แม่ใหญ่นักสู้: การต่อสู้ของหญิงรากหญ้าแห่งดงมะไฟ

แม่ใหญ่นักสู้: การต่อสู้ของหญิงรากหญ้าแห่งดงมะไฟ

แม่ใหญ่นักสู้: การต่อสู้ของหญิงรากหญ้าแห่งดงมะไฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เราก็อยากอนุรักษ์เอาไว้ ไม่อยากให้เขาทำลายมัน”

กลุ่มแม่ใหญ่ ผู้รับตำแหน่ง “แม่ครัว” ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นในโรงครัวของถ้ำศรีธน ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ที่รายล้อมไปด้วยต้นสมุนไพรและพืชพรรณนานาชนิด การก่อตั้งเหมืองหินปูนในพื้นที่ป่าชุมชน เมื่อปี 2536 ส่งผลทำให้เกิดการรุกล้ำป่าอาหารและที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทั้งยังสร้างความกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยและการทำลายธรรมชาติ ชาวบ้านจึงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก จนมีแกนนำและชาวบ้านถึง 4 คนถูกยิงเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนก็ทำการยื่นขอประทานบัตร จนอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภูอนุญาตประทานบัตรในปี 2543 ซึ่งมีระยะเวลา 10 ปี ต่อมาในปี 2553 บริษัทจึงได้ต่อใบอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและต่อประทานบัตรอีกครั้ง ซึ่งจะหมดอายุในปี 2563

ฝ่ายชาวบ้านไม่เคยยอมแพ้ พวกเขาทำการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและเดินหน้าคัดค้านเหมืองหินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มแม่ใหญ่ที่ออกมาร่วมคัดค้านทุกครั้ง แต่บทบาทของพวกเธอไม่ได้เป็นเพียงแม่ครัวผู้หุงหาอาหารให้สมาชิกเพียงเท่านั้น แต่ยังก้าวไกลไปถึงการเป็นผู้ร่างจดหมาย ทำหน้าที่ล่าลายเซ็น ยื่นคำร้อง ฟ้องศาล เข้าพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ไปจนถึงการขึ้นเวทีปราศรัย ด้วยความหวังว่าจะสามารถทวงคืนผืนป่าที่ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้ดำรงชีวิตมานานหลายสิบปี 

ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได

ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได” มีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีพืชพรรณต้นไม้หลากหลายชนิดที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะไผ่และเห็ด ซึ่งกลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ บริเวณป่าแห่งนี้มีกลุ่มภูเขาหินปูนที่สวยงาม ประกอบด้วย ภูผาฮวก ผาจันได ภูผายา ผาโขง และผาน้ำลอด ซึ่งเป็นทั้งป่าอาหารให้ชาวบ้านและเป็นที่พึ่งพิงให้ประโยชน์เรื่องน้ำในการทำนา เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดทั้งปี

ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ชีวิตตามแบบวัฒนธรรมฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ของชาวอีสาน ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งพาอาศัยและหากินในผืนดินผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชพรรณอาหาร สมุนไพร และสัตว์ป่า ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมทางอาหารของคนในพื้นที่ ในขณะที่นั่งพูดคุยกับกลุ่มแม่ใหญ่ในโรงครัว แม่ใหญ่ดวงฤทัย ทองคำแสง ก็ชี้ชวนให้ดูต้นยา ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่หมอยาประจำหมู่บ้านมักจะเอามาต้มให้ชาวบ้านได้ดื่มกินเมื่อมีงานในชุมชน ขณะที่ แม่ใหญ่บัวลอง นาทา ก็เล่าว่าเมื่อถึงฤดูกาลเห็ด ในพื้นที่ป่าชุมชนจะเต็มไปด้วยเห็ดชนิดต่าง ๆ โดยเห็ดเผาะจะเกิดก่อน เมื่อเห็ดเผาะวาย เห็ดละโงกก็จะโผล่ขึ้นมา และหลังจากนั้นก็จะเป็นเห็ดโคนที่มีทั้งแบบขาวและแบบแดง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่และจากหมู่บ้านอื่นก็จะเข้ามาเก็บเห็ดไปกินหรือนำไปขาย

“เมื่อก่อนจะเดินมาตรงนี้มันไกลมากเลยนะ ที่ตรงนี้ก็จะมีต้นหมากกล้วยหรือกล้วยป่า แล้วก็มีมะไฟ มะแงวเต็มป่าเลย ถ้าอยากกินก็เดินมาเก็บแถวนี้ บางทีก็มีคนทำค่างส้ม หรือแหนมลิงมาให้กิน เมื่อก่อนยังไม่มีการขายกัน คนรู้จักคนคุ้นเคยที่เขาได้มา ก็เอามาทำเป็นส้มแล้วแบ่งกินกับเขา” แม่ใหญ่เปี่ยม สุวรรณสนธ์ เล่า

ไม่เพียงแต่วัตถุดิบสด ๆ ที่สามารถหากินได้จากป่าของชุมชน แต่ชาวบ้านยังมีภูมิปัญญาในการเก็บรักษาอาหารสดเหล่านี้ไว้กินตลอดทั้งปี แม่ใหญ่เปี่ยมบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเห็ด หน่อไม้ หรือของป่า เมื่อได้มา แม่ใหญ่ก็จะเอามานึ่งใส่ถุงเก็บเอาไว้กินนาน ๆ หรือไม่ก็ทำเป็นส้มหรือแหนมนั่นเอง

“ถ้าเป็นฤดูหน่อไม้นะ โอ๊ย! มีเต็มไปหมด ของป่าก็มีเยอะ อย่างกลอย เมื่อก่อนจะไปเอากลอยที่อยู่ในป่าข้าง ๆ ที่เราทำนานั่นแหละ ได้มาก็เอากบไสไม้ฝานให้เป็นชิ้นสวย อยากได้ขนาดไหนก็ฝานเอา อยากได้แว่นใหญ่ ๆ ก็ฝานเต็มหน้ากบไส พอได้แล้วก็เอาใส่ตะกร้า เอาหินหรือไม่ก็ใบตองทับ แช่น้ำไว้ เช้า-เย็นก็มาเขย่า ๆ ให้ยางไหลไป สามวันก็เอามานึ่งกินได้แล้ว” แม่ใหญ่เปี่ยมทำท่าทางการล้างกลอยให้ดู

เหมืองหินในถิ่นแม่

เหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง) เริ่มยื่นขอสัมปทานในปี 2536 แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยและเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านกันมาอย่างยาวนาน ทำให้แกนนำและผู้ร่วมคัดค้านถูกลอบยิงเสียชีวิต และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ทั้งนี้ แม้จะมีการยื่นฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับเหมืองหินปูนดังกล่าวหลายคดี แต่สุดท้ายบริษัทก็สามารถดำเนินการระเบิดหินได้ในปี 2559 และทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีการสร้างเหมืองหินปูน ผู้ประกอบการก็ได้กั้นแนวเขตเหมืองโดยปักหมุดเอาไว้ทั้งหมด 9 จุดในบริเวณป่าชุมชนและพื้นที่ทำกินบางส่วนของชาวบ้าน และไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่

“ตรงนี้มันเป็นแหล่งหากินของเรา แต่ตอนนี้เราทำไม่ได้แล้ว เข้าไปยังไม่ได้เลย เขาจะปักหลักสีแดงเอาไว้ห้ามไม่ให้เข้าไป แล้วก็มีคนตระเวนดู ถ้ามีใครเข้าไป เขาก็จะถามว่าเข้ามาทำไม” แม่ใหญ่ดวงฤทัยพูด

การห้ามชาวบ้านไม่ให้เข้าไปในป่าอาหารของชุมชนเปรียบเสมือนการจำกัดสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่พวกเขาเคยใช้ประโยชน์มาหลายสิบปี แม่ใหญ่บัวลองบอกว่าตอนนี้แม่ใหญ่ไม่สามารถเข้าไปหาหน่อไม้หรือเห็ดในพื้นที่ภูผาฮวก ซึ่งเป็นแหล่ง “หน่อไม้ฮวก” ได้อีกแล้ว แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีหน่อไม้ฮวกอุดมสมบูรณ์มากที่สุด แต่ตอนนี้มันก็เริ่มหายไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับแม่ใหญ่ดวงฤทัยที่บ่นเสียดายว่าตอนนี้ก็ไม่สามารถเข้าไปเอาไม้ไผ่มาทำข้าวหลามได้

ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารการกินที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ แต่เหมืองหินยังส่งผลให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้าน ซึ่งแม่ใหญ่ทุกคนลงความเห็นว่าเมื่อก่อนไม่มีฝุ่นละอองและอากาศก็ดีกว่าในปัจจุบันมาก ๆ

ตามรายงานเรื่อง “ฝุ่นละออง: อนุภาคขนาดเล็กที่ต้องควบคุม” ของกลุ่มกำกับและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 สำนักบริหารสิ่งแวดล้อม รายงานว่า การฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากเหมืองหิน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งฝุ่นละอองจะเข้าไปเกาะตัวในส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคือง มีแนวโน้มที่เนื้อเยื่อปอดจะถูกทำลาย และหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นระยะเวลานาน ฝุ่นละอองก็จะสะสมในเนื้อเยื่อปอดจนเกิดเป็นพังผืด ส่งผลให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพที่ชาวบ้านต้องเผชิญ การระเบิดเหมืองหินก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน เช่น ถ้ำผายาและถ้ำศรีธน ที่มีความสำคัญในเชิงโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยเหล็กแห่งหนึ่งของประเทศ โดยชาวบ้านกังวลว่าแรงระเบิดจากเหมืองจะส่งผลกระทบต่อหินงอกหินย้อยที่งดงามภายในถ้ำ หรืออาจทำให้หินร่วงลงมาทับนักท่องเที่ยว หรือลูกหลานของชาวบ้านที่มาทำหน้าที่เป็นไกด์พิเศษในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอม

“ลูกชายของแม่ก็นำเที่ยวอยู่ที่นี่แหละ ก็เป็นรายได้ของเด็กมัน พอมีการระเบิด เราก็ต้องดูว่าจะเสี่ยงต่อลูกเราไหม ถ้ามาแล้วมันอันตราย เราก็ไม่อยากให้มา ไม่อยากให้เขาทำ ถึงแม้รายได้จะดี พอเอาไปโรงเรียนได้บ้าง” แม่ใหญ่ดวงฤทัยกล่าว

ขณะเดียวกัน การคมนาคมและการสัญจรในหมู่บ้านก็ได้รับผลกระทบ เพราะการขนหินออกจากเหมืองต้องใช้รถพ่วงคันใหญ่ แต่ด้วยขนาดของถนนที่เล็กและแคบ จึงทำให้ชาวบ้านกังวลว่าจะเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกับคนเฒ่าคนแก่และลูกหลานตัวเล็ก ๆ ทั้งยังส่งผลให้ชาวบ้านรู้สึกกลัวที่จะขี่มอเตอร์ไซค์หรือจักรยานไปยังพื้นที่ทำกินของตัวเอง อย่างไรก็ตาม แม้จะเคยเกิดอุบัติเหตุและสูญเสียทรัพย์สินหลายครั้ง แต่รถพ่วงจากเหมืองหินก็ยังสัญจรผ่านเขตชุมชนอยู่ตลอด

“ตอนที่ยังไม่มีเหมือง เราก็ไปทำนา ทำไร่ของเราได้ปกติ ไม่ต้องห่วงอะไร แต่ตอนนี้เราก็ต้องระวังทั้งคนแก่ ทั้งเด็กเล็ก ปล่อยออกไปไหนไม่ได้ เพราะเรากลัวอุบัติเหตุ แถมหากินอะไรก็ยาก” แม่ใหญ่ในโรงครัวเห็นพ้องกัน

การต่อสู้ของหญิงรากหญ้า

เป็นเวลากว่า 25 ปีที่การต่อสู้ของ ”กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ - ผาจันได” ดำเนินมาอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้เหมืองหินปูนที่อยู่ในพื้นที่ยกเลิกการทำกิจการและย้ายออกไป แม้ว่าการต่อต้านเหมืองหินจะมีราคาที่ชาวบ้านต้องจ่ายมหาศาล แต่พวกเขาก็ไม่เคยย่อท้อ และไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้หยุดทำเหมืองหินในพื้นที่ป่าเท่านั้น พ่อใหญ่สมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ อธิบายให้ฟังว่า กลุ่มอนุรักษ์ยังทำหน้าที่อนุรักษ์ บำรุงรักษาป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง จนได้รับพระราชทาน “ธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ตามโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) อีกด้วย

เช่นเดียวกับบทบาทของแม่ใหญ่แห่งตำบลดงมะไฟในกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันไดในการเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองหิน ที่ไม่ได้จบอยู่แค่การเป็นหน่วยสนับสนุนเพียงเท่านั้น แต่พวกเธอยังต้องมาอยู่ทัพหน้าและทำหน้าที่สำคัญหลาย ๆ อย่างที่ต้องใช้การฝึกฝนเรียนรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยถูกส่งต่อหรือสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ นั่นคือ กระบวนการฝึกเขียนภาษาราชการ การร่างจดหมาย ล่าลายเซ็น การขอเข้าพบนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงการจับไมค์ ขึ้นเวทีปราศรัย และการให้สัมภาษณ์นักข่าว

แม่ใหญ่เปี่ยม ผู้หญิงตัวเล็กที่นำทางนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในถ้ำได้อย่างคล่องแคล่ว เล่าให้ฟังว่า ตนกลับมาอยู่บ้านหลังจากภาวะฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 เมื่อได้รับรู้ถึงปัญหาเหมืองหินที่อยู่ในพื้นที่ป่าของชาวบ้าน เธอก็ลุกขึ้นมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์ แม้จะจบเพียง ป.7 แต่ก็อาศัยความชอบในการเขียน ฝึกฝนจนสามารถเขียนได้อย่างยอดเยี่ยม และได้รับตำแหน่งเลขานุการของกลุ่มอนุรักษ์

“แม่เรียนจบแค่ ป.7 ค่ะ เป็นรุ่นเกือบสุดท้ายเลย ตอนเรียนก็กลาง ๆ แต่อาศัยเป็นคนชอบเขียน แม่ชอบเขียนตามหนังสือธรรมะ คติคำสอนของครูบาอาจารย์ คือเราชอบเขียนไง พอมีเรื่อง เราก็ขอบัตรประชาชนของพี่น้องมา เอามาถ่ายเอกสาร เดินเรื่อง ไปแจ้งความก็เราคนเดียวนี่แหละ แล้วที่โดนฟ้องก็เพราะเราทำหน้าที่เขียนให้เขาทุกอย่าง มันเลยมีชื่อของเราเข้าไปพัวพันในคดีด้วย”

แม่ใหญ่เปี่ยมเล่าย้อนไปถึงคดีความที่เธอโดนขู่จะฟ้องในข้อหาฟ้องเท็จ จากกรณีที่บริษัทเหมืองหินนำรายชื่อของชาวบ้านจากการทำประชาคมปลอมไปใช้ เพื่อยื่นขอต่ออายุประทานบัตร

“เขาก็บอกว่าเราฟ้องเท็จ ทำให้ผู้ประกอบการเสียเวลา ขาดผลประโยชน์ ขู่ว่าจะเรียกเงินเราสองล้าน ถามว่ากลัวไหม แม่ก็รู้สึกเฉย ๆ นะ ไม่กลัวหรอก เพราะมันมีเพื่อน อีกอย่างเราคิดว่าเราทำถูกแล้ว คนส่วนมาก ถึงเขาจะไม่กล้าเข้ามาตรงนี้ แต่เขาก็ไม่อยากให้มีการระเบิดหินตรงนี้หรอก” แม่ใหญ่เปี่ยมบอก

“เขาไปบวชชีมาตั้ง 9 ปี เราเลยเรียกเขาว่า มหาต้อย” แม่ใหญ่บัวลองที่นั่งอยู่ข้าง ๆ พูดแซวพลางหัวเราะ แม่ใหญ่เปี่ยมเลยบอกว่า แม่ใหญ่บัวลองก็เป็นคนเก่ง นอกจากจะทำอาหารเร็ว สะอาด และอร่อยแล้ว แม่ใหญ่ยังเป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่มอนุรักษ์ด้วย

“แม่กับแม่ใหญ่เปี่ยม ไปไหนก็ไปด้วยกัน เขาเป็นเลขาไง แม่ก็เป็นคนพูด เรียนจบแค่ ป.1 เขียนหนังสือไม่เป็น แม้แต่ชื่อก็ให้เขาเขียนให้ แต่พอมาต่อสู้เยอะ ๆ ก็อ่านหนังสือได้” แม่ใหญ่บัวลองเล่า

ด้วยบทบาทนักพูด นักปราศรัยประจำกลุ่ม ทำให้แม่บัวลองมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอหลายคนอยู่หลายครั้ง แม้จะไม่คุ้นชินกับการใช้ภาษาไทยกลาง แต่แม่ใหญ่บัวลองก็ไม่เคยกลัว แถมบางครั้งเธอก็พูดภาษาอีสานกลับไปเลยก็มี

“มันปรับตัวอัตโนมัติของมันเอง ชินไปเอง เมื่อก่อนพูดไมค์ก็กลัว พูดไม่ได้ สมัยก่อนต้องพูดกับผู้ว่า นายอำเภอ ก็มีเกร็งอยู่นะ แต่หลัง ๆ นี้ก็คิดว่า เขาก็คน เราก็คน ก็เลยสวนไปเลย เพราะถ้าปล่อยเอาไว้ แม่จะลืม เพราะแม่จดโน้ตไม่เป็น ก็เว้าลาวไปเลย นายอำเภอจะรู้เรื่องหรือเปล่าก็ช่าง แม่พูดไปเลย จริง ๆ อย่างเดียวที่เขาให้แม่พูด ก็เพราะว่าเราเป็นผู้หญิงนี่แหละ ซึ่งมันได้เปรียบนะ เพราะเวลาเราพูด คนจะชอบฟังมากกว่า” แม่ใหญ่บัวลองพูดยิ้ม ๆ

แม้จะไม่ได้มีบทบาทเป็นนักสู้ปลายปากกาอย่างแม่ใหญ่เปี่ยม หรือนักสู้ฝีปากกล้าเหมือนแม่ใหญ่บัวลอง ทว่าแม่ใหญ่ดวงฤทัยก็เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มอนุรักษ์อยู่เสมอ เพราะมุ่งมั่นที่จะทวงผืนป่ากลับคืนมาให้ลูกหลานในวันข้างหน้า ดังนั้น อาหารทุกมื้อที่ทุกคนได้กินล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของแม่ใหญ่ดวงฤทัย ที่อยากให้กองทัพได้อิ่มท้องและพร้อมที่จะสู้กันต่อ

“มันมี 3 – 4 ครั้งที่เราไปเสียเที่ยว เราเรี่ยไรเงินกันไป ทีละ 5,000 – 6,000 แล้วแต่รถไปน้อยไปมาก ค่าอาหารด้วย รวมกันแล้วเป็นหมื่น เขาก็ไม่มา เราก็เสียเที่ยวไป” แม่ใหญ่เปี่ยมยกตัวอย่างปัญหาวันนัดไปศาล ที่หลายครั้งชาวบ้านต้องไปเสียเที่ยวเพราะคู่กรณีไม่มาตามนัด แต่ถึงจะโดนผิดนัดหลายครั้ง ชาวบ้านก็ยังเดินทางไปตามคำนัดของศาลไม่เคยขาด

แม้จะต้องเผชิญหน้ากับการกลั่นแกล้งหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งความยากลำบากของการคัดค้านต่อต้านที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ก็ทำให้บรรดาแม่ใหญ่ทั้งหลายยอมรับว่ามีท้อแท้บ้าง แต่พวกเธอไม่เคยถอย เพราะผืนป่าแห่งนี้คือบ้านและอาหารของพวกเธอ

“มันท้อ แต่ไม่ถอยนะ ไม่ยอมถอยเลย มีแค่คนสองคน เราก็ไป คนบ้านเราก็ช่วยนะ ถึงเขาจะไม่ไป แต่ถ้าเราไปหา ไปขอเรี่ยไร เขาไม่ไป เขาก็ให้เงินไปช่วยนะ เอาอาหารไปนะ เอาใจช่วยนะ แล้วเราจะทิ้งเขาได้ยังไง บางครั้งมันก็มีแค่เรา ไม่ต้องไปก็ได้ แต่เราก็ยังไปเหมือนเดิม” แม่บัวลองบอก

เช่นเดียวกับแม่ใหญ่เปี่ยม ที่มองว่าการฝึกฝนจิตใจมากว่า 9 ปีมีส่วนช่วยให้เธอใจเย็นมากขึ้น และพร้อมต่อสู้เพื่อให้ป่าสวนครัวของชุมชนได้กลับมาเป็นของชาวบ้านอีกครั้ง แม้ตัวเองจะเสี่ยงโดนฟ้องและอาจต้องชดใช้เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาทก็ตาม

“ถึงไม่โดนคดี ไม่โดนอะไร เราก็ตายอยู่ดี แม่คิดแบบนี้มากกว่า ทำยังไงจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากเรา ถึงแม้ว่าจะได้น้อยก็ช่างมัน ก็ยังดีกว่าไม่มาร่วมเลย“ แม่ใหญ่เปี่ยมพูดเสียงหนักแน่น

แม่ก็คือแม่

ถึงแม้จะต้องสวมหมวกนักต่อต้าน งัดข้อกับหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชน ไปขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่า โดนข่มขู่และกลั่นแกล้งสารพัด แต่แม่ใหญ่ก็ยังคงรักษาบทบาทความเป็น “แม่” ที่คอยดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิก ด้วยการทำอาหารให้ทุกคนได้กินจนอิ่มท้อง เพื่อให้พร้อมต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งหลาย

ซุป แกงเห็ด แกงหน่อไม้ และตำบักหุ่ง คืออาหารประจำที่แม่ใหญ่มักจะทำ “สู่” กันกิน วัตถุดิบพื้นบ้านที่หาได้จากผืนป่าในพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ หลอมรวมกับรสมือที่สั่งสมมาหลายสิบปี จึงทำให้อาหารทุกมื้อของแม่ใหญ่มีรสชาติอร่อย สามารถสร้างรอยยิ้มและความอิ่มเอมให้กับทุกคนที่ได้กินเสมอ แถมแม่ใหญ่ยังใจดี เวลาไปศาล ก็ต้องทำแจ่วบอง ทำลาบปลา แถมต้มหน่อไม้ไปแจกคนที่ศาลเสียทุกครั้ง

มันเป็นความผูกพันกันนะ ถ้าไม่มีเรา เขาจะกินอะไร เขาจะทำอะไร คนในกลุ่มขาดเราไม่ได้ ถ้าขาดเราแล้วใครจะมาแทน เราเป็นกองเสบียงนะ” แม่ใหญ่บัวลองกล่าว

กว่า 26 ปีแล้ว ที่แม่ใหญ่แห่งดงมะไฟร่วมกันคัดค้านและต่อต้านเหมืองหินปูนที่เข้ามาใช้พื้นที่ป่าชุมชน ชาวบ้านต้องเดินทางไปศาลเป็นร้อยเที่ยวพันเที่ยวตลอดช่วงเวลาการต่อสู้ที่ผ่านมา สูญเสียแกนนำและพี่น้องร่วมชุมชนไปถึง 4 คน เพื่อขอคืนแหล่งอาหารที่พวกเขาเคยใช้หล่อเลี้ยงชีวิต แต่ผลลัพธ์ที่ได้ในขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าเหมืองหินดังกล่าวจะยกเลิกกิจการออกไป แม้จะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรชัยชนะจะมาถึงชาวบ้าน แต่แม่ใหญ่เปี่ยม แม่ใหญ่บัวลอง แม่ใหญ่ดวงฤทัย และแม่ใหญ่คนอื่น ๆ ก็ไม่เคยย่อท้อและพร้อมที่จะสู้กันต่อไป เพราะผืนดิน ต้นไม้ และสายน้ำในพื้นที่ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได คือแหล่งธรรมชาติที่เกื้อหนุนชีวิตชาวบ้านตำบลดงมะไฟมานานหลายชั่วอายุคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook