฬิกาสะท้อนให้เห็นประเด็นทางการเมืองของประเทศไทยที่มีความหลากหลายมากในช่วงก่อนรัฐประหาร ปี 2549 เช่น การรณรงค์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือเหตุการณ์โรงงานเคเดอร์ ในปี 2536 ที่นำไปสู่การเรียกร้องเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงาน เป็นต้น ก่อนที่ประเด็นเหล่านั้นจะค่อย ๆ เลือนหายไปและเหลือเพียงประเด็นเรื่องประชาธิปไตยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราวกับว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยกำลังย้อนเวลากลับไปสู่จุดเริ่มต้นในอดีต

“ถ้าดูดี ๆ เสื้อมันจะเรียงตามปีตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 ซึ่งเสื้อสมัยก่อนเป็นเสื้อที่มีความหลากหลายของประเด็นทางการเมือง แต่พอรัฐประหารสองครั้ง ประเด็นมันหดยู่ลง ก็คือตั้งแต่ 5 ปีของ คสช. จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลย ประเด็นเหลือแต่เรื่องประชาธิปไตย คือเราต้องมาเถียงกันอีกเหรอว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ดี หรือการเลือกตั้งต้องมาบอกว่ารอพร้อมหรือไม่พร้อม มันไม่ใช่ มันถอยหลังมาก”

นอกจากในส่วนเสื้อยืดแล้ว คุณทวีพัฒน์ยังเล่าถึงส่วน “ยุยงปลุกปั้น” ที่ต้องการสื่อถึงม่านหมอกความกลัวที่ปกคลุมสังคมในช่วงเวลาที่เสรีภาพของประชาชนถูกจำกัด โดยชี้ให้เห็นว่าตลอดช่วงรัฐประหาร ประชาชนถูกกล่อมเกลาว่าการออกไปชุมนุมหรือไปม็อบเป็นเรื่องของการสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม เศรษฐกิจ และชีวิต นั่นคือการบอกให้ประชาชนอยู่อย่างสงบและอย่าสร้างความวุ่นวาย ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้สร้างกฎเล็กกฎน้อยที่เข้ามาจัดการการชุมนุม ทำให้คนในสังคมมองว่าม็อบการเคลื่อนไหวของคนบนท้องถนนเป็นอาชญากรรม เป็นเรื่องที่เกะกะ และเป็นส่วนเกินในชีวิต

“การออกกฎหมายแบบนี้เป็นการเตะตัดขา หรือบั่นทอนสปิริตของการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยทางอ้อม ซึ่งส่งผลกระทบมาก เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่ามันยากลำบากที่จะต้องมาม็อบ หรือรู้สึกว่าน่ากลัว อันตราย และทำให้ต้นทุนในความรู้สึกหรือต้นทุนการมาร่วมมันสูง” คุณทวีพัฒน์แสดงความคิดเห็น

ไม่เพียงเท่านี้ คุณทวีพัฒน์ยังชี้ว่าความกลัวที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแต่เรื่องทางกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่สะท้อนให้เห็นความกลัวที่ครอบงำคนในสังคมอยู่ เช่น เมื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองลงในโซเชียลมีเดีย จะมีมุกตลก เช่น “กินอะไร” หรือ “มีรถทหารจอดอยู่หน้าบ้าน” เกิดขึ้นตามมา สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นตัวบ่งบอกว่ามันมีม่านหมอกความกลัวที่เคลือบการแสดงออกทางการเมืองและเหยียบผู้คนให้เกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ

SLAPP

ในขณะที่มีความพยายามสร้างเงื่อนไขการแสดงออกทางการเมืองให้ดูน่ากลัว และทำให้คนไม่กล้าลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผย คุณทวีพัฒน์ก็ยังเล่าถึงวัฒนธรรมทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้จัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน

เสื้อจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกทำร้ายร่างกายเสื้อจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกทำร้ายร่างกาย

“ทุกวันนี้มันกลายเป็นกลยุทธ์หรือวัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญที่จะเกิดการฟ้อง หรือเรียกว่า SLAPP หรือฟ้องระงับการเรียกร้อง การเคลื่อนไหว หรือหยุดกิจกรรม สมมุติว่าเราไปม็อบ เขาจะฟ้องร้องข้อหาอะไรก็ได้ไปก่อน เพื่อที่จะกันเราออกไป แล้วเขาจะมีคำพูดแบบ “ไปคุยกันที่โรงพัก” ถ้าเกิดเป็นแกนนำก็จะโดนข้อหาโน่นนี่ ทั้งที่มันอาจจะไม่ได้ผิด อาจจะไม่ต้องฟ้องเลยตั้งแต่ทีแรก แต่ด้วยกฎหมายที่มันแคบลงเรื่อย ๆ จึงเป็นการบังคับให้ต้องหยุดทุกอย่าง เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการก็ไม่มีทางเลือกเพราะนายสั่งมา” คุณทวีพัฒน์อธิบาย

สิ่งของชิ้นต่าง ๆ ที่ถูกนำมาจัดแสดงจะมีส่วนของข้อมูลเชิงลึกของข่าว และมี QR Code ติดอยู่ ซึ่งจะเป็นลิงก์ไปยังบทความเกี่ยวกับรายละเอียดของคดี คุณทวีพัฒน์เผยว่า เรื่องราวของคดีต่าง ๆ เหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าการจับกุมผู้ต้องหาคดีความเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องใช้ทรัพยากรของรัฐเยอะมาก และใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ แต่กลับมีการพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้น้อยมาก หรือไม่มีการพูดถึงเลย เนื่องจากข่าวสารที่มีอยู่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติหรือข่าวบันเทิงต่าง ๆ ก็ทำให้คนทั่วไปติดตามข่าวเหล่านี้ไม่ทัน แล้วก็ลืมไปหรือไม่จดจำแลย แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ถูกดำเนินคดียังต้องต่อสู้กับคดีและถูกบดขยี้ไปอย่างเงียบ ๆ และเลือนหายไป

“ความเจ็บปวด ความเจ็บช้ำ และต้นทุนต่าง ๆ ก็จะถูกเลือนหายไป นิทรรศการครั้งนี้จึงเก็บข้าวของที่เป็นเหมือนเครื่องบ่งบอกหรือวัตถุพยานให้คนได้หวนระลึกถึง และสืบค้นต่อว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในห้วง 5 ปีของ คสช. ที่ผ่าน ว่ามันแตกต่างหรือเหมือนกับทุกวันนี้หรือเปล่า หรือแย่กว่าหรือแตกต่างไหม ทำให้คนได้เห็นภาพนั้น” คุณทวีพัฒน์เล่า

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

เมื่อเรื่องราวและเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีถูกนำเสนอผ่านรูปแบบงานศิลปะ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าศิลปะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้อย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ คุณทวีพัฒน์ชี้ว่า พลังที่สำคัญของศิลปะอย่างหนึ่งก็คือ การเป็นพื้นที่การรวมกลุ่มของคนและเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อมีการส่งข้อความทางการเมืองผ่านศิลปะมากขึ้น ก็สร้างโอกาสให้คนได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่มากขึ้นตามไปด้วย และในฐานะผู้จัดงานครั้งนี้ คุณทวีพัฒน์ก็หวังว่านิทรรศการจะทำหน้าที่ชี้ให้คนทั่วไปได้เห็นว่ามีสภาวะเงื่อนไขบางอย่างที่กำลังลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองอยู่ เกิดแรงกระเพื่อมทางความคิดและร่วมกันปรับปรุงแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกัน ประชาชนก็สามารถบริหารสิทธิ์หรือแสดงออกทางการเมืองได้อย่างอิสระภายใต้กรอบของกฎหมาย

ส่วนหนึ่่งของสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการส่วนหนึ่่งของสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ

“จุดที่คนจะตระหนัก ตาสว่าง หรือสนใจทางการเมืองของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เราก็หวังว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอะไรบางอย่างให้กับบางคนได้ เพราะว่าบางที มันก็เป็นโชคเหมือนกันที่จะเกิดคำถามสำคัญต่อชีวิต ต่อโลกทัศน์ทางการเมือง ต่อประเทศชาติบ้านเมืองที่เราอยู่ ซึ่งบางคนก็ไม่เคยมี ไม่เข้าใจว่าโครงสร้างหรือปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนถูกผลิตและดำรงอยู่ได้อย่างไร แล้วโครงเรื่องหลักรองมันไม่ได้มีจุดแตกหักหรือแตกร้าวให้เขาได้ถอยมาตั้งคำถาม เราก็หวังว่านิทรรศการนี้จะทำให้คนได้เห็นสิ่งของ เห็นข้อมูล และได้สำรวจอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่าอย่างน้อย 5 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง” คุณทวีพัฒน์ปิดท้าย

ชมนิทรรศการ “Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” ได้ที่ WTF Gallery and Café ทองหล่อ 51 ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 16:00 – 22:00 น. ตั้งแต่วันนี้ ถึง 23 พฤศจิกายน 2562

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ “Never Again” เมื่อสิ่งของเล่าเรื่องเมืองไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook