"ฟอร์บส" จัดอันดับ 100 สตรีทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลก ประจำปี 2019
ผู้หญิง 100 คนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) มีทั้งหน้าเก่าที่เราเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามกันมานาน และหน้าใหม่ ที่ อิทธิพลและความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ทำให้พวกเธอได้เข้ามาอยู่ในลิสท์ของปีนี้
สามอันดับแรก หนีไม่พ้นสตรีที่อยู่ในแวดวงการเมืองและทรงอิทธิพลอย่างมากในเวทีโลก โดย แองเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี รั้งอันดับหนึ่งติดต่อกันมาเป็นปีที่ 9 แมร์เคิลยังเป็นผู้นำหญิงเพียงคนเดียวในกลุ่มประเทศ G20
ตามมาติด ๆ คือ คริสตีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ที่เพิ่งเปลี่ยนงาน จากการเป็นกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF มานั่งเก้าอี้ประธานของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) หรือ ECB เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทำให้เธอเป็นผู้กุมนโยบายการเงินของ 19 ประเทศสมาชิกที่ใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน
ในขณะที่อันดับสาม ตกเป็นของ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่โดดเด่นด้วยบทบาทแกนนำสำคัญในกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง
AFP
ฟอร์บสตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้นำประเทศในปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อสิบปีก่อน แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดที่ยังมีอยู่ ปัจจุบันมีผู้นำหญิงเพียงร้อยละ 5 ของผู้นำประเทศทั่วโลก และมีเพียงร้อยละ 24 ที่ได้ที่นั่งในสภา
แต่ในภาพรวม ฟอร์บสมองว่าอิทธิพลทางการเมืองของผู้หญิงมีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสตรีหน้าใหม่ในการจัดอันดับครั้งนี้ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินเดีย ที่อยู่ในอันดับ 34 รวมทั้งผู้นำหญิงคนแรกของประเทศเบลเยียมและประเทศสโลวาเกีย ในขณะที่ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิง เหวิน (Tsai ing-wen) ครองอันดับที่ 41
วงการบันเทิง เป็นอีกวงการหนึ่งที่ฟอร์บสมองว่าผู้หญิงใช้ความดัง บทบาทและอิทธิพลที่มากขึ้น สร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่มาเป็นเวลานาน
AFP
คนดังหน้าใหม่ที่ติดอันดับของฟอร์บสในปีนี้ ได้แก่ ริฮานนา (Rihanna) นักร้องสาววัย 31 ปี และรีส วิทเธอร์สปูน (Reese Witherspoon) นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Legally Blonde และ Walk the Line ที่ผันตัวมาทำบริษัทผลิตภาพยนตร์และสื่ออื่น ๆ ของตัวเอง
ฟอร์บสยกย่องว่าริฮานนา กำลังจะกลายเป็นเจ้าแม่วงการบันเทิงคนหนึ่ง เธอไม่เพียงแต่จะเป็นนักร้องดัง แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นสตรีผิวสีคนแรกที่สร้างแบรนด์ Fenty ร่วมกับ LVMH เจ้าของแบรนด์หรูจากฝรั่งเศส Fenty ทำเงินไปแล้วประมาณ 600 ล้านดอลล่าร์ภายในเวลาแค่สองปีหลังจากเปิดตัว
นอกจากนี้ ฟอร์บสยังได้รวมเศรษฐินีถึง 13 คน ไว้ในการจัดอันดับในปีนี้ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วพวกเธอมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 87,000 ล้านดอลล่าร์ นำโดย อบิเกล จอห์นสัน (Abigail Johnson) ประธานและซีอีโอของบริษัทให้บริการด้านการลงทุน Fidelity Investments และ ซาฟรา คาทส์ (Safra Catz) ซีอีโอของ Oracle บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
AFP
ใน 13 คนนี้ มี 7 คนที่ฟอร์บสเรียกว่าเป็น อภิมหาเศรษฐีที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาเอง เช่น เชอริล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberg) ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการของ Facebook และยังมีเศรษฐินีจากเอเชีย อย่าง Nguyen Thi Phuong Thao เจ้าของ VietJet Air และ Lee Boo-jin ผู้บริหาร Hotel Shilla เครือข่ายโรงแรมและศูนย์ประชุมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้
ส่วนผู้หญิงคนสุดท้ายที่เข้ามาอยู่ในอันดับที่ 100 ไม่ใช่นักการเมืองหรือซีอีโอ ไม่มีตำแหน่ง หรือเงินถุงเงินถัง แต่ความกล้าหาญของเธอ ทำให้ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thundberg) เป็นผู้หญิงอายุน้อยที่สุดที่ฟอร์บสยกย่องให้อยู่ในลิสท์ หลังจากที่เกรต้าเพิ่งถูกจัดให้เป็นบุคคลแห่งปีโดยนิตยสาร ไทม์ ไปเมื่อต้นสัปดาห์
>> นิตยสารไทม์ ยกย่อง "เกรตา ธันเบิร์ก" เป็นบุคคลแห่งปี 2019
AFP
ฟอร์บสมองว่าถ้อยคำของเกรต้า ทำให้เธอมีอำนาจที่สตรีคนอื่นๆ ไม่มี เกรต้าเป็นผู้ที่เป็นข่าวมากที่สุดคนหนึ่งของปี จะเป็นรองเพียงแต่ แองเกลา แมร์เคิล และ แนนซี เพโลซี เท่านั้น
เกรต้า เพียงลำพัง อาจจะไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่มนุษย์ทำต่อสิ่งแวดล้อมของโลกได้ แต่ความตั้งใจอันหนักแน่น และคำพูดตรงๆ ที่ทิ่มแทงใจหลายคนของเธอ โดยเฉพาะประโยคอมตะ “How dare you?” หรือ “กล้าดียังไง” เป็นสิ่งที่ฟอร์บสมองว่า ไม่มีใครสามารถมองข้ามไปได้