ภาษีผ้าอนามัย ไม่มีจริง พาณิชย์ยันเป็นสินค้าควบคุม

ภาษีผ้าอนามัย ไม่มีจริง พาณิชย์ยันเป็นสินค้าควบคุม

ภาษีผ้าอนามัย ไม่มีจริง พาณิชย์ยันเป็นสินค้าควบคุม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เพื่อชาติ” โป๊ะแตก! สรรพสามิตแจง ไร้จัดเก็บภาษีผ้าอนามัย พาณิชย์ชี้ยังเป็นสินค้าควบคุม ห้ามเปลี่ยนแปลงราคาเกินกว่าที่กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ธ.ค.62) จากกรณี น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเก็บภาษีในอัตราสูง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย น.ส.เกศปรียา กล่าวว่า ไหน พล.อ.ประยุทธ์ คุยนักคุยหนาว่าอ่านหนังสือเยอะ รู้ทุกเรื่อง แต่เรื่องแค่สิทธิพื้นฐานของประชากรสตรี ทำไมถึงไม่ทราบ

>> #ภาษีผ้าอนามัย พุ่งติดเทรนด์ออนไลน์อย่างไว หลังฝ่ายค้านจุดกระแสรัฐบาลเตรียมขึ้นราคา

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว แหล่งข่าวจากกรมสรรพาสมิต เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยนั้น ไม่เป็นความจริง โดยที่ประชุม ครม.ไม่มีการอนุมัติให้จัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงผ้าอนามัยแต่อย่างใด

“จากที่มีการอ้างอิงว่า เป็นมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 62 นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากขณะนี้ ผ้าอนามัยถูกจัดอยู่ในประเภทสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ โดยสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่สรรพสามิตเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บรายได้นั้นมีเพียงเครื่องดื่มน้ำอัดลมเท่านั้น” แหล่งข่าวกรมสรรพสามิตกล่าว

ด้าน แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผ้าอนามัย ถือเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมประเภท สินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ปี 2562 จำนวน 52 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า และ 6 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตามที่กระทรวงพาณิชย์ ที่ประกาศรายการสินค้าและบริการควบคุม เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 62

ทั้งนี้ สินค้าและบริการควบคุม จะต้องห้ามเปลี่ยนแปลงราคาเกินกว่าที่กำหนดหรือหากจะมีการเปลี่ยนแปลงราคา ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยหลักเกณฑ์ในการกำหนดสินค้าควบคุมนั้น จะมีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พิจารณากำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม ไว้ดังนี้ คือ

- เป็นสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพ

- เป็นสินค้าที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิตต่อเนื่อง

- โครงสร้างตลาดมีผู้ผลิตหรือผู้ขายน้อยราย สภาพตลาดไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร

- เป็นสินค้าที่มีเทคนิคการผลิตและการลงทุนสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ค่อนข้างยาก

- เป็นสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวด้านราคาบ่อยครั้งหรือขึ้นผิดปกติ และปริมาณขาดแคลนในบางครั้ง

- เป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาในตลาดโลกมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook