เมื่อผู้ชายก็เลี้ยงลูกได้ สวัสดิการสำหรับพ่อจำเป็นแค่ไหนในยุคนี้
เมื่อพูดถึงความเป็นพ่อ หน้าที่ที่เรามักจะได้ยินกันจนเป็นเรื่องปกติคือการเป็นช้างเท้าหน้า ทำงานหนักนอกบ้านเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ในขณะที่หน้าที่ดูแลบ้าน รวมทั้งอบรมสั่งสอนลูกจะเป็นหน้าที่ของแม่เป็นหลัก โดยที่พ่อแทบจะไม่มีบทบาทในเรื่องเหล่านี้เลย และเมื่อไรที่มีผู้ชายสักคนลุกขึ้นมาทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกเอง ก็ดูจะกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ หากพูดกันอย่างขำขันก็จะเรียกว่า “พ่อบ้านใจกล้า” บางคนถูกมองว่า “กลัวเมีย”
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ชายอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่าการทำงานบ้านและการเลี้ยงลูกไม่ใช่แค่งานของผู้หญิง แต่ผู้ชายก็สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้เช่นกัน ทว่าแนวคิดนี้ยังไม่เป็นกระแสหลัก ทำให้สังคมยังไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลเองก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของพ่อแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สลักสำคัญ แต่การขาดสวัสดิการที่ส่งเสริมบทบาทความเป็นพ่ออาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
ผู้ชายกับการเป็นพ่อบ้าน
สำหรับสถานการณ์เกี่ยวกับบทบาทของผู้ชายในการทำงานบ้านและดูแลลูกในปัจจุบันนี้ คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า จากการทำโฟกัสกรุ๊ปเรื่องผู้ชายทำงานบ้านของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าบทบาทของผู้ชายในเรื่องนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากที่ส่วนใหญ่ไม่ทำงานบ้าน และมองว่าการทำงานบ้านเป็นเรื่องของผู้หญิง ก็เริ่มมีกลุ่มผู้ชายที่ทำงานบ้านเอง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มองว่าการทำงานบ้านเป็นเรื่องธรรมดา
“คนที่เป็นรุ่นเก่าๆ อายุ 40 ปีขึ้นไป จะเข้าใจว่างานบ้านเป็นงานของผู้หญิง เขาไม่เกี่ยว ไม่ควรทำ เพราะเขาถูกปลูกฝังมาจากครอบครัวว่าไม่ต้องทำ แต่ก็มีผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งในโฟกัสกรุ๊ปนี้ ที่พ่อแม่ปลูกฝังมาว่างานนี้คุณต้องทำ เขาก็จะคิดอีกแบบนะ เขาก็จะรู้สึกว่าเขามีความละเอียดอ่อน ส่วนเด็กรุ่นใหม่ มันมีเงื่อนไขน่าสนใจตรงที่ว่า เด็กรุ่นใหม่ส่วนมากเป็นลูกคนเดียว เขาก็ต้องทำงานบ้านได้ทุกอย่าง ต้องช่วยเหลือตัวเอง จะรอให้คนอื่นทำไม่ได้ เขาก็จะไม่รู้สึกแปลกแยก เพราะว่าเพื่อนๆ ก็เป็นแบบนี้เกือบหมด”
อย่างไรก็ตาม คุณจะเด็จระบุว่า กระแสของผู้ชายทำงานบ้านยังไม่ถือว่าเป็นกระแสหลัก จึงทำให้สังคมตื่นตัวกับเรื่องนี้น้อย ยิ่งโดยเฉพาะกรณีที่ผู้ชายลาออกจากงานมาทำหน้าที่พ่อบ้าน ดูแลบ้านและเลี้ยงลูก และให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน คุณจะเด็จมองว่าสังคมไทยน่าจะยังรับเรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ ที่ฝังรากลึกในสังคม
“ผมยังไม่ค่อยเห็นผู้ชายตัดสินใจอยู่บ้านแล้วผู้หญิงทำงานนอกบ้านเท่าไร อาจจะมี แต่ไม่ค่อยมีคนออกมาพูดเรื่องนี้มาก แต่ผมเชื่อว่าสังคมยังรับไม่ได้หรอก เพราะผู้ชายส่วนหนึ่งยังยึดติดอยู่กับศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ก็เลยรู้สึกว่า เรื่องเศรษฐกิจที่เขายังเป็นผู้นำ เขาต้องดูแล จะปล่อยให้ผู้หญิงดูแลได้อย่างไร ผลกระทบคือผู้ชายที่ออกจากงานจะถูกมองว่าขี้เกียจ ปล่อยให้ผู้หญิงหาเลี้ยง” คุณจะเด็จกล่าว
สวัสดิการแด่พ่อบ้านไทย
ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีทัศนคติที่ดีต่อการเป็น “พ่อบ้าน” มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สวัสดิการจากรัฐบาลนั้นมีความพร้อมแค่ไหนที่จะสนับสนุนบทบาทใหม่ของผู้ชาย ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า วิธีคิดเรื่องสวัสดิการในสังคมไทยยังเน้นการสงเคราะห์ การช่วยเหลือคนยากจน เป็นสวัสดิการแบบเน้นการรับผิดชอบตัวเองเป็นหลัก และรัฐอาจจะมาช่วยเก็บตกเฉพาะคนยากจนบ้างเท่านั้น
“วิธีคิดเรื่องสวัสดิการของสังคมไทยมันจะมีชนชั้น คนจนก็แบบหนึ่ง พอคุณพ้นความจน คุณก็ไปขวนขวายกันเอาเอง ส่งผลให้เรื่องการศึกษาเราก็มีระดับชั้น เรามีโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐบาลก็มีห้อง Gifted แยกย่อย แล้วก็ลามไปถึงการรักษาพยาบาล การออมของคน ใครออมได้มาก มีรายได้จากการทำงานมาก ตอนแก่ก็สบาย” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว
และเมื่อเจาะลึกถึงสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้ชายโดยตรง ก็น่าตกใจยิ่งกว่า เพราะมีเพียงสิทธิของข้าราชการและลูกจ้างราชการที่สามารถลาหยุดเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้ไม่เกิน 15 วันทำการ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 เท่านั้น ในขณะที่สิทธิการลาของผู้ชายที่ทำงานภาคเอกชนยังไม่มีการระบุอย่างชัดเจนในกฎหมาย นอกจากนี้ คุณจะเด็จมองว่า สิ่งที่น่าสนใจคือยังไม่มีบุคคลหรือหน่วยงานใดติดตามผลจากการใช้สิทธิลาหยุดของข้าราชการชายนี้ ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าสิทธิการลาหยุดนี้ได้ผลจริงหรือไม่ นั่นหมายความว่า จะยังไม่มีการผลักดันให้เกิดการใช้สิทธิอย่างกว้างขวางในสาขาอาชีพอื่น
“ตอนนี้สิทธิลา 15 วัน ของข้าราชการ ไม่มีใครพูดถึงเลย บางคนอาจจะไม่รู้ หรือลืมไปแล้วว่ามันมีสวัสดิการนี้ แสดงว่าเขาไม่ใส่ใจ ผมเลยรู้สึกว่าถ้ามีคนสนใจ อย่างเช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เขาก็ต้องมาตั้งคำถามว่าสวัสดิการลา 15 วัน ทำมาตั้งหลายปีแล้ว มันเวิร์กหรือไม่เวิร์ก นี่ไม่พูดเลย แสดงว่าสังคมไทยก็ยังเชื่อว่าไม่เป็นไรหรอก สังคมไทยอยู่ได้เพราะผู้หญิงดูแลลูก เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องสนใจว่าผู้ชายจะดูแลหรือเปล่า ที่จริงแล้ว เราพูดตลอดว่าเด็กที่เกิดมาใหม่คืออนาคตของประเทศ แต่พอมาดูเรื่องนี้ปุ๊บ มันยังกลายเป็นภาระของปัจเจก ก็คือผู้หญิง” คุณจะเด็จแสดงความเห็น
ด้าน ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่า การขาดแคลนสวัสดิการที่ดีสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้เห็นว่าสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชน และงบประมาณส่วนใหญ่มักจะเทไปที่งานด้านการปกครองมากกว่า
“งบประมาณรายจ่ายประจำปีของบ้านเราอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ถ้าเราอยากได้สวัสดิการที่ดีอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิก ที่เขาใช้ระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ประเทศเราต้องใช้งบประมาณ 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งหมายความว่าจริงๆ เรามีงบเพียงพอ แต่ประเทศเราเป็นรัฐกึ่งอำนาจนิยม เพราะฉะนั้น เงินบาทแรกของประเทศก็จะไปอยู่ที่งบประมาณด้านการปกครอง การควบคุมชีวิตของคน อันนี้คือสะท้อนวิธีคิดของรัฐไทยที่เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องจัดสวัสดิการที่ดีก็ได้ เพราะเราก็มองว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของการสงเคราะห์มากกว่าการให้ระหว่างคนรวยและคนจน เราไม่ได้มองว่าต้องทำให้มันเป็นน้ำ เป็นอากาศ เป็นสิทธิที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน ชนชั้นกลาง คุณสามารถได้รับการอุดหนุนจากรัฐด้วยระบบเดียวกันที่ดีได้” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว
เมื่อประเทศไทยไร้สวัสดิการครอบครัว
เมื่อมองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ไม่มีสวัสดิการที่ส่งเสริมบทบาทของผู้ชายในการดูแลครอบครัว ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ให้ความเห็นว่าไม่ควรจะมองแยกเป็นสวัสดิการของเพศชายหรือเพศหญิง เพราะทุกคนในสังคมล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องมองในระดับครอบครัว โดยเริ่มที่สวัสดิการพื้นฐานของผู้หญิง อย่างสิทธิการลาคลอด ที่ประเทศไทยให้สิทธิลาคลอดแก่ผู้หญิงทั้งหมด 98 วัน ซึ่งนอกจากจะไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแล้ว ยังเป็นสิทธิที่ให้เฉพาะคนงานที่มีนายจ้าง แต่แรงงานนอกระบบกลับไม่ได้รับสิทธินี้ ดังนั้น ผู้หญิงจำนวนมากจึงต้องลาออกจากงาน เพื่อไปเลี้ยงลูก และหากจะกลับไปทำงาน หลายคนต้องทำงานฟรีแลนซ์ ส่วนแรงงานในระบบก็มักจะต้องเผชิญกับค่าจ้างและเงื่อนไขการทำงานที่แย่ลง เช่น จากที่เคยเป็นลูกจ้างรายเดือน ก็ถูกปรับเป็นลูกจ้างรายวัน ในขณะที่ผู้ชายไม่ต้องลาออกจากงาน และยังได้เลื่อนตำแหน่ง
“ผลจากการที่ผู้หญิงลาคลอดได้น้อย ทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำระหว่างเพศขึ้นมาในครอบครัว ลองนึกภาพผู้หญิงที่ต้องลาออกมาเลี้ยงลูก 2 ปี 3 ปี มันคือแรงของคนหายไป 1 คน ถ้าผู้ใช้แรงงานได้รับค่าจ้างประมาณ 12,000 – 13,000 บาทต่อเดือน พอรายได้ส่วนนี้หายไป พ่อซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เทียบเท่า 25,000 – 26,000 บาท อย่างที่เคยมี ลักษณะนี้ก็จะไปผลิตซ้ำค่านิยมชายเป็นใหญ่ และความเป็นพ่อก็จะเกิดการกดทับ ส่งต่อไปที่ลูก ภรรยา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ เมื่อพ่อกลายเป็นกระเป๋าเงินของบ้าน สิ่งที่ตามมาก็คือความคาดหวัง ว่าต่อไปลูกต้องทำงานแบบนี้ ต้องมีชีวิตแบบนี้ เพื่อที่จะมีชีวิตที่มั่นคงตามมา มันก็จะเป็นความฝันของพ่อที่ถูกส่งต่อแบบเข้มงวดมาที่ลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ความเครียดก็จะเพิ่มมากขึ้น การทำงานบ้าน การมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกก็จะหายไป” ดร.ษัษฐรัมย์ระบุ
รัฐสวัสดิการกับบทบาทของพ่อ
สำหรับแนวทางในการสร้างสวัสดิการที่ส่งเสริมบทบาทของผู้ชายในการดูแลครอบครัว คุณจะเด็จกล่าวว่า ในการจัดสวัสดิการ ไม่ควรจะจำกัดเพียงสวัสดิการแม่และเด็ก แต่ต้องเป็นสวัสดิการที่รวมผู้ชายให้เข้าไปมีบทบาท รวมทั้งครอบครัวที่เป็นเพศทางเลือกด้วย นอกจากนี้ ควรต่อสู้ให้ผู้ชายได้มีสิทธิลาไปเลี้ยงลูกให้ได้ ตามด้วยสวัสดิการเรื่องงานและรายได้เสริมต่างๆ ในรูปของกองทุน ในกรณีที่ผู้ชายต้องลาออกจากงาน หรือไม่สามารถประกอบอาชีพได้เต็มตัว ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นที่จะให้ได้มาซึ่งสวัสดิการครอบครัวที่ดี คือภาคประชาสังคมต้องพยายามสื่อสารให้รัฐและสังคมเข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ และสร้างสังคมที่ดีในระยะยาว
“สังคมไทยเชื่อว่าการเลี้ยงลูกเป็นภาระของผู้หญิง ยิ่งถ้าให้ผู้ชายลา มันต้องตีให้เข้าใจเลยว่าถ้าผู้ชายมีสิทธิลาไปเลี้ยงลูกจะช่วยให้ครอบครัวดีขึ้นอย่างไรบ้าง ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวลดลงไปถึงไหน คือไม่ใช่แค่พยายามพูดว่ามันทำให้ชีวิตผู้หญิงดีขึ้นเท่านั้น มันต้องทำให้สังคมทั้งสังคมดีขึ้น มันถึงจะเข้าใจได้ ซึ่งถ้าสามารถทำตรงนี้ออกมาได้ชัดๆ ก็คงทำให้เกิดกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ” คุณจะเด็จกล่าว
เมื่อถามว่ารัฐและสังคมจะได้อะไรจากการจัดสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า คุณจะเด็จอธิบายว่า สวัสดิการที่ดีจะสร้างแรงจูงใจให้คนอยากมีลูก เพราะคนจะมองเห็นถึงทางเลือกและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ทั้งของตัวเองและของลูกที่จะเกิดมา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาด้านประชากรที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่
“สวัสดิการเรื่องนี้จะทำให้คนอยากมีลูกมากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าเขาได้หยุด และเขารู้สึกว่าเขามีทางเลือกเพิ่มขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถทำให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมันมีเงินที่จะให้เด็ก และในอนาคตอาจจะมีศูนย์เลี้ยงเด็กที่คุณไม่ต้องจ่ายมาก เป็นสวัสดิการของรัฐ หรืออีกทางหนึ่งคือคุณให้สามีมีสิทธิที่จะมาเลี้ยงลูกด้วยสัก 1 เดือน หรือ 2 เดือน อันนี้มันคือแรงจูงใจที่ทำให้คนรู้สึกว่าความมั่นคงเรื่องครอบครัวมันมีแนวโน้มที่ดี” คุณจะเด็จกล่าว
นอกจากนี้ คุณจะเด็จยังกล่าวว่า หากผู้ชายสามารถลาหยุดเพื่อมาช่วยเลี้ยงลูกได้ ก็จะช่วยให้ความเครียดของผู้หญิงลดลง และความสัมพันธ์ในครอบครัวก็จะดีขึ้น จากการที่ทั้งคู่ช่วยกันเลี้ยงดูลูก เกิดการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ชาย และอาจทำให้ความรุนแรงในครอบครัวลดลงด้วย เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ที่มองว่ารัฐสวัสดิการสามารถลดความรุนแรงในครอบครัวได้
“ประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดี ที่เรียกว่าเป็น Household welfare เป็นสวัสดิการที่ให้แก่ครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลี้ยงเด็ก เรื่องสุขภาพ เรื่องบำนาญ เขาบอกว่าความรุนแรงในครอบครัวก็จะต่ำ เพราะสาเหตุความรุนแรงในครอบครัวใหญ่ๆ มักจะมาจากเรื่องทางเศรษฐกิจ พอมันปลดล็อกเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว คนก็มีเวลาด้วยกันมากขึ้น ได้คุยกันมากขึ้น บางทีมันก็ไปไกลถึงขนาดว่า แม้จะมีลูกด้วยกัน คุณก็หย่ากันได้ แยกกันอยู่ได้ ไม่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะความตึงเครียดทางเศรษฐกิจมันน้อย” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศนอร์ดิกว่า
“ในกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการ การลาคลอดของแม่ รวมถึงการเลี้ยงดูเด็ก อยู่ที่ 480 วัน แล้วก็สามารถที่จะแชร์ให้พ่อใช้ได้ด้วย การที่มีสวัสดิการแบบนี้ มันช่วยให้ผู้หญิงสามารถเก็บงานไว้ได้ และพ่อก็สามารถที่จะมีส่วนในการดูแลครอบครัวได้ สิ่งเหล่านี้มันลดความแข็งกร้าวของการเป็นชายลง แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ที่ผู้ชายสามารถทำได้ ไม่ได้เสียศักดิ์ศรี และช่วงลาหยุดนี้ ยังทำให้ผู้ชายมีช่วงเวลาที่ค้นหาตัวเองได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ความเข้าใจเพศอื่นก็จะมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การเป็นพ่อ การลาพักร้อนที่ประเทศกลุ่มนี้มีให้เยอะ ปีหนึ่งประมาณ 25 วัน ก็ทำให้พ่อสามารถใกล้ชิดกับลูกในช่วงเวลาที่สำคัญ แต่ในเมืองไทย กว่าคุณจะมีวันลาได้เยอะแบบนั้น คุณอาจจะต้องอายุสัก 50 ปี ที่คุณเป็นหัวหน้า แต่ช่วงเวลานั้น ลูกคุณก็โตแล้ว”
ยิ่งกว่านั้น ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ยังอธิบายเพิ่มว่า รัฐสวัสดิการเป็นบันไดขั้นแรกสู่สังคมที่ดี เพราะสวัสดิการที่ดีจะทำให้คนสามารถใฝ่ฝันเรื่องอื่นได้มากขึ้น นอกเหนือจากการทำงานเพื่อความอยู่รอด
“ผมคิดว่าลูกก็จะมีทางเลือกมากขึ้น พ่อแม่ก็จะไม่เอาความฝันของตัวเองมาใส่ให้ลูก อย่างทุกวันนี้ พ่อแม่คนไทยที่ประเทศไม่ได้มีระบบสวัสดิการที่ดีก็รู้สึกว่าพื้นที่ข้างล่างมันน่ากลัว แล้วต่อไปเราจะอยู่ดูแลลูกไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องลงทุนให้ลูกทุกอย่าง เพื่อให้เขามีชีวิตที่มั่นคงในอนาคต มีชีวิตที่มีความสุข มีคู่ครองที่ดี นอกจากนี้ ถ้าเรามีสวัสดิการที่ดี ก็จะทำให้เราใฝ่ฝันเรื่องอื่นได้มากขึ้น เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการมีส่วนร่วมทางสังคม เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ และสังคมที่มันมีความเสมอภาค จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า”
ในแง่ของเศรษฐกิจ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ระบุว่า สวัสดิการที่ดีจะช่วยให้คนมีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย ซึ่งจะทำให้มีเวลาในการเลือกงานที่ตัวเองชอบและทำได้ดี หรือเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตัวเอง สามารถทุ่มเทกับงานได้เต็มที่ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่
“ตอนนี้เราไม่สามารถว่างงานได้ มีอะไรมา เราก็ต้องทำไปก่อน แล้วมันก็ทำให้คุณภาพการทำงานของเราแย่ลง คนต่างจังหวัดต้องเข้าสู่เมืองใหญ่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ระยอง เพราะว่ามันมีค่าจ้างและสวัสดิการที่ดี แต่ลองนึกถึงว่าถ้าบัตรประชาชนใบหนึ่งของเราทำให้เรามีสวัสดิการทัดเทียมกับพนักงานบริษัทชั้นนำ คุณก็อยู่ที่อุตรดิตถ์ อยู่ที่ลำปางได้ และ SME ที่อยู่ตามต่างจังหวัดก็มีโอกาสที่จะได้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เศรษฐกิจชุมชนขยาย แล้วมันก็ทำให้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้มากขึ้น ทำให้สวัสดิการในระดับท้องถิ่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นก็จะดีขึ้นตามมา สวัสดิการมันทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมันเกิดขึ้นได้ และคนก็ไม่ถูกทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรัสเซีย อย่างจีน แต่ว่ามันก็ไปของมันได้ และคนก็เติบโตไปด้วยกันได้” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์สรุป