ย่านรัชดา นำร่องผนึกกำลังลดโลกร้อน ผ่านโครงการ “Care the Whale ขยะล่องหน”
14 องค์กรย่านรัชดา ร่วมกับ 12 ธุรกิจเพื่อสังคม และบริษัทพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างปรากฏการณ์คนเมืองรูปแบบใหม่ ลดภาวะโลกร้อน ด้วยแนวคิด กำจัดคำว่า “ขยะ” ให้หายไป ร่วมหาทางใช้.. ให้ถึงที่สุด ผ่านโครงการ “Care the Whale ขยะล่องหน” ขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนรัชดาเป็นพื้นที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากต้นทาง โดยเริ่มตั้งแต่วิธีคิดและพฤติกรรม ไม่ทำให้เกิดของเหลือใช้ ของเหลือทิ้ง สร้างไลฟ์สไตล์ใหม่คนไทย ที่จะไม่มีอะไรกลายเป็นขยะ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ บ้านเลขที่ 93 ถนนรัชดาภิเษก ร่วมกับบริษัท ศูนย์การค้า ที่พักอาศัย ย่านรัชดา และธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) สร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ Care the Whale: Climate Action Collaboration @Ratchada District ปฏิรูปกระบวนการจัดการขยะด้วยแนวคิด “ขยะล่องหน” โดยเริ่มต้นที่ “ตัวเรา” ทุกคน ร่วมรณรงค์คิดใหม่ให้ไม่มีคำว่า “ขยะ” อยู่ในไลฟสไตล์ สร้างวิธีคิด และพฤติกรรมที่คำนึงถึงส่วนรวม เพื่อให้ชุมชนรัชดาเป็นพื้นที่ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมสมดุล และเชื่อมต่อการแปรรูปของเหลือใช้ให้ไปสู่ของใช้ใหม่ ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
“ความร่วมมือที่เริ่มต้นจากการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในย่านรัชดาภิเษก นำร่องโดย 14 องค์กร บนพื้นที่ร่วม 600,000 ตารางเมตร มีพนักงานจาก 14 องค์กรที่อยู่ในพื้นที่กว่า 30,000 คน ร่วมสร้างย่านน่าอยู่ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทำให้ขยะล่องหน การจัดการของเสียอย่างไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คนในย่านจะเป็นต้นแบบ เป็นพลังหลักในการขยายแนวคิดนี้ไปยังผู้มาเยือนย่านรัชดา ซึ่งในแต่ละเดือนมีมากถึง 1.3 ล้านคน โดยมีวาฬ (Whale) เป็นตัวแทนของระบบนิเวศน์ที่รอให้มนุษย์เข้ามาแก้ไขและสร้างความสมดุล ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ “Care the Whale ขยะล่องหน” ได้มีการสร้างเครื่องมือกลาง Care the Whale Calculator ช่วยในการคำนวณ-ทบทวน-ประมวล ผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดขยะต้นทาง เพื่อให้มองเห็นผลลัพธ์ ที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ในการออกแบบแผนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ ลดการใช้ ลดการเกิดขยะ ทั้งนี้ สำหรับการนำขยะไปแปรรูปหรือนำมาใช้ใหม่ และการกำจัดขยะ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรนอกย่าน ที่มีศักยภาพในการแปรรูปและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การต่อยอด การเป็นย่านน่าอยู่ครบทุกมิติในอนาคต ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งด้านความรู้ทางการเงิน และการท่องเที่ยวในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน” นายภากรกล่าว
ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ "Care the Whale ขยะล่องหน" ประกอบด้วย 14 อาคารบนถนนรัชดาภิเษก และพันธมิตร 30 องค์กร เช่น ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม สำนักงาน ที่จะต้องระบุแนวทางในการลดขยะ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน อาทิ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก บริการอาหารแต่พอดี คัดแยกขยะ หมุนเวียนพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้
14 องค์กรบนถนนรัชดาภิเษก
- Care the Whale เลขที่ 1: แกรนด์เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ฟอร์จูน
- Care the Whale เลขที่ 3, 5, 7: ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)
- Care the Whale เลขที่ 9/9: เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 โดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
- Care the Whale เลขที่ 18: บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- Care the Whale เลขที่ 62: IDEO Ratchada-Huay Kwang
- Care the Whale เลขที่ 75, 77, 79: Emerald Residence
- Care the Whale เลขที่ 89: อาคาร เอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์
- Care the Whale เลขที่ 90: อาคาร ซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์
- Care the Whale เลขที่ 93: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- Care the Whale เลขที่ 123: บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
- Care the Whale เลขที่ 139: บริษัท เดอะ สตรีท รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
- Care the Whale เลขที่ 161: บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย
- Care the Whale เลขที่ 250: บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
- Care the Whale เลขที่ 294: บริษัท ร้อกเวิธ จำกัด (มหาชน)
12 ธุรกิจเพื่อสังคม Impact Generation
- บริษัท กรีน สไตล์ จำกัด
- GreenHerit
- บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด
- SEP ACADEMY
- Secret Sauce q
- บริษัท ธุรกิจเพื่อพัฒนาการศึกษาและชนบท จำกัด (BREAD)
- TEDxCharoenkrung
- บริษัท ไฟเบอร์ อินโนโวเทค จำกัด
- บริษัท อะกีกคัลเจอร์ จำกัด (Ageekculture)
- บริษัท โวลันทิสต์ จำกัด (Volunteer English)
- บริษัท คิด คิด จำกัด
- บริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
5 องค์กรพันธมิตร
- บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด
- บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน)
- โครงการรีไซเคิลถุงพลาสติก (วน)
- สถาบันคลังสมองของชาติ
ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ภาคเอกชน ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะไปพร้อมกับรัฐบาล ซึ่งประเด็นสำคัญในเวลานี้ คือ มาตรการส่งเสริมทางภาษี เพื่อให้กำลังใจผู้ผลิตที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังไปพิจารณาระเบียบ ศึกษาจากตัวอย่างที่มีการสนับสนุนในด้านพลังงานทดแทน ซึ่งบริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมก็ควรจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวภายในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติที่มีอยู่ทั่วประเทศ นำขยะที่เกิดจากการบริโภคของตนเองกลับออกมาเพื่อนำมาขายให้กับองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งจะนำไปดำเนินการต่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน