“พวกผมไม่ใช่ฮีโร่” จากเยาวชนที่ต้องโทษสู่อาสาสมัครล้างบ้านที่ จ.อุบลราชธานี

“พวกผมไม่ใช่ฮีโร่” จากเยาวชนที่ต้องโทษสู่อาสาสมัครล้างบ้านที่ จ.อุบลราชธานี

“พวกผมไม่ใช่ฮีโร่” จากเยาวชนที่ต้องโทษสู่อาสาสมัครล้างบ้านที่ จ.อุบลราชธานี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นอีกเหตุการณ์ที่พิสูจน์น้ำใจคนไทย โดยหลังจากที่แฮชแท็ก #Saveubon พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาสาสมัครจากหลายหน่วยงานก็พากันลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย อาสาสมัครและการช่วยเหลือต่างๆ ก็ลดจำนวนลง คงเหลือไว้แต่ความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สิน ที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเผชิญ

การจะฟื้นตัวขึ้นมาจากกองซากปรักหักพังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนพูดว่า “ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อน” บางบ้านมีเพียงคนแก่และผู้ป่วยติดเตียง ไร้กำลังที่จะฟื้นฟูบ้านเรือนของตัวเอง และบางคนสูญเสียบ้านไปกับกระแสน้ำ แม้การช่วยเหลือในรูปของเงินบริจาคจะมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประสบภัยเหล่านี้ต้องการ คือ “กำลังใจ” ที่ช่วยให้พวกเขาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง

เรื่องราวที่ sanook.com จะเล่าให้คุณฟังต่อไปนี้ เป็นเรื่องของอาสาสมัครล้างบ้านหลังน้ำท่วม ซึ่งมาจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก สถานที่ควบคุมตัวเยาวชนที่กระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ เด็กหนุ่มที่มีเบื้องหลังมืดมนเหล่านี้สามารถจุดไฟแห่งความหวังให้แก่ผู้ประสบภัย และเติบโตขึ้นจากประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครได้อย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

คุณทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกคุณทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

เปิดด้านสว่างด้วยงานอาสาสมัคร

แนวคิดที่ว่าไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร และการกระทำความผิดของคนคนหนึ่งมีปัจจัยร่วมหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ตัวปัจเจกเพียงอย่างเดียว เป็นแนวคิดหลักของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “บ้านกาญฯ” ที่นำไปสู่แนวทางการ “ซ่อมแซม” เยาวชนที่เคยกระทำความผิด เปลี่ยนทัศนคติให้สามารถก้าวผ่านด้านมืดในจิตใจ และกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมเมื่อพ้นโทษ ซึ่งแนวทางการซ่อมแซมนี้ นอกจากจะทำผ่านกฎระเบียบที่ผ่อนคลาย แตกต่างจากสถานพินิจทั่วไปแล้ว ยังทำผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น ตั้งแต่การกอด การรับขวัญ ไปจนถึงการวิเคราะห์ภาพยนตร์ ข่าวสารและเรื่องราวความเป็นไปต่างๆ ในสังคม และกิจกรรมอาสาสมัครก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการซ่อมและสร้างคนใหม่

“ทุกครั้งที่มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นในประเทศ ตรงนั้นจะเป็นที่รวมของคนที่อยากดูแลคนอื่นโดยธรรมชาติ ซึ่งสำหรับเรา เรารู้สึกว่าพื้นที่แบบนี้ เด็กๆ ต้องได้เห็น ได้สัมผัส ได้เป็นส่วนหนึ่งด้วยตัวเอง เราคงไม่สามารถที่จะทำให้เกิดเหตุอะไรที่ไม่ดีในประเทศไทย แต่ถ้าทุกอย่างมันเกิดขึ้นแล้ว เรามีเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่มีความเว้าแหว่งในเรื่องความทรงจำ ในเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่เขาอาจจะถูกหลงลืม เราก็เอาโศกนาฏกรรมนี้มาเสริมพลังให้เขา หน้าที่ของเราก็คือต้องลงทุนเพิ่ม เพราะว่าการไปแต่ละที่ก็มีค่าใช้จ่ายที่เยอะมาก แต่ป้าเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อกอบกู้เขากลับคืนมาคุณทิชา ณ นคร หรือ “ป้ามล” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกกล่าวถึงความสำคัญของงานอาสาสมัครในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

บ้านกาญจนาภิเษกส่งเยาวชนไปเป็นอาสาสมัครครั้งแรกในเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ.2547 โดยตั้งเต็นท์ “มั่วสุมทางปัญญา” ที่หลัง อบต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อเป็นพื้นที่ให้วัยรุ่นในพื้นที่ประสบภัยมาผ่อนคลาย พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และครั้งที่สองคือเหตุการณ์โคลนถล่มที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เมื่อ พ.ศ.2549 โดยร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา เข้าไปขุดโคลนและทำความสะอาดบ้านเรือนของผู้ประสบภัย และเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี รุ่นพี่จากบ้านกาญจนาภิเษก ที่เคยไปทำงานอาสาสมัครที่ อ.ลับแล ก็ได้แนะนำให้ป้ามลพารุ่นน้องไปลงพื้นที่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสัมผัสประสบการณ์เช่นเดียวกับเขา บ้านกาญจนาภิเษกจึงได้ผนึกกำลังกับมูลนิธิกระจกเงาอีกครั้ง และปฏิบัติการล้างบ้านหลังน้ำท่วมก็เริ่มขึ้น โดยมีเยาวชนเดินทางไปรอบแรก จำนวน 18 คน ตามด้วยรอบที่สองและสามในภายหลัง

ราม วิน ทัด วีร์ และบีท เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกและอาสาสมัครล้างบ้านที่ จ.อุบลราชธานีราม วิน ทัด วีร์ และบีท เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกและอาสาสมัครล้างบ้านที่ จ.อุบลราชธานี

ลงพื้นที่หลังสงคราม

“ชาวบ้านถ่ายรูปมาให้ดู ผมก็ โอ้โห! ขนาดนี้เลย ผมก็ไม่ได้คาดคิด คิดว่าจะมาช่วย แต่ไม่คิดว่าจะท่วมเยอะขนาดนี้ ไม่คิดว่าผู้ประสบภัยจะเยอะขนาดนี้ มันไม่ใช่แค่ 2 – 3 หลัง เป็นร้อยๆ หลัง และไม่ใช่แค่อำเภอเดียว อำเภอข้างเคียงติดกันเยอะแยะไปหมด พวกผมไปก็ไม่คิดว่าจะช่วยได้ทั้งหมดหรอก ก็ไปช่วยเท่าที่พวกผมจะทำได้” ทัด หนึ่งในเยาวชนที่เดินทางไปรอบแรกเล่าถึงบรรยากาศเมื่อไปถึงพื้นที่วันแรก ซึ่งเพื่อนๆ ก็ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่าเหมือนอยู่ในภาวะสงคราม เพราะทุกสิ่งจะลอยมาตามน้ำ แต่เมื่อน้ำลด สิ่งของเหล่านั้นกลับไม่ได้หายไปกับน้ำด้วย

“ตอนที่ไปก็ช็อกครับ เหมือนเจอสงคราม ไม่มีคนอยู่ มีแต่ดินแดง ผักตบชวาขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน อยู่บนระเบียงก็มี มีตู้จากข้างบ้านห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ไปอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่ง เจ้าของก็ขับรถมาเอา” บีท อาสาสมัครอีกคนหนึ่งเสริม

“ของที่อยู่บนหลังคาก็เอาลงมาไม่ได้ ตอนน้ำขึ้นเอาขึ้นได้ เพราะน้ำท่วมเราเอาใส่เรือขึ้นไปไว้บนหลังคาได้ แต่พอน้ำลดก็ยังเอาลงมาไม่ได้ เพราะยังลดไม่หมด บางบ้านมีตายาย แต่ที่หนักกว่านั้นคือผู้ป่วยติดเตียง คือบางคนเข้าบ้านไม่ได้ บางคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ สภาพแวดล้อม พวกสิ่งสกปรก อันตราย งู พวกผมไปก็ไปเจอทุกอย่าง” ทัดเล่าต่อ

มูลนิธิกระจกเงา 

ราม อาสาสมัครอีกคนหนึ่งเล่าว่า ทุกวันจะมีอาสาสมัครของมูลนิธิกระจกเงาทำหน้าที่ขับรถสำรวจพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ และจะนำมารายงานให้ทีมงานทราบในการประชุมถอดบทเรียนช่วงเย็น เพื่อวางแผนการทำงานในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังจัดเตรียมอุปกรณ์ในการทำงานและรักษาความปลอดภัย เรียกว่าเด็กบ้านกาญนั้นเตรียมไปแต่พละกำลังอย่างเดียว

“ก่อนจะไปเราแบ่งทีมกันอยู่แล้ว พอไปถึงหน้างาน คนที่เตรียมน้ำ ยกของก็ไป ทีมนี้ทำหน้าที่ขัด ทีมนี้ล้าง” วิน เยาวชนอีกคนหนึ่งกล่าวเสริม

“ตอนแรกผมกะว่าจะไปเพื่อสนุก แต่พอไปถึงหน้างานจริงๆ มันสนุกไม่ออกครับ มันจริงจังไปหมดทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะมานั่งกินข้าวผมก็คิดว่าต้องทำให้เสร็จ ถ้ากลับไปนอนผมก็เล่นบ้าง แต่พอไปหน้างานจริงผมก็ไม่เล่น ผมคิดว่าผมต้องทำ ผมมาเพื่อช่วยเขา ไม่ได้มาเพื่อรูป ไม่ได้มาเพื่อเล่นสนุกไปวันๆ” ทัดเล่าความรู้สึกเมื่ออยู่หน้างาน

เมื่อถามถึงความประทับใจจากการทำงานอาสาสมัครครั้งนี้ วินเล่าถึงการทำความสะอาดบ้านของ “ลุงศักดา” ชายสติไม่สมประกอบที่มีอาชีพเก็บของเก่าขาย ซึ่งเป็นงานที่อยู่นอกแผนการ แต่ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย

“หน้างานจะมีอยู่แล้วคือบ้าน 2 หลัง วันนั้นไปวันแรก ร่างกายเราพร้อม หลังแรกแป๊บเดียวเสร็จ หลังที่สองก็แป๊บเดียวเสร็จ แล้วเวลามันเหลือ ก็เลยจะไปหลังที่สาม ที่ทางมูลนิธิไม่ได้แจ้งไว้ แต่มันอยู่หน้าปากซอยพอดี เป็นบ้านคนเก็บของเก่าขายกับซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แล้วเขาสติไม่ค่อยดี เป็นคนแก่ ป่วย บ้านเขาถูกน้ำซัดพังหมดเลย เขาก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เพราะว่าเขาอยู่คนเดียว พอไปถึงพวกผมก็ใส่เลย ประมาณ 2 ชั่วโมงก็เสร็จ เขาก็งง จนเก็บของเสร็จแล้วเขาก็ยังงงว่าทำไมบ้านเขาเป็นแบบนี้ เขาถามว่าพวกผมเป็นใคร” วินเล่า

รามและวินกล่าวว่า ลุงศักดาชมว่าพวกเขาไม่เหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ ที่ลุงเคยเจอ เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ลุงเคยพบ มักจะเข้ามาขโมยของในบ้านของลุง สุดท้ายลุงก็เข้าใจว่าเด็กบางคนก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น และคอยถามอยู่ตลอดว่าเด็กกลุ่มนี้มาจากไหน แม้สุดท้ายจะจำพวกเขาไม่ได้ก็ตาม

“แต่จนบัดนี้เขาก็ยังไม่รู้นะว่าพวกผมมาจากไหน” บีทสรุปพร้อมรอยยิ้ม

 

นอกจากการล้างทำความสะอาดบ้านเรือนแล้ว ภารกิจที่ตามมาโดยไม่คาดฝันคือการสร้างบ้านหลังใหม่ให้ผู้ประสบภัย ซึ่งเด็กหนุ่มจากบ้านกาญจนาภิเษก 5 คน ก็ได้โชว์ฝีมือสร้างบ้านในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งรามเล่าว่า

“แผนของบ้านกาญฯ คือไปวันจันทร์แล้วกลับวันเสาร์ช่วงเช้า แต่เนื่องจากหน้างานมันไม่มีอะไรแน่นอนอยู่แล้ว อย่างบ้านที่ผมไปสร้าง ตอนแรกมันเป็นกระต๊อบที่คนแก่อยู่ เราเห็นสภาพคุณตาที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ร่างกายไม่แข็งแรง ในบ้านที่เป็นไม้ แล้วไม้โดนน้ำเป็นเชื้อรา และอยู่มาหลายปี ความแข็งแรงมั่นคงของบ้านก็ไม่มี พวกผมก็ตั้งใจทำงานให้เสร็จภายในวันเสาร์ ตามแผนที่คุยกันไว้”

“ผมก็เลยไปขอเลื่อนกลับไปอีกวัน ให้พวกผมได้ปิดจ็อบงานนี้ สุดท้ายก็ได้กลับวันอาทิตย์ ทำงานเสร็จ ลุงก็ยกนิ้วให้ วันที่เสร็จแล้วช่วงเช้ากำลังจะกลับไปถ่ายรูปกัน เขาก็กำลังจะไปดูบ้านใหม่ ที่ผมดีใจก็คือว่า เขารู้ว่าบ้านเสร็จแล้ว เขาก็เตรียมพวกปลั๊กไฟที่จะเข้ามาอยู่บ้าน ผมถามว่าลุงจะไปไหน เขาบอกว่าจะไปดูบ้าน เขาจะไปอยู่บ้านแล้ว พวกผมโคตรประทับใจ เพิ่งทำให้เขาแค่วันเดียว เขาก็จะลงมาอยู่แล้ว” ทัดเสริม

ด้านรามและบีทก็มองว่าการสร้างบ้านครั้งนี้ สิ่งที่ได้มาไม่ใช่แค่ตัวบ้านอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความทรงจำดีๆ ที่มีต่อเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกด้วย

“บ้านที่เราสร้างเขารู้ว่าเรามาจากไหน ความแข็งแรงมันอยู่ต่อได้อีกหลายปี สมมติมีลูกมีหลานหรือว่าใครมา เขาก็โม้ได้ว่ามีเด็กบ้านกาญกับมูลนิธิกระจกเงามาช่วย อย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่ดี มีคนพูดถึงเราในทางที่ดี ไม่ใช่พูดถึงว่าเด็กพวกนี้ทำไม่ดีมา มันเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง” รามกล่าว

มูลนิธิกระจกเงา

“เด็กบ้านกาญฯ” ในสายตาผู้ใหญ่

นอกจากจะเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ทำประโยชน์แล้ว พื้นที่ประสบภัยแห่งนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้ได้เผยด้านดีของตัวเอง โดยที่ไม่มีการตัดสิน ชาวบ้านบางคนไม่รู้ที่มาของพวกเขา และไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อ

“พอเปิดหมวกมาเห็นว่าเป็นเด็กเขาก็ตกใจแล้ว รู้ว่ามีคดีก็ยิ่งตกใจเข้าไปอีก มองบ้านตัวเองอยู่ดีๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร แล้วก็มีเด็กพวกนี้เข้ามา แล้วยังเป็นเด็กแบบนี้อีก มันเหมือนปาฏิหาริย์อะไรสักอย่าง ถ้าเราเป็นเขา อยู่ดีๆ มีคนพยุงเขาขึ้นมา แล้วไอ้คนที่พยุงเรามันเป็นแบบนี้อีก แต่เขาไม่ได้ตัดสินพวกผม เขารู้จักตัวตนผมก่อนที่จะรู้เรื่องราวของผมไง ก็เลยยอมรับในตัวตนของผม ก็เลยไม่ได้สนใจว่าผมไปทำอะไรผิดมา” บีทเล่า

“แล้วแต่ละคนก็คดีไม่ธรรมดา เขาก็ไม่คิดว่าเราจะเปลี่ยนได้ ผมก็คิดว่าถึงแม้ตัวผมจะเคยทำไม่ดีมา แต่พวกผมก็อยากทำสิ่งดีๆ ให้สังคมบ้าง พิสูจน์ให้เขารู้ว่า ถึงแม้จะเคยเป็นคนไม่ดี ถึงแม้ว่าจะเคยก้าวพลาด แต่พวกผมก็สามารถทำเพื่อประโยชน์ของสังคมได้เหมือนกัน” รามเสริม

ด้านผู้นำโครงการอย่างคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ก็ได้ร่วมสังเกตความเป็นไปของเด็กๆ และพบว่าการทำงานของเด็กกลุ่มนี้น่าประทับใจมากทีเดียว

“สิ่งที่น้องไปทำก็คือการล้างบ้าน ใช้แรงงาน จุดแข็งของเขาอยู่ที่เขาทำงานทุ่มเทมาก เวลาทำงานเป็นทีมมันลุยเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งแล้วมันต้องสั่งการ มันมีความวุ่นวายในการเคลียร์ของภายใต้เงื่อนไขเรื่องความเร็วและความเรียบร้อย การที่เขามาเป็นทีมและการที่เขาสื่อสารกันเองได้ เราไม่ต้องห่วงเรื่องคุยไม่รู้เรื่อง มันเบาแรงเรา งานไหนโหดๆ ยากๆ จับทีมบ้านกาญจนาเข้าไป เร็วมาก ทำงานกับเด็กพวกนี้แล้วสนุก” คุณสมบัติกล่าวถึงจุดแข็งของอาสาสมัครจากบ้านกาญจนาภิเษก พร้อมชื่นชมไปถึงทีมที่สร้างบ้านว่า

“รุ่นสร้างบ้านนี่ก็สุดเลย มันเป็นความสวยงาม หมายความว่าอันนี้มันเป็น volunteer spirit มัน clean มาก แล้วก็เวลาเราพูดถึงด้านสว่าง เด็กพวกนี้มันสว่างวาบเลยนะ ไม่ใช่เป็นแบบสว่างธรรมดา สำหรับคนอื่นเขาก็ประทับใจและรู้สึกดีกับตัวเองที่มาเป็นอาสาสมัคร แต่ไม่เหมือนกับเด็กบ้านกาญจนาภิเษก เด็กกลุ่มนี้จะเปิดรับการสัมผัสกับสิ่งดีๆ อย่างเต็มที่ เขาเก็บทุกเม็ด เราเห็นเขามอง มันรู้สึกได้” คุณสมบัติกล่าว

 มูลนิธิกระจกเงา

นอกจากนี้ คุณสมบัติยังมองว่าการทำงานอาสาสมัครของเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกให้อะไรมากกว่าโอกาสในการช่วยเหลือคนอื่น นั่นคือการเติบโตของตัวเด็กเอง กระบวนการอาสาสมัครได้ขัดเกลาตัวตนของพวกเขา และเป็นต้นทุนชั้นดีในการดำเนินชีวิต

นอกจากจะชนะใจอาสาสมัครคนอื่นๆ แล้ว เหล่าเด็กๆ บ้านกาญจนายังสร้างความประทับใจให้เจ้าหน้าที่หรือ “ครู” ที่ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คน ยอมรับตรงกันว่าเด็กๆ ของพวกเขานั้น “สู้ทุกเม็ด”

“สิ่งที่ประทับใจในตัวเด็กคือเขามีความสามัคคี ทำงานเป็นทีมได้ โดยปกติจะตัวใครตัวมัน แต่พอไปที่โน่นเขามีความเป็นทีมเวิร์ค มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เพื่อนเหนื่อยก็ไล่เพื่อนออกมาพักก่อน เดี๋ยวเปลี่ยนเข้าไปใหม่ แล้วก็อีกอย่างคือ เวลาเขาเห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน น้ำใจของชาวบ้านแล้วเขาดีใจ และทำงานของเขาเต็มที่ เหมือนกับไปนั่งแล้ว เหนื่อยแล้ว เริ่มอิดออด เจ้าของบ้านบอกว่าช่วยแม่หน่อยลูก ลุกกันพรึ่บ” คุณศักดิ์สิทธิ์ ขุนเทพ หรือครูต้นเล่า

ด้านคุณชลธิชา แดงประพันธ์ หรือครูกล้วย เจ้าหน้าที่ผู้หญิงหนึ่งเดียวของทีม ก็เล่าว่า ภารกิจของเด็กบ้านกาญจนาภิเษกนั้นสร้างความปลาบปลื้มให้กับพ่อแม่ของเด็กๆ ด้วย

“สิ่งที่ได้กลับมาคือฟีดแบ็กของพ่อแม่ ที่เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูก การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้พวกเขาได้ลูกคนใหม่กลับมาหลายคนเลย อะไรที่ไม่เคยทำก็ได้ทำแล้ว ถ้าผู้ปกครองมารับเด็กๆ กลับบ้าน เราก็จะเปิดคลิป เปิดภาพเด็กๆ ที่ลงพื้นที่ให้พ่อแม่ดู พ่อแม่คนอื่นๆ ที่ลูกชายเขาไม่ได้ไป เขาก็จะได้มีแรงกระเพื่อมไปถึงลูกชายให้ดูแลตัวเอง จะได้ไปลงพื้นที่เหมือนเพื่อนๆ ทั้ง 30 คน ที่ได้ไปช่วยทั้ง 3 รอบนี้” ครูกล้วยกล่าว

 

รางวัลของอาสาสมัคร

ขึ้นชื่อว่าอาสาสมัครย่อมไม่ได้รับสิ่งตอบแทนเป็นเงินหรือของรางวัลใดๆ แต่การทำงานอาสาสมัครกลับให้รางวัลที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตของบุคคลอื่นๆ ในระหว่างที่ลงพื้นที่ทำงาน ซึ่งทัดเล่าเรื่องราวของชาวบ้านที่เขาได้รับฟังมาว่า

“พวกที่ทำธุรกิจส่วนตัวอย่างเช่นรับซื้อของเก่า ขายของชำ ขับรถรับจ้าง พวกนี้ยังทำงานต่อได้ แต่พวกที่ทำงานโรงงาน ไหนจะเงินทางบ้าน ค่ากิน ค่าน้ำค่าไฟ น้ำท่วม 3 – 4 อาทิตย์ งานก็ไม่ได้ทำ หยุดงานเป็นเดือน ก็เลยโดนไล่ออก แล้วระหว่างที่หางานใหม่ เขาจะเอาอะไรมาเลี้ยงครอบครัว แต่ผมก็บอกว่าผมไม่ได้เอาเงินมาให้ แต่ผมเอากำลังใจมาให้ ขอให้เข้าบ้านไวๆ เขาก็ขอบคุณ เหนื่อยนะ แต่ภูมิใจมากกว่าที่เราได้เห็นเขามีความสุข ภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเราได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และเราได้รู้ในสิ่งที่เราไม่เคยได้รู้ เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยได้เห็น หายเหนื่อยแล้วครับ

ด้านวินก็กล่าวว่า การทำงานอาสาสมัครครั้งนี้คือการแบ่งเบาภาระและความทุกข์ของผู้ประสบภัย

“ชาวบ้านเขาก็บอกว่า น้ำมาคนก็มาช่วยเหลือ พอน้ำไปคนก็ไปตามน้ำ มันก็เหลือบ้านที่สกปรก ที่เขาต้องทำความสะอาด กลายเป็นภาระของเจ้าของบ้าน เราเห็นชาวบ้านทุกข์ร้อน เดือดร้อน การช่วยแบ่งเบาภาระเขา ถึงแม้จะไม่มาก แต่มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เราให้เขาได้ วัยรุ่นอย่างผมก็ไม่ได้ทำผิดตลอด อย่างน้อยก็ให้สังคมได้รู้ว่าเราสามารถทำอะไรดีๆ เพื่อสังคมได้ มีพื้นที่ให้พวกผมได้แสดงออกในสิ่งดีๆ ยังมีวัยรุ่นอีกหลายคนที่อยากทำแบบนี้ แต่ไม่รู้จะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร ยังไม่มีโอกาสที่จะได้เข้ามาทำ” วินกล่าว

สำหรับบีท สิ่งที่เขาได้สัมผัสคือความหมายของคำว่าอาสาสมัคร ที่เป็นการสมัครใจช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

“พอไม่ได้หวังผลตอบแทน ใจมันก็อยากจะไป คนอื่นจะมาช่วยหรือไม่ เราไม่ได้สนใจเลย เอาหน้าที่ตรงนี้ให้เสร็จก็พอ มันไม่ได้เอาความสุขกาย แต่มันเอาความสุขใจ เกิดมาจนอายุจะ 20 ยังไม่เคยทำอะไรอย่างนี้ เป็นครั้งแรกที่เราทำดีแบบไม่มีใครบังคับ แค่อยากจะทำให้มันดีเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่นะ พวกผมก็เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ไปช่วยเขาครับ ไม่ได้หวังว่าจะเป็นถึงขนาดนั้น” บีทสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook