เช้านี้ 15 เขต ยังเผชิญ PM2.5 กทม.เร่งแก้ปัญหา ผลักดันเป็น "เมืองปลอดฝุ่น"
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าในช่วงเวลา 07.00 น. ผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจวัดได้ 40-66 มคก./ลบ.ม. (ค่าเฉลี่ย 52 มคก./ลบ.ม.)
สำหรับพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีจำนวน 15 เขต คือ เขตปทุมวัน เขตสัมพันธวงศ์ เขตวังทองหลาง เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตคลองสาน เขตบางกอกน้อย เขตภาษีเจริญ เขตบางเขน เขตบางพลัด เขตบางขุนเทียน เขตสาทร เขตคลองเตย เขตบางซื่อ เขตหลักสี่
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการเพื่อผลักดันแนวทาง “เมืองปลอดฝุ่น” โดยบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และได้ยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดอย่างเข้มข้น พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้พร้อมใช้งาน และตรวจสภาพเครื่องยนต์ตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อไม่ปฏิบัติงานหรือจอดรถรอรับ-ส่ง ลดการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตดำเนินการจัดเก็บขนมูลฝอยในถนนสายหลักและถนนสายรองให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. ของทุกวัน เพื่อลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน และให้รถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครเข้ารับการตรวจวัดมลพิษทุก 6 เดือน กรณีพบมลพิษเกินมาตรฐานให้แก้ไขทันที อีกทั้งได้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ที่ได้รับเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือให้ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจายและโครงการก่อสร้างที่ไม่ได้จัดทำรายงาน EIA ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง เช่น กวดขันให้ผู้รับเหมาฉีดน้ำทำความสะอาดล้อรถบรรทุกหรือรถอื่นๆ ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง การล้างทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกวัน เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมทั้งการควบคุมฝุ่นละอองจากกิจกรรมการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดฝุ่น กรุงเทพมหานครได้ผลักดันการปรับปรุงมาตรฐานการระบายไอเสียรถยนต์และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ/เพิ่มทางเลือกการเดินทางแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพหานคร จากปัจจุบัน 6.9 ตร.ม./คน ให้เป็น 10 ตร.ม./คน ในปี 2573 โดยได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองด้วย นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้พิจารณามาตรการทางผังเมืองเพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ โดยวางผังเมืองด้วยแนวคิดเมืองกระชับ เพื่อให้มีที่อยู่ใกล้แหล่งงาน ลดระยะการเดินทาง ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางด้วยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้พลังงาน และลดมลพิษ