"สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส" พระราชทานพระดำรัส ชื่นชมไทยยอมรับความแตกต่างทุกชาติพันธุ์

"สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส" พระราชทานพระดำรัส ชื่นชมไทยยอมรับความแตกต่างทุกชาติพันธุ์

"สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส" พระราชทานพระดำรัส ชื่นชมไทยยอมรับความแตกต่างทุกชาติพันธุ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระราชทานพระดำรัสครั้งแรกในการเยือนประเทศไทย ชื่นชมการยอมรับถึงความสำคัญในการสร้างความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยแสดงความเคารพและยกย่องต่อวัฒนธรรม ศาสนา และความคิดเห็นที่แตกต่าง

(21 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (His Holiness Pope Francis) ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยโอกาสนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระราชทานสุนทรพจน์พระดำรัส ความว่า

"ขอบคุณที่ดำเนินการอำนวยความสะดวกเพื่อให้ข้าพเจ้าได้มาเยือนผืนแผ่นดินไทย อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และยังเป็นประเทศที่ยังคงรักษามรดกทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม อันได้แก่ วัฒนธรรมการให้การต้อนรับ ซึ่งได้ปรารถนาที่จะเป็นพยานยืนยันถึงสิ่งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างประเทศและประชาชนทั่วโลก และรู้สึกยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสพบปะผู้ปกครองบริหารประเทศ ผู้นำทางศาสนา และสังคม ผ่านทางท่านทั้งหลายนี้ จึงขออำนวยพรไปยังบรรดาปวงชนชาวไทยทุกคน

ซึ่งในบ่ายวันนี้ ข้าพเจ้าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเชิญให้ข้าพเจ้ามาเยือนราชอาณาจักรไทย

ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งถึงความปรารถนาดีของข้าพเจ้า ที่มีต่อราชอาณาจักร และต่อรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสพบปะท่าน ผู้ซึ่งเป็นผู้ปกครองบริหารประเทศ ผู้นำทางศาสนา และสังคม ผ่านทางท่านทั้งหลายนี้ ข้าพเจ้าขออำนวยพรไปยังบรรดาปวงชนชาวไทย ขอแสดงความเคารพนับถือ ต่อบรรดาทูตานุทูตทุกท่าน

พร้อมขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศได้ผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นก้าวสำคัญในการกลับมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราทั้งหลายทราบดีแล้วว่า ปัญหาของโลกในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อทุกส่วนของโลก เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวมนุษยชาติ และเรียกร้องให้มีความตั้งใจจริง ในการที่จะทำให้เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างประชาชนทุกหมู่เหล่า

ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งในการที่ประเทศไทยกำลังจะหมดวาระของการเป็นประธานของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจ ในการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ และยังเป็นหนทางในการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประเทศที่ยอมรับถึงความสำคัญในการสร้างความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยแสดงความเคารพและยกย่องต่อวัฒนธรรม ศาสนา และความคิดเห็นที่แตกต่าง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเป็นยุคของโลกาภิวัฒน์ ซึ่งบ่อยครั้งให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการเงิน โดยมองข้ามมิติด้านจิตวิญญาณและความสวยงามในประชาชนของเรา ในทางกลับกัน ประสบการณ์ในการให้ความเคารพและยอมรับความแตกต่าง ผู้มีความปรารถนาที่จะสร้างโลกที่แตกต่าง เพื่อมอบให้กับชนรุ่นต่อไป

ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งศูนย์จริยธรรมและสังคม ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากศาสนาต่างๆ ในประเทศเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเขาเหล่านี้ ในการที่จะรักษาความทรงจำทางจิตวิญญาณอันมีชีวิตของประชาชน ในแง่มุมมองนี้

ข้าพเจ้าจะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อแสดงถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการสร้างมิตรภาพ และการเสวนาระหว่างศาสนา อันจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสังคม และการเสริมสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม รู้จักรับฟัง และไม่มีการแบ่งแยก

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ชาวคาทอลิกแม้ว่าเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ในประเทศ จะพยายามอย่างเต็มความสามารถ ในการที่จะสนับสนุนอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งปรากฏในเพลงชาติของท่าน “รักสามัคคี…รักสงบ…ไม่ขลาด…”

และพวกเขาเหล่านี้ มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่ไม่ปฏิเสธ หรือบ่ายเบี่ยงเสียงเรียกร้องของพี่น้องชายหญิง ที่ปรารถนาจะหลุดพ้นจากความเป็นทาสของความยากจน ความรุนแรง และความอยุติธรรม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินไทย คือแผ่นดินแห่งอิสรภาพ

เราทราบกันดีแล้วว่า อิสรภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถที่จะเติมเต็มความรับผิดชอบที่เรามีต่อกันและกัน เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคน ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อาชีพการงาน และความช่วยเหลือด้านสุขภาพ เพื่อที่จะได้สามารถบรรลุถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์และยั่งยืน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวสั้นๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของผู้ย้ายถิ่น ซึ่งปรากฏในปัจจุบัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่อยู่ที่สถานการณ์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาด้านจริยธรรมที่สำคัญยิ่งในยุคสมัยของเรา เราไม่สามารถปฏิเสธวิกฤติการณ์ปัญหาผู้อพยพ วิกฤติการณ์นี้ไม่สามารถมองข้ามได้

ประเทศไทยเองเคยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงว่า เป็นประเทศที่ต้อนรับผู้อพยพ โดยเฉพาะบรรดาผู้ต้องหลบหนีอย่างน่าเศร้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ประชาคมระหว่างประเทศ ดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้ประชาชนต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย มีการจัดการ และมีการควบคุม

ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่า ทุกประเทศจะตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องสิทธิ และศักดิ์ศรีของบรรดาผู้ย้ายถิ่นและผู้อพยพ ผู้ซึ้งต้องเผชิญภยันตราย ความไม่แน่นอน และการถูกเอารัดเอาเปรียบในการที่เขาแสวงหาเสรีภาพ และชีวิตที่มีศักดิ์ศรีสำหรับครอบครัวของตน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้อพยพ หากแต่ยังสะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมเราทุกคนด้วย

เรื่องนี้ข้าพเจ้านึกถึงบรรดาสตรี และเด็กในยุคของเราที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาสในหลากหลายรูปแบบ

ข้าพเจ้าขอชื่นชมรัฐบาลไทย รวมทั้งบุคคลและองค์กรที่ได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อแก้ไขปัญหาอันน่าเศร้าใจ และเปิดหนทางแห่งการดำเนินชีวิตที่มีศักดิ์ศรีแก่บุคคลเหล่านี้ ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 30 ปีของ "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับเราในการที่จะไตร่ตรอง และดำเนินการด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ความพากเพียรพยายาม และความเร่งด่วน เพื่อปกป้องชีวิต พัฒนาการด้านสังคม สติปัญญา โอกาสทางการศึกษา รวมทั้งการเติบโตทางด้านกายภาพ จิตใจ และจิตวิญญาณของบรรดาเยาวชน

อนาคตของประชากรเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราจะสามารถรับประกันต่อเยาวชนของเรา ถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในอนาคต

ปัจจุบันนี้สิ่งที่สังคมของเราต้องการมากกว่ายุคสมัยใดๆ คือ ผู้ส่งเสริมให้เกิด "ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่" ชายและหญิงที่มีความตั้งใจจริงในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการสำหรับประชากรในครอบครัวมนุษยชาติ ที่จะดำเนินชีวิตในความยุติธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความสมัครสมานสามัคคีฉันพี่น้อง

ท่านทั้งหลายต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนในการที่จะพยายามให้ผลประโยชน์ร่วมกัน ไปทั่วถึงทุกหนแห่งของประเทศนี่คือหนึ่งในภารกิจอันประเสริฐที่บุคคลๆ หนึ่งสามารถทำได้ ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ทุกท่านปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายของตนให้สำเร็จ และข้าพเจ้าวอนขอพระพรอันไพบูลย์จากพระเจ้า สำหรับประเทศ บรรดาผู้นำ และประชาชนชาวไทยทั้งมวล

ข้าพเจ้าภาวนาวิงวอนขอให้พระเจ้าทรงนำท่านและครอบครัวของท่านในหนทางแห่งปัญญา ความยุติธรรม และสันติสุข"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook