เคลียร์ชัด...กรณีอู่ตะเภา เลือกที่รัก มักที่ชัง แล้วประเทศชาติ ได้ประโยชน์อะไร?
จากการติดตามความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีหลายโครงการเริ่มนับหนึ่งในการดำเนินงาน ถือเป็นความหวังของประเทศไทย ที่จะก้าวสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่มีอีกหนึ่งโครงการที่กำลังถูกจับตาจากหลายฝ่าย นั่นคือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ถึงผลการตัดสินแหลมออกมาทางสื่อ พร้อมดราม่า ความเห็น อารมณ์ ความรู้สึก ที่ออกจะหมิ่นเหม่การกดดันศาล จนน่าเป็นห่วง ซึ่งว่ากันไปแล้ว ผลการตัดสินก็วัดกันที่ข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องมีดราม่านอกจอ
ทร. มีบทบาทเป็นกรรมการ แต่ทำไมจึงออกมาเลือกที่รัก มักที่ชัง ลงสนามแบบออกตัวแรง จะเห็นได้ว่า ข้อโต้แย้งของที่ ทร. พูดออกสื่อเสมอ คือ ทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้าง! ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ว่า ระบบจัดซื้อ จัดจ้าง ที่อ้างถึงนั้น เป็นอย่างไร?
เป็นที่สนใจของผู้ที่ติดตามข่าวสาร โดยมีการหยิบยกคำวินิจฉัยในอดีตของศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับข้อพิพาททางปกครอง ซึ่งเอกชน 5 รายแพ้คดี ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประมูลงานของรัฐ เนื่องจากมาไม่ทันกำหนดเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมเสนอราคา โดยเทียบเคียงกับกรณีของกลุ่มธนโฮลดิ้งและพันธมิตรที่ถูกคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตัดสิทธิ์ไม่พิจารณาเอกสารข้อเสนอ 2 กล่องสุดท้ายที่ยื่นช้าจากกำหนดเวลา 15:00 น. ไป 9 นาทีนั้น
เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียดของมูลคดีของเอกชนทั้ง 5 ราย (ตามตารางมูลคดีที่เอกชน 5 รายถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูลงานของรัฐ) กลับเห็นความจริงอีกด้านที่แสดงถึง ความแตกต่างอย่างชัดเจนของข้อมูลและบริบทแวดล้อม ที่ทำให้ทั้ง 5 คดีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกล่าวอ้างนั้น ไม่อาจนำมาเทียบเคียงหรือยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินกับคดีอู่ตะเภาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดโครงการหรือวิธีการประมูล ซึ่งทั้ง 5 คดี มีวงเงินประมูลสูงสุดเพียง 11.5 ล้านบาท การประมูลก็ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ในขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กท์ขนาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน วงเงินสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท กับทั้งเป็นการประมูลแบบเปิดซองเอกสารเสนอราคา ซึ่งโครงการประเภทนี้ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน มองที่ผลประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นหลักด้วย หากตัดสิทธิ์ผู้เข้าประมูลโดยใช้แนวทางการพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงการอื่นเพียงด้านเดียวก็จะทำให้ขาดการพิจารณาในข้อเท็จจริงและสภาพแวดล้อมในบริบทที่ต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในขั้นตอนของกระบวนการตรวจรับเอกสารในวันเกิดเหตุ ตลอดจนคำกล่าวอ้างและคำโต้แย้งของฝ่ายผู้ฟ้องคดี (กลุ่มธนโฮลดิ้ง) และผู้ถูกฟ้องคดี (ฝ่ายคณะกรรมการคัดเลือกฯ) จะพบช่องโหว่ที่เปิดไว้ค่อนข้างมาก อาทิ
- ในกระบวนการการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มีข้อมูลบ่งบอกรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจน เป็นต้นว่า ขั้นตอนการลงทะเบียน ขั้นตอนการทดสอบระบบ และขั้นตอนการเสนอราคา ว่าแต่ละขั้นตอนผู้เข้าร่วมประมูลต้องปฏิบัติตนอย่างไร ขณะที่การประมูลโครงการอู่ตะเภาไม่ได้กำหนดขั้นตอนวิธีการต่าง ๆ อย่างละเอียดชัดเจน จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าแต่ละขั้นตอนหรือกระบวนการสามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์
- การลงทะเบียน : ในข้อเท็จจริงพบว่า กลุ่มธนโฮลดิ้งได้มาลงทะเบียนเป็นรายแรกตั้งแต่เวลา 12:20 น. (มีหลักฐานจากภาพถ่ายของสื่อมวลชน) และนั่งรออยู่ในห้องรับรอง จนกระทั่งเวลา 15:00 น. เจ้าหน้าที่จึงเรียกให้ยื่นเอกสารทีละราย ซึ่งกลุ่มบีบีเอสยื่นเป็นรายแรก และกลุ่มธนโฮลดิ้งยื่นเป็นรายสุดท้าย
- ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า “จุดลงทะเบียนบริเวณห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ยื่นข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด” จากคำกล่าวอ้างนี้ เท่ากับว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมรับว่า กลุ่มธนโฮลดิ้งอยู่ในเวลาและสถานที่ที่กำหนดแล้ว จึงไม่ได้อยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ที่กำหนด
- ผู้ถูกฟ้องคดี อ้างว่า “ผู้ที่ปฏิบัติในสถานที่ดังกล่าวล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ หากมีการดำเนินการนอกจากหลักเกณฑ์ที่กำหนด” จากคำกล่าวอ้างนี้และคำกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ เมื่อกลุ่มธนโฮลดิ้งไม่ได้อยู่นอกเหนือเกณฑ์ที่กำหนด และเจ้าหน้าที่ได้ยอมรับการคงอยู่ ตลอดจนเอกสารของกลุ่มธนโฮลดิ้งแล้ว จึงไม่มีเหตุอันใดให้ไม่พิจารณาเอกสารของกลุ่มธนโฮลดิ้ง
- ผู้ถูกฟ้องคดี ได้อ้างในศาลโดยนำคดีนี้ไปเทียบเคียงกับคดีของเอกชนรายอื่น ที่ถูกเจ้าหน้าที่ที่จุดลงทะเบียนและตรวจรับเอกสารตัดสิทธิ์การเข้าประมูล เนื่องจากมาช้าเพียง 39 วินาที เท่ากับเป็นการยอมรับในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ขณะที่คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีกลับกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เท่ากับเป็นการขัดแย้งในคำให้การของตนเอง คือยอมรับคำตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ในคดีอื่น แต่ไม่ยอมรับในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ในคดีนี้ ด้วยเหตุนี้จะสามารถเทียบเคียงคดีทั้งสองได้อย่างไร
- จากคำกล่าวอ้างที่ว่า “โครงการนี้มีการยื่นเอกสารจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายทยอยนำเอกสารมาส่ง โดยคณะกรรมการฯ เรียกรายแรกยื่นเอกสารในเวลา 15:00 น. และเรียกกลุ่มธนโฮลดิ้งยื่นในเวลา 16:45 น. ซึ่งมีเอกสารครบถ้วนทุกรายการและคณะกรรมการได้ตรวจรับไว้ทั้งหมด โดยเสร็จสิ้นในเวลา 18:00 น.” ย่อมแสดงให้เห็นว่า เมื่อรายแรกเริ่มยื่นเอกสารในเวลา 15:00 น. กระบวนการย่อมเป็นไปโดยต่อเนื่องและเกินเวลา 15:00 น. อย่างแน่นอน ดังนั้น หากผู้ถูกฟ้องคดีอ้างตามคำกล่าวว่า “คณะกรรมการได้ยึดถือในเรื่องเวลาเป็นสำคัญ โดยมีการกำหนดใน RFP ว่า เวลายื่นข้อเสนอคือ 09:00 น. - 15:00 น หากมายื่นหลังเวลา 15:00 น.จะไม่รับพิจารณา เพื่อปิดช่องไม่ให้มีการใช้ดุลยพินิจเรื่องขยายเวลา” แม้ผู้ยื่นเอกสารรายแรกก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาเช่นกัน
- คำกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า “ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดก็เคยวินิจฉัยในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท โดยตัดสิทธิผู้เข้าประมูลที่มายื่นซองช้าหลังกำหนดปิดรับซองไป 39 วินาที โดยกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้ ให้บริษัทธนโฮลดิ้งได้สิทธิเข้าประมูล เท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่น่าจะเกินเลยไป ด้วยข้อเท็จจริงของแต่ละคดีมีความแตกต่างกัน จึงไม่น่าจะถือว่าเป็นการทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการกล่าวอ้างเช่นนั้น อาจทำให้ถูกมองได้ว่า เป็นการดูหมิ่นหรือกดดันการพิจารณาของศาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอย่างเป็นกลาง หากมีใครมาวิจารณ์คำตัดสินของศาลได้ ประเทศคงเดินหน้าไปต่อยาก!!
หลายวันที่ผ่านมาเกิดประเด็นที่สื่อออกมาพาดหัวว่า ทัพเรือเดือด! หากคืนสิทธิซีพีปมอู่ตะเภาสร้างค่านิยมใหม่-ทำผิดกฎได้ ทำให้สังคมถามกลับไปว่า เดือดใคร? มีสิทธิ์เดือดหรือไม่ โดยเฉพาะบทบาทภาครัฐที่ต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน
เมื่อมีรายละเอียดที่ไม่เข้าใจกัน ศาลก็ทำหน้าที่ไปตามกระบวนการ และอย่าลืมว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ เป็นเพียงคำแถลงของตุลาการเพียงท่านเดียวเท่านั้น ยังไม่ใช่คำพิพากษา ขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องส่งสำนวนคดีไปให้องค์คณะผู้พิพากษาเพื่อตัดสินคดีต่อไป ซึ่งจะตัดสินเหมือนหรือแตกต่างจากคำแถลงของตุลาการก็เป็นได้ได้
ความเห็นส่วนตัว การสร้างกระแสดราม่าออกมาในลักษณะนี้ คงไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องการประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่า เรากำลังพัฒนาโครงสร้างพื่นฐาน ดึงดูดการลงทุน แต่ภาพที่ออกมา ดูเหมือนจะเป็นเจ้าบ้านไล่แขกเสียมากกว่า
ดังนั้น การไม่ตัดสินใจทำเอง เชิญคนมาร่วมลงทุนแล้ว การรักษาบรรยากาศที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ต้องตัดเรื่องอารมณ์และการเสียหน้า เพราะราคาค่าหน้าตาคงไม่คุ้ม หากตัดสิทธิ์แล้วผลออกมารัฐเสียหาย เวลานั้นค่าหน้าตาคงหลายหมื่นล้าน ซึ่งไม่มีใครได้ประโยชน์ ทางที่ดีเชิญชวนคนเข้ามาลงทุน ก็ว่าไปตามคำตัดสิน ตรงไปตรงมา เดินหน้าเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ดีกว่าหรือ เมื่อมีข้อสงสัยก็ว่ากันไปตามกฏหมาย แต่ต้องไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาใช้ในการตัดสิน เพราะไม่มีใครแพ้ชนะ เพราะถ้ายิ่งทร.ออกมาแสดงความไม่พอใจ จะยิ่งมีคำถามว่า มีใครเสียประโยชน์อะไรหรือไม่ จึงได้ออกอาการดราม่าผ่านสื่อ
จะว่าไปแล้ว ประเด็นในช่วงที่ผ่านมา สุ่มเสี่ยงต่อการกดดันศาล เพราะการออกมาให้ข่าว หวังพลิกคำสั่งศาลนั้น ได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ เพราะคำพิพากษาศาลปกครอง-ศาลรธน. มีข้อห้ามละเมิด วิจารณ์แง่ลบ หรือในทางกดดันศาลไว้ชัดเจน โดยมีผลผูกพันผู้วิจารณ์ และหน้าที่ในองค์กร เพื่อคุ้มครองตุลาการให้ปฎิบัติหน้าที่อย่างอิสระ ไม่ถูกคุกคาม
และหากมองลึกๆ การที่ ทร. ออกมาต่อสู้ในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีการเปิดซองราคาของกลุ่มธนโฮลดิ่งนั้น ประเทศชาติ หรือ ทร.เอง ได้ประโยชน์อะไร จากการสกัด ผู้แข่งขัน 1 ราย ไม่ให้เปิดซอง ให้เหลือเพียงผู้แข่งขันเพียง 2 ราย ผลประโยชน์ของชาติ ที่จะได้ประโยชน์จากผู้เสนอราคาที่ดีที่สุด ไม่ดีกว่าหรือ เมื่อเทียบกับการรักษาหน้าตา กับมูลค่าหลายหมื่นล้านที่แระเทศชาติอาจเสียหาย สู้ถอยคนละก้าว มาฟังคำตัดสินศาล หากตัดสินให้เปิดซอง ก็ว่าไปตามราคาทีทยื่นกันมา โดยไม่มาดราม่ากันนอกเวที ประเทศชาติก็จะเดินหน้า โครงการอีอีซีอื่นๆภายใต้ อีอีซีก็จะได้ไม่ติดขัด เพราะดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศคือ Ease of doing business หรือความง่ายในการทำธุรกิจในประเทศไทย มิใช่ต้องเหนื่อยไปใช้บริการศาลปกครอง เพราะสุดท้ายแล้วมีกฏธรรมชาติของโลกมนุษย์คือ เมื่อมีการแข่งขัน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ามาลดกลไกการแข่งขัน ก็ไม่รู้ว่าผลประโยชน์สูงสุดจะอยู่ที่ใคร