“Underage” เมื่อศิลปะไม่ได้มีแค่เสรีภาพ แต่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

“Underage” เมื่อศิลปะไม่ได้มีแค่เสรีภาพ แต่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

“Underage” เมื่อศิลปะไม่ได้มีแค่เสรีภาพ แต่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดแสดงวิดีโอ “Underage” โดยศิลปิน “โอม พันธุ์ไพโรจน์” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กชายที่ขายบริการทางเพศ พร้อมเปิดเผยหน้าตาและข้อมูลส่วนตัวของเด็กเหล่านั้นอย่างละเอียด ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม แม้ว่าสุดท้าย ทางหอศิลป์จะตัดสินใจระงับการจัดแสดงวิดีโอดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจให้สังคมได้ขบคิดต่อในหลายแง่มุมทีเดียว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเสรีภาพในการทำงานศิลปะและสื่อสารคดี รวมทั้งแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน

จริยธรรมในงานศิลปะ

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้สารคดีความยาว 7 นาทีนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือการเปิดเผยหน้าตาและข้อมูลเกี่ยวกับโสเภณีเด็กชาย ทั้งชื่อ อายุ รสนิยมทางเพศ ที่อยู่ ครอบครัว และข้อมูลเกี่ยวกับการขายบริการของเด็กๆ รวมทั้งการที่ภาพของเด็กๆ ถูกถ่ายไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่าปัจจุบัน เด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และอาจจะมีครอบครัวแล้ว ทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงหลักปฏิบัติในการถ่ายทำสารคดี ซึ่งกรณีนี้ อาจารย์จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า หลักจริยธรรมที่สำคัญในการถ่ายทำสารคดีข้อหนึ่งคือ ผู้สร้างสารคดีจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ “ซับเจ็กต์” หรือบุคคลในเรื่องด้วย โดยจะต้องระมัดระวังไม่ให้ซับเจ็กต์ถูกโจมตีหรือถูกมองในแง่ลบ

“แต่กรณีของงานที่แสดงที่หอศิลป์กรุงเทพ ด้วยความที่ตัวผู้กำกับไม่ได้จงใจให้เด็กๆ ดูแย่ เขาแค่ต้องการพูดถึงปัญหา มันก็เลยน่าคิดว่าเขาตั้งใจไว้แล้วหรือเปล่า หรือเขาแค่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบตรงนี้ ถ้าเป็นความตั้งใจ มันก็อาจจะหมายความว่าเขาต้องการทำให้ประเด็นมันรุนแรงขึ้นมา และผลักดันประเด็นนี้ ในแง่หนึ่งมันก็สะท้อนภาพปัญหาเรื่องนี้จริงๆ คือเรื่องค้าประเวณีเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันอยู่ในสังคมเรามานานมากแล้ว และไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหาทางแก้ไขหรือจัดการ แต่ถ้าผู้กำกับต้องการใช้วิธีการนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการที่ตัวซับเจ็กต์เป็นเด็ก” อาจารย์จิรวัฒน์กล่าว

ในขณะเดียวกัน สารคดีชุดนี้ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งในหอศิลป์ ซึ่งในแง่นี้ อาจารย์จิรวัฒน์กล่าวว่า หากมองในมุมของศิลปะ การทำงานก็ดูจะมีอิสระมากกว่า แต่ศิลปินก็ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน เช่นเดียวกับศิลปินระดับโลกมากมายที่ต้องการ “ระเบิดตัวเอง” เพื่อสื่อสารข้อความบางอย่างไปสู่ชาวโลก และยินดีรับผลที่ตามมา ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม

ด้านอาจารย์ ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์และอาจารย์สอนศิลปะ ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพในงานศิลปะว่า ที่จริงแล้ว ศิลปะไม่ใช่แค่การมีเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น แต่ต้องมาพร้อมกับจริยธรรมด้วย โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความอ่อนไหวเช่นนี้

“จริงๆ แล้วคำว่าศิลปะจะเป็นอะไรก็ได้ หรือศิลปะต้องมีเสรีภาพ มันค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับกระบวนการทำงานศิลปะในบ้านเรามาก เพราะว่าเราไม่เคยเข้าใจว่าจริยธรรมไม่ใช่เรื่องของศาสนา ไม่ใช่เรื่องของศีลธรรม แต่เรามักจะเอาจริยธรรมกับศีลธรรมไปพ่วงกัน กลายเป็นข้อห้าม แต่มันไม่ใช่ จริงๆ แล้วจริยธรรมมันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ เรื่องเด็กเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหวมาก ในแง่การเอามาใช้เป็นซับเจ็กต์ และสุดท้ายก็กลายเป็นเพียงวัตถุ ผมว่านี่มันลดทอนความเป็นมนุษย์ของซับเจ็กต์ลงไปมากเลย นี่คือปัญหา” อาจารย์ ดร.ถนอมกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าศิลปินเจ้าของผลงานอาจจะได้รับการยินยอมจากซับเจ็กต์ให้เปิดเผยหน้าตาและข้อมูลส่วนตัว แต่ก็ไม่ควรลืมว่า ณ ช่วงเวลานั้น ซับเจ็กต์อาจจะยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะรู้ว่าการตัดสินใจของตัวเองจะนำไปสู่อะไร

“อย่าลืมว่า ณ เวลานั้น วุฒิภาวะของซับเจ็กต์มีเท่าไร อายุ 12, 13, 14, 15 เขาอยู่ในภาวะที่ต้องหาเงิน ฉะนั้น การที่จะไปบอกว่าตกลงกันแล้ว แต่วุฒิภาวะตอนนั้นสามารถที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองได้ไหมในสถานการณ์นั้น เพราะฉะนั้น ศิลปินต้องมีจริยธรรมพอที่จะคิดว่า ถ้าเอาเขามาใช้ ปัญหาที่จะตามมาคืออะไร” อาจารย์ ดร.ถนอมกล่าว

เช่นเดียวกับอาจารย์จิรวัฒน์ ที่มองว่าแม้จะมีการตกลงกันระหว่างศิลปินกับซับเจ็กต์ แต่ในเมื่อเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะและประสบการณ์ที่มากพอในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ศิลปินก็ควรจะต้องปกป้องสิทธิของเด็ก เพื่ออนาคตของเด็กกลุ่มนี้

สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กชายที่ขายบริการนั้น ไม่ใช่แค่สร้างตราบาปติดตัวเด็ก แต่ยังกระทบไปถึงคนรอบข้างและคนอื่นๆ ในสังคมอย่างคาดไม่ถึง ซึ่ง คุณวาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้ความเห็นว่า

“คนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่ตัวเด็กอย่างเดียว แต่ยังกระทบถึงคนแวดล้อมเขาด้วย เพราะจะเห็นว่าเขาเปิดเผย ทั้งชื่อ ที่อยู่ คนเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวไง มันมีเครือญาติ มีครอบครัว มีนามสกุล ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีคนที่นามสกุลเหมือนกัน ก็จะมีกรณีที่คนถามว่าคนนี้เป็นญาติเธอหรือเปล่า ก็จะทำให้มันไปกระทบคนอื่นอีกหลายคนเลย เราเห็นภาพงานนี้ครั้งแรกตอนที่เพื่อนส่ง inbox มาในเฟซบุ๊ก เขาบอกว่าตอนนี้มันผ่านไป 10 ปีนะ ถ้าเกิดว่าลูกเขามารับรู้ว่าพ่อเขาเคยผ่านประสบการณ์นี้มา จะเกิดอะไรขึ้น ก็แสดงว่าคนที่ได้รับผลกระทบก็เป็นคนในรุ่นต่อมา ซึ่งอาจจะเป็นเด็กอีก มันก็พัวพันไปกันหมด แต่ผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือผลกระทบต่อความเป็นปกติของเขา” คุณวาสนากล่าว

เสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

แม้ขณะนี้ทางหอศิลป์กรุงเทพจะระงับการจัดแสดงผลงานดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ จากผู้จัดงานหรือศิลปิน ซึ่งทั้งอาจารย์จิรวัฒน์และอาจารย์ ดร.ถนอมเห็นตรงกันว่า ศิลปินควรแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสังคมจะเรียกร้องหรือไม่ก็ตาม

“ถ้าระงับก็แสดงว่าคุณรู้สึกผิด แต่ในเมื่อรู้สึกผิด และคุณอยากจะแสดงความกล้าหาญ จะฉายต่อหรือจะแถลงข่าวก็บอกมาว่าจะเอาอย่างไร คุณมีทัศนะอย่างไรต่อการเอาเรื่องการค้าประเวณีเด็กขึ้นมาโดยไม่มีการปิดบังอำพรางใบหน้าใดๆ ผมเรียกร้องให้ศิลปินและภัณฑารักษ์ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ไม่ใช่ว่าพอเจอความผิดแล้วก็ปิด ไม่ฉายแล้ว แล้วก็เจ๊ากันไป อย่าให้สังคมเป็นแบบนี้เลย ถ้าคุณจะเป็นแนวหน้าในกระบวนการทางศิลปะ ต้องกล้าพอที่จะมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น” อาจารย์ ดร.ถนอมกล่าว

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.ถนอมยังเน้นย้ำอีกว่า ภัณฑารักษ์ที่ทำหน้าที่คัดสรรผลงานเพื่อจัดแสดง จะต้องมีบรรทัดฐานในการคัดสรรผลงานอีกด้วย

“ภัณฑารักษ์ต้องมีบรรทัดฐานในการที่จะเลือกงานที่มันมีวุฒิภาวะมากพอที่จะสะท้อนออกมาได้ ผมว่าทุกวิชาชีพ ทุกสาขาอาชีพต้องมีจริยธรรม ไม่ใช่เฉพาะในวงการศิลปะ แม้แต่นักวิจัยก็ต้องมีจริยธรรม จริยธรรมในตัวมนุษย์ก็ต้องมี คือการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้ มันจะไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดหรอก มันจะเกิดขึ้นซ้ำซาก ถ้าไม่มีกระบวนการที่จะตรวจสอบกันในเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าศิลปินไม่มีเสรีภาพนะ มีครับ แต่เสรีภาพมันต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ” อาจารย์ ดร.ถนอมระบุ

เอาใจเขามาใส่ใจเรา

“อะไรๆ ก็เป็นศิลปะได้ ผมว่าไม่ใช่แล้ว ต้องคิดให้ดีๆ โดยเฉพาะเรื่องของเยาวชน ถ้าเราจะเอามาเป็นซับเจ็กต์ในกระบวนการทำงาน ผมว่าต้องคิดให้หนัก เพราะปัญหาการข่มขืน การใช้ความรุนแรงจากความเป็นชายมันสูงมากในบ้านเรา กล้องก็ไม่ได้ต่างจากอวัยวะเพศชายที่เอามาทิ่มแทงในการที่ไปถ่ายเขา ผมว่าน่ากลัว” อาจารย์ ดร.ถนอมเปิดประเด็นถึงแนวทางในการสร้างผลงานศิลปะที่สะท้อนสังคม ซึ่งแนวทางที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือการที่ศิลปินใช้ตัวเองในการสื่อสาร

กระบวนการในการทำงานศิลปะไม่ใช่เรื่องของการที่จะเล่นอะไรทื่อๆ ตรงๆ แบบนี้ มันมีกระบวนการในการใช้ วัตถุอย่างอื่น การตีความ หรือว่าใช้ตัวเองก็ได้ มีศิลปินที่ใช้ตัวเองในการแสดงออกเยอะมาก ศิลปะก็คือภาพแทน เพราะฉะนั้น การสร้างภาพแทนเพื่อให้คนตีความ ระดับความรุนแรง ระดับการเข้าถึง มันก็สามารถสะท้อนได้มากกว่า แต่งานชิ้นนี้มันคือภาพตรง ไม่ได้กลั่นกรองอะไรเลย ไม่มีกระบวนการทางศิลปะอะไรเลย” อาจารย์ ดร.ถนอมขยายความ

ด้านคนทำงานเกี่ยวกับสิทธิเด็กอย่างคุณวาสนาก็มองว่า ทั้งศิลปินและสื่อสามารถนำประเด็นดังกล่าวนี้ไปต่อยอดการทำงานได้อีก โดยที่ไม่ต้องละเมิดสิทธิของเด็ก เช่นการตั้งคำถามกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหานี้

“เราสามารถเอาวิกฤตนี้ไปต่อยอดการทำงานทางสังคมมุมอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามันมีปรากฏการณ์ที่สวนสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีบางคนมาทำลักษณะนี้ และมีบางคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก คนที่รับผิดชอบพื้นที่หรือตำรวจมีมุมมองอย่างไร สถานการณ์นี้ยังมีอยู่ไหมในปัจจุบัน ถ้าคุณเห็นว่ายังมีพฤติการณ์เหล่านี้อยู่ คนที่จะต้องตอบคำถามก็คือเจ้าหน้าที่ กทม. เป็นต้น”

และเมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหรือผลิตสื่อ คุณวาสนาให้ความเห็นว่า โดยทั่วไปเรามักจะมองไปที่กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของเด็ก ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่คุ้มครองเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็ก ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนก็จะมีความผิด อย่างไรก็ตาม หลักคิดที่ศิลปินและสื่อมวลชนควรยึดถือไว้คือวลีง่ายๆ อย่าง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

“ถ้าเป็นเรื่องเด็ก เพดานในการคิดเรื่องนี้จะต้องต่ำมากๆ หมายความว่ามันต้องแตะเพดานเร็ว เพราะมันเซนซิทีฟมาก ดังนั้นเราน่าจะใช้หลักการง่ายๆ เลย คือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ถ้าเราถูกกระทำอย่างนั้นบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร แทนที่จะคิดว่าสิ่งที่เราทำมันก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวเราหรือเปล่า เราจะโดนกฎหมายเล่นงานหรือเปล่า มันน่าจะคิดถึงผลกระทบของคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงกับการนำเสนอของเรา” คุณวาสนาสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook