แล้งรับปีใหม่ โคราชจ่อขาดน้ำ 197 หมู่บ้าน ตั้งแต่ ม.ค. 63 ลำตะคองเหลือน้ำใช้ได้ไม่ถึงครึ่ง
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำดิบจากแหล่งน้ำต่างๆ แห้งเหือดลงอย่างรวดเร็วจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง โดยปริมาณน้ำใน 4 อ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัด ประกอบด้วย อ่างกักเก็บน้ำลำตะคอง สภาพน้ำปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 52.11 เป็นน้ำใช้การได้ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 48.38 ,อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง เหลืออยู่ที่ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15.93 เป็นน้ำใช้การได้ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15.54 เท่านั้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน เหลืออยู่ที่ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 35.68 เป็นน้ำใช้การได้ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 32.32 และอ่างเก็บน้ำลำแชะ เหลือปริมาตรน้ำอยู่ที่ 90 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 33.04 เป็นน้ำใช้การได้ 83 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 31.29
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 อ่างฯ เหลือปริมาตรน้ำรวม 91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 27.72 และเป็นน้ำใช้การได้ 67 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 21.92 ทำให้ปริมาตรน้ำรวมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เหลือเฉลี่ย 421 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 34.62 แต่เป็นน้ำใช้การได้ 359 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 31.14
สำหรับข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 13 / 2563 ระบุว่า มี 22 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จำเป็นต้องนำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายช่วยเหลือ ขณะนี้ได้เจาะบ่อบาดาลช่วยไปแล้ว 3 หมู่บ้าน ยังคงเหลืออีก 19 หมู่บ้านที่ต้องแจกจ่ายน้ำ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทั้ง 32 อำเภอ เฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
พร้อมกับประเมินว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป จะมีหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำประมาณ 197 หมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้กำลังลำเลียงสูบส่งน้ำไปช่วย 197 หมู่บ้านเป้าหมายเหล่านี้แล้ว เพื่อให้เพียงพอใช้ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ขณะเดียวกัน มีแผนดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมอีก 60 หมู่บ้าน แต่หลังจากลงไปสำรวจ มี 20 หมู่บ้านที่พื้นที่มีความเค็มสูง ไม่สามารถดึงน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จึงเหลือเป้าหมายขุดเจาะบ่อบาดาลเพียง 40 หมู่บ้านเท่านั้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนลำตะคอง ได้รายงานว่า จะขอลดการระบายน้ำลงจากปกติ 3 - 5 มิลลิเมตร/วินาที จะเหลือ 2 มิลลิเมตร/วินาที ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก เกษตรกรจึงต้องหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เพื่อเก็บสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด จนกว่าจะมีน้ำเข้ามาเติมในช่วงฤดูฝน ซึ่งการจ่ายน้ำจะสงวนไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทุกคนจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด
"ตอนนี้การประปาเทศบาลนครนครราชสีมายังไม่มีปัญหา แต่มีการประปาส่วนภูมิภาค สาขาโนนสูง, การประปาส่วนภูมิภาค สาขาด่านขุนทด และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพิมาย ที่คาดว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ซึ่งทางจังหวัดฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ปัญหา เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคไปตลอดฤดูแล้งนี้ให้ได้" นายวิเชียร กล่าว