ลือหึ่ง! แกนนำเพื่อไทยหอบดีลร่วมรัฐบาลปรึกษา "แม้ว" หลังมีข่าวผู้ใหญ่ไม่ปลื้มค่ายสีฟ้า
รายงานข่าวเผยว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยนำประเด็นที่ได้รับการประสานจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐให้เข้าร่วมรัฐบาล เพื่อขอความเห็นชอบจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฮ่องกง เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนแต่อย่างใด
ข่าวความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากช่วงที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรต้องเจอกับความวุ่นวายจากเหตุสภาล่ม 2 ครั้งใน 2 วันติดกัน อันเนื่องมาจากปมเหตุที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 จนฝั่งรัฐบาลต้องเสนอญัตติให้มีการนับคะแนนใหม่ที่ทำเอาฝ่ายค้านไม่พอใจเพราะยกเอาเหตุผลเรื่องการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้มาเป็นประเด็น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา แกนนำพรรคพลังประชารัฐตัดสินใจเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาพบปะกันที่สโมสรราชพฤกษ์ ซึ่งนอกจากจะเพื่อกระชับสัมพันธ์ ปรับความเข้าใจ และรวมพลังกันแล้ว ยังเป็นเวทีให้บรรดา "บิ๊ก" ในรัฐบาล โดยเฉพาะ 3 ป. อันประกอบด้วย ป.ป้อม ประวิตร ป.ป๊อก อนุพงษ์ และ ป.ประยุทธ์ ได้ออกโรงเล่นบทดุดันเพื่อให้ก๊วน ส.ส.ที่คิดจะแตกแถวได้ยำเกรง
>> "บิ๊กตู่" ประกาศกร้าวกลางที่ประชุม "ถ้าผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้" ขู่สภาห้ามล่มอีก
>> พรรคเล็กตบเท้าเช็กชื่อ "มีตติ้งรัฐบาล" ผงะ "เต้ มงคลกิตติ์" โผล่มาร่วมด้วย
ถึงกระนั้น การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา แม้ฝ่ายรัฐบาลจะกำชัยชนะในญัตตินับคะแนนใหม่จนสามารถทำแท้งการตั้ง กมธ.ศึกษาการใช้ ม.44 ก็ตาม แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในส่วนของ 6 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติเห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว ยังคงลงมติยืนยันตามเดิม 4 ราย ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเทพไท เสนพงศ์ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และนายอันวาร์ สาและ ขณะที่ นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม แต่ไม่ออกเสียงลงมติ
>> "จุรินทร์" ลั่นเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องเคารพมติพรรค-วิป ใครโหวตสวนต้องรับผิดชอบ
ว่ากันว่าแกนนำระดับสูงของรัฐบาลไม่พอใจเป็นอย่างมากกับเหตุการณ์ที่ว่านี้ เนื่องจากมีการกำชับกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เพื่อให้ควบคุมการลงมติของลูกพรรค ทั้งในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในช่วงงานเลี้ยงสังสรรค์เมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 ธ.ค.แล้วด้วย
ส่งผลให้มีข่าวเล็ดรอดออกมาว่า เริ่มมีการพูดถึงการที่จะปรับพรรคประชาธิปัตย์ออกจากรัฐบาลในการปรับ ครม.ที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2563 หรือภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปรยว่า หากปรับพรรคประชาธิปัตย์ออกจากรัฐบาล ก็เชื่อว่าจะยังมี ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 30 คน ยังอยู่ร่วมรัฐบาล เพราะ ส.ส.กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ นายสุเทพ เทือกสุวรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตเลขาธิการ กปปส. ที่สนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้ ฟากฝั่งรัฐบาลยังมีการต่อสายทาบทาม ส.ส.ฝ่ายค้านบางส่วนเพื่อมาเติมคะแนนและหลีกหนีสภาวะเสียงปริ่มน้ำที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเห็นร่องรอยได้จากการประชุมสภาฯ เมื่อ 4 ธ.ค. ที่มี ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน "จำนวนหนึ่ง" แสดงตนเป็นองค์ประชุม ก่อนที่สภาจะมีมติด้วยเสียงข้างมากในญัตติไม่ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการใช้อำนาจจาก ม.44
>> 11 งูเห่า ส.ส.ฝ่ายค้าน เอื้อรัฐบาล จนได้โหวตคว่ำคณะกรรมาธิการ ม.44
ทั้งนี้ กระแสข่าวที่ถูกปล่อยออกมา คือ เสียงที่อาจจะหายไป 20-30 เสียงจากการปรับค่ายสีฟ้าออกจากพรรคร่วมรัฐบาลนั้น จะทดแทนด้วยเสียงของ ส.ส.บางส่วนจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ รวมแล้วประมาณ 10 เสียง พร้อมกับความพยายามที่จะทาบทาม ส.ส.จำนวนหนึ่งประมาณ 20-30 เสียงจากพรรคเพื่อไทยทั้งที่มีการดูแล หรือฝากเลี้ยงไว้อยู่แล้ว รวมกับบางส่วนที่ไม่กังวลกระแสต่อต้านในพื้นที่ ให้เข้ามาแทนที่เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ขาดหายไป โดยมีการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งอื่นในฝ่ายบริหารให้ตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่เข้ามาร่วมกับรัฐบาลด้วย
>> "โหรวารินทร์" ชี้รัฐบาลชุดนี้คงอยู่ต่อไปอีกยาว "3 ป." ยังไม่หมดหน้าที่ง่ายๆ