รัสเซียเจอซากสุนัขอายุ 18,000 ปี สภาพสมบูรณ์ "ขน-ฟัน" มีครบ
นักวิจัยรัสเซียขุดเจอซากสุนัขอายุ 1.8 หมื่นปีใต้ซากน้ำแข็ง สภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ยังไม่ระบุเป็น "หมาป่า" หรือ "หมาที่คนเลี้ยง"
นิวยอร์กโพสต์ รายงานการค้นพบครั้งสำคัญอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก โดยระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ได้ขุดพบซาก "สุนัข" ที่ใต้ซากน้ำแข็งซึ่งมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์บริเวณใกล้กับเมืองยาคุตสค์ ในไซบีเรียตะวันออก
แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อศูนย์ Palaeogenetics ของสวีเดน ได้เข้าตรวจสอบซากสุนัขดังกล่าว และระบุว่า มันอาจจะมีถูกฝังมานานถึง 18,000 ปี ขณะเดียวกันยังไม่สามารถระบุได้ว่า ซากสุนัขที่ค้นพบ จะเป็นหมาป่า หรือสุนัขที่มนุษย์เคยเลี้ยงเอาไว้กันแน่
อย่างไรก็ตาม จากสภาพของซากสุนัขดังกล่าวที่ถูกเรียกว่าฟอสซิล มีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์อย่างมาก โดยพบว่ามันยังมีเส้นขนปกคลุม และมีฟันอยู่ครบทุกซี่ ขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยได้ตั้งชื่อมันเอาไว้ในเบื้องต้นว่า Dogor (ดอ-กอร์) ซึ่งแปลว่า "เพื่อน" ในภาษายาคุตสค์
เดวิด แสตนตัน นักวิจัยของ Palaeogenetics บอกว่า ช่วงเวลาของซากฟอสซิลสุนัขถือว่าน่าสนใจอย่างมากในแง่ของวิวัฒนาการระหว่างหมาป่าและสุนัขที่มนุษย์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม จากซากที่เราพบมันยากมากที่จะบ่งบอกหรือพิสูจน์ได้ในทันทีว่าคือหมาป่า หรือสุนัขเลี้ยงกันแน่ รวมไปถึงการตรวจดีเอ็นเอเพิ่มเติม ก็ยังไม่สามารถระบุสายพันธุ์มันได้แน่ชัด
"เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่กันที่มนุษย์เริ่มเลี้ยงสุนัข แต่จากซากที่เราพบมันมีเปอร์เซ็นต์สูงทีเดียวที่น่าจะมาจากช่วงเวลานั้น หรือราวๆ 18,000 ปีก่อน" สแตนตัน กล่าวเสริม
ด้าน เลิฟ ดาเรน อีกหนึ่งนักวิจัยในทีมชุดนี้ บอกว่า คำถามที่น่าสนใจคือซากที่เราพบมันเป็นลูกหมาป่า หรือสุนัขที่มนุษย์เลี้ยงเอาไว้ และหากเป็นเช่นนั้นมันจะเป็นสุนัขที่ถูกเลี้ยงที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา