กระทรวงศึกษาฯ ประกาศผลักดัน 2,000 โรงเรียนเริ่มสอนแบบ "สองภาษา" ในปีหน้า

กระทรวงศึกษาฯ ประกาศผลักดัน 2,000 โรงเรียนเริ่มสอนแบบ "สองภาษา" ในปีหน้า

กระทรวงศึกษาฯ ประกาศผลักดัน 2,000 โรงเรียนเริ่มสอนแบบ "สองภาษา" ในปีหน้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“รมว.ศธ.” ระบุปี 2563 นำร่องโรงเรียนสองภาษากว่า 2,000 โรงเรียน เริ่มตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ส่วนปีการศึกษา 2564 เตรียมงบฯ รองรับหนุนโครงการนี้ต่อเนื่องแล้ว เป้าหมายเพื่อวางรากฐานทักษะภาษาเด็กไทยให้ดีขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว หลังนานาชาติ-ไอเอ็มเอฟ มั่นใจไทยมีศักยภาพ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 โดยหลายประเทศได้พูดถึงประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้มีการพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย

ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่พูดถึงปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น เรื่องการจัดการศึกษาที่ยังต้องปรับปรุง เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังดำเนินการพัฒนาเรื่องดังกล่าวอยู่

“ทั้งนี้ ศธ.หวังว่าการวางรากฐานด้านการศึกษาในเรื่องต่างๆ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้ เพราะในอนาคตประเทศจะต้องเตรียมตัวเรื่องการลงทุนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดประเทศ ดังนั้นคนของเราก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งทักษะอาชีพ และทักษะด้านภาษา” รมว.ศธ. กล่าว

​นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาทักษะด้านภาษานั้น ตนตั้งใจว่าในระยะสั้น โรงเรียนประจำอำเภอจะต้องสอน 2 ภาษา ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ แต่อาจจะยังขาดความเข้มข้น ไม่สามารถเห็นผลเชิงประจักษ์ได้

“หากมีการจัดสรรงบประมาณลงทุนไปในส่วนของการสอนภาษาที่ 2 มากขึ้น จะส่งผลให้การวางฐานเรื่องทักษะภาษาของเราดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณของกระทรวงศึกษาฯ ที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ผมจะพยายามที่จะขับเคลื่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” รมว.ศธ. ระบุ

อย่างไรก็ตาม รมว.ศธ. ย้ำว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะเริ่มที่กลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอ ประมาณ 2,000 แห่ง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ก่อน ซึ่งจะจัดการเรียนการสอน 2 ภาษา ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยเป็นต้นไป ส่วนการดำเนินงานในปีการศึกษา 2564 ได้เตรียมงบฯ เพื่อรองรับเรื่องนี้แล้ว

ส่วนของอาชีวศึกษา ก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะภาษาควบคู่กันไป ซึ่งเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะสรุปข้อมูลการจัดกลุ่มวิทยาลัยให้เข้ากับกลุ่มธุรกิจต่างๆ มาให้ตนเองดู เพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่มีคุณภาพในแต่ละสายงานเป็นหลัก ส่วนการจัดวิทยาลัยจะมองถึงบริบทในพื้นที่ด้วย เพราะต้องมีสถานที่ฝึกงานที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการใช้งบฯ ที่ตรงกับความต้องการ และยังสามารถผลิตแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ

จากข้อมูลดัชนีความสามารถภาษาอังกฤษคนไทยร่วงต่อเนื่อง 3 ปี โดยอยู่ในระดับต่ำมาก (Very Low Proficiency) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก แม้ดีกว่ากัมพูชา และเมียนมา แต่ด้อยกว่า มาเลเซีย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

หากเทียบเป็นรายภาคของประเทศไทย ภาคเหนือ และภาคกลาง จะมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เล็กน้อย ขณะที่กรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญทักษะภาษาอังกฤษมากที่สุดของประเทศ รองลงมาคือ นนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี และขอนแก่น ตามลำดับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook