ขนส่งฯ เผยร่างกฎกระทรวงแอปเรียกรถรับส่ง ไม่ใช่เจ้าของรถไม่มีสิทธิ์ขับ-จำกัดพื้นที่

ขนส่งฯ เผยร่างกฎกระทรวงแอปเรียกรถรับส่ง ไม่ใช่เจ้าของรถไม่มีสิทธิ์ขับ-จำกัดพื้นที่

ขนส่งฯ เผยร่างกฎกระทรวงแอปเรียกรถรับส่ง ไม่ใช่เจ้าของรถไม่มีสิทธิ์ขับ-จำกัดพื้นที่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เผยแพร่ร่างกฎกระทรวงสำหรับทำประชาพิจารณ์ เกี่ยวกับการทำให้แอปพลิเคชันเรียกรถรับส่ง อาทิ แกร็บ ให้ถูกกฎหมาย บนเว็บไซต์ของกรม อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวนี้ กลับพบว่ามีหลายประเด็นที่ยังมีความไม่ชัดเจน เช่น ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวอนุญาตให้คนขับที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ต้องเป็นเจ้าของรถที่ให้บริการเท่านั้น เท่ากับว่าจะใช้รถของคนในครอบครัวหรือคนอื่นให้บริการไม่ได้

"ข้อ ๓ เจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลผู้ใดจะนำรถของตนมารับคนโดยสารต้องดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันหรือระบบอื่นใดของผู้ให้บริการขนส่งล่วงหน้าที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก โดยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนและต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข" ร่างกฎกระทรวง ระบุ

นอกจากนั้น ผู้ให้บริการยังต้องนำรถไปขึ้นทะเบียนขอรับในอนุญาตขับขี่สาธารณะภายใน 120 วันหลังกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รองรับการขออนุญาตมีเพียงพอต่อจำนวนผู้ขับขี่รถป้ายดำที่มีอยู่ในท้องถนนมากมายหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารอย่างไรในช่วงเวลาการปรับระบบให้ถูกกฎหมาย

ช่องโหว่ให้บริการข้ามจังหวัด

ไม่ใช่แค่นั้นยังพบอีกว่า ร่างกฎกระทรวงนี้อนุญาตให้คนขับให้บริการเฉพาะในท้องที่ที่จดทะเบียนรถคันที่ให้บริการ "เป็นหลัก" จึงอาจสร้างความสับสนหรืออาจจะสร้างช่องโหว่ให้ผู้บังคับใช้กฎหมายตีความอย่างไม่เสมอภาคได้

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเรียกรถรับส่งผ่านแอปพลิเคชัน แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้เช่นกันว่า การที่คนขับต้องให้บริการในจังหวัดหรือท้องที่ที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น อาจไม่สะท้อนภาพการเดินทางที่แท้จริงของผู้โดยสาร และปิดกั้นโอกาสในการสร้างรายได้ของคนขับ โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่ติดกันอย่าง กรุงเทพฯ-นนทบุรี ดอนเมือง-รังสิต (ปทุมธานี) ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ยังไม่ใช่ร่างที่จะบังคับใช้ เพราะขณะนี้กรมการขนส่งทางบก เปิดให้ประชาชนไปแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ได้ http://elaw.dlt.go.th/ จนถึงวันศุกร์นี้ (29 พ.ย.) โดยแบ่งเป็นร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ คือฉบับที่เกี่ยวกับคนขับ คลิก และฉบับที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการ คลิก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook