"กรมอนามัย" จี้ท้องถิ่น คุมเข้มลานเบียร์ หากเสียงดัง-ไม่มีใบอนุญาต มีสิทธิ์ติดคุก
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงฤดูหนาวและช่วงเทศกาลปีใหม่มักจะมีผู้ใช้โอกาสนี้จัดงานเทศกาลลานเบียร์สด โดยจัดตั้งซุ้มจำหน่ายอาหาร เบียร์สดยี่ห้อต่าง ๆ และการแสดงดนตรีสด เป็นการสร้างสีสันให้กับกลุ่มนักดื่มช่วงฤดูหนาว ซึ่งการตั้งซุ้มจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และการแสดงดนตรี เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแล สถานประกอบกิจการลานเบียร์สดที่มีการจัดให้มีซุ้มจำหน่ายอาหาร เบียร์สด และการแสดงดนตรี ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้กรณีที่มีการตั้งซุ้มจำหน่ายอาหาร และมีการแสดงดนตรีสดด้วย ผู้ประกอบกิจการต้องขอรับใบอนุญาตหรือขอหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร ซึ่งหากสถานที่จำหน่ายอาหารมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่หากพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องขอหนังสือรับรองการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และหากราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทที่ 9(6) การจัดให้มีการแสดงดนตรี ไว้ ผู้ประกอบกิจการจะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทที่ 9(6) การจัดให้มีการแสดงดนตรี ด้วย
สำหรับผู้ประกอบกิจการต้องยื่นขอใบอนุญาตหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ตั้งของกิจการนั้น และผู้ประกอบกิจการจะต้องปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 และกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 และข้อบัญญัติท้องถิ่น
รวมทั้งควบคุมการดำเนินกิจการมิให้เกิดเสียงดังจนเป็นเหตุรำคาญสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า มีผู้ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จะมีความผิด โดยมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น การควบคุม ดูแล สถานประกอบกิจการดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญมาก แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของภาครัฐในการที่จะคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกแก่ ผู้ประกอบกิจการให้มีความรู้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข รวมถึงกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่สำคัญ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ ยังมีผลเสียต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะอีกด้วย