"นักอาชญาวิทยา" ชี้ "สมคิด พุ่มพวง" เหี้ยมเกินมนุษย์ หลุดคุกศพที่ 7 มีแน่

เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังต้องเกาะติดสถานการณ์กันต่อไป สำหรับ "สมคิด พุ่มพวง" ฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง 6 ศพ ซึ่งถึงแม้จะถูกจับกุมตัวไปแล้ว แต่สังคมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะรอดออกจากคุกอีกหรือไม่
รายการ "เรื่องลับมาก (NO CENSOR)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.55 - 14.50 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (19 ธ.ค.) "ดร. เสรี วงษ์มณฑา" ได้เปิดใจสัมภาษณ์ "รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ พูตระกูล" ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย มหาวิทยาลัยรังสิต นักอาชญาวิทยา ซึ่งมาพร้อม "ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต"
คนฆ่าได้ 5-6 ศพ มันเกิดจากอะไร?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "ถ้าเราย้อนปูมหลังนายสมคิด พบว่าเขามีปัญหาการขัดเกลาสังคมตั้งแต่วัยเด็ก คนเราจะผ่านการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว สถาบันการศึกษาก่อนเข้าสู่ระดับชุมชน สมคิดมาจากครอบครัวมีปัญหา พ่อแม่หย่าร้าง ต่อมาออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร จากข้อมูลวิชาการถ้าเด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ถ้าไม่ให้เขาเข้ามาสู่บรรทัดฐานของสังคม เขาจะก็ยิ่งเบี่ยงเบนไปเรื่อยๆ และละเมิดกฎหมาย ซึ่งหากไม่ฟื้นฟูพฤติกรรมเขาตั้งแต่ขณะนั้น เขาจะละเมิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น ต่อไปก็จะเป็นสันดาน คนมักมีคำถามว่านายสมคิดมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ อันนี้ทางแพทย์วินิจฉัยได้ แต่เท่าที่ประเมินคร่าวๆ คิดว่าเขาไม่น่ามีความผิดปกติทางจิต ดูจากวิธีการคิด การหลอกลวงในการก่อเหตุของเขา"
หลายคนบอกว่าเขาเลียนแบบแจ็ค เดอะริปเปอร์?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "ต้องเรียนว่าแจ็ค เดอะริปเปอร์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในกรุงลอนดอน เมื่อ 130 ปี ช่วงเวลานั้นเกิดในย่านสลัม โสเภณีถูกฆ่าโหดร้ายกว่านายสมคิด มีการกรีดท้อง ควักไส้ แต่คล้ายกันตรงที่ว่าเขาก่อเหตุกับโสเภณี คนในกลุ่มนี้เขาต้องการเงิน แจ็ค เดอะริปเปอร์ก็อาศัยตรงนี้ไปต่อรองเขา สุดท้ายมีการฆาตกรรมเกิดขึ้น"
สมคิดเลือกเหยื่อต่างกันยังไง แรงจูงใจต่างกันยังไง?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "ช่วงที่เขาก่อเหตุ ศพที่ 1-5 เขาจะเลือกเหยื่อเป็นหมอนวด นักร้องคาเฟ่ เพราะเขามองว่าเหยื่อกลุ่มนี้สามารถตอบสนองทางเพศเขาได้ หลอกลวงได้ง่าย ใช้เงินเป็นแรงจูงใจในการหลอกลวง ประการต่อมา เขามองว่ากลุ่มนี้ต้องการเงิน ก็ใช้เงินหลอกล่อ สุดท้ายตอบสนองความต้องการทางเพศ ก็ไปฆ่าและนำทรัพย์สินติดมือไปด้วย"
รายล่าสุดเขาคบหากัน เหมือนอยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะกัน มีแรงจูงใจต่างกันยังไง?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "ต่างตรงที่เขามีการอำพรางศพ หมกศพไว้ในฟูก รายก่อนหน้านี้ไม่มีการอำพรางศพ ความต่างคือเขาเริ่มเรียนรู้ใช้โลกออนไลน์ มีการใช้เฟซบุ๊กติดต่อสื่อสารกับเหยื่อ เขาเกิดการเรียนรู้"
พฤติกรรมตอนเด็กส่งผลถึงตอนโตยังไง?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "กรณีนายสมคิด อยากให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับสังคมไทย เรามองย้อนกลับไปขณะนั้น นายสมคิดก่อเหตุไม่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก มีแค่พ่อแม่เหรอที่ไม่ดูแลเขา ญาติพี่น้องไปไหน ปู่ย่าตายายไม่มีใครเลยเหรอทำไมทิ้งเขา ประการต่อมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีใครเลยเหรอดูแลเด็กคนหนึ่ง พอวันหนึ่งเขาหลุดไปจากระบบการศึกษา หลุดไปจากสังคมที่ถูกต้อง เขาก็ไปลงมือก่อเหตุฆ่าคนรายที่ 1 ไล่มาถึงรายที่ 5"
คุกไม่เปลี่ยนแปลงเขาเลยเหรอ?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "ตอนนี้คุกบ้านเรามีผู้ต้องขังอยู่ประมาณ 3.7 แสน เชื่อว่าปีหน้าคงทะลุ 4 แสน ซึ่งเรือนจำที่มีผู้ต้องขังเยอะขนาดนี้ ต้องเรียนว่ามันเกินกว่าความจุจะรับได้ 2-3 เท่า จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้น แต่เรือนจำเท่าเดิม เจ้าหน้าที่เท่าเดิม งบประมาณอาจลดลงด้วยเพราะประเทศต้องประหยัดงบประมาณ ไปแก้เรื่องอื่น กรมราชทัณฑ์คิดโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูเหมือนต่างประเทศที่เขาทำ เพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังเป็นรายบุคคล เช่นผู้ต้องขังบางคนข่มขืนเด็ก บางคนทำอนาจาร บางรายข่มขืนศพ บางรายข่มขืนหญิงชรา บางรายฆ่าคนตาย แต่ละคนมีปัจจัยการก่อเหตุที่แตกต่างกัน ก็จะมีโปรแกรมบำบัดที่แตกต่างกัน"
ทนายเจมส์ นิติธร แก้วโต
ทนายเจมส์ ถ้าผู้ร้ายโดนจับ เรื่องจบมั้ย?
ทนาย : "มันมี 2 กรณี อาจจบตรงที่ไม่ได้ประกันตัว อีกกรณีนึงถูกปล่อยตัวเนื่องจากได้ประกันตัวจากศาล"
โทษเขาจะรุนแรงยังไง?
ทนาย : "ถ้าออกมาก่ออาชญากรรมอีก นั่นคือมีพฤติกรรมซ้ำอีก กฎหมายบอกให้เพิ่มโทษได้ การกระทำในครั้งต่อๆ มา ศาลจะมองว่าคนนี้คือคนร้าย เพราะมีพฤติกรรมที่เคยกระทำมา ศาลจะวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น คราวนี้จึงฟันธงได้ว่าน่าจะกระทำความผิด"
โฟนอิน "คุณชุติกาญจน์" เพื่อนบ้านผู้ตาย ตอนนายสมคิดมา คนแถวนั้นรู้มั้ยว่าเขาเป็นใคร?
ชุติกาญจน์ : "ไม่รู้เลยค่ะ รู้แต่ว่าผู้ตายบอกว่าเป็นทนายความค่ะ"
พอรู้ข่าวที่เขาฆ่ารายที่ 6 ชาวบ้านหวาดระแวงมั้ยตอนจับไม่ได้?
ชุติกาญจน์ : "ตอนจับไม่ได้ ความกลัวไม่เท่าไหร่ มากลัวตอนเป็นฆาตกรต่อเนื่องค่ะ ค่ำมาเงียบ ชาวบ้านไม่กล้าออกจากบ้านเลยค่ะ ไม่มีใครออกเพ่นพ่านเลยค่ะ"
คุณรัศมีที่เสียชีวิต เคยพาสมคิดไปพบเพื่อนบ้าน บอกจะแต่งงานกัน?
ชุติกาญจน์ : "จริงค่ะ เขาบอกว่าจะผูกข้อมือ ตอนแรกเป็นวันที่ 16 แต่เลื่อนมาเป็นวันที่ 15 วันเกิดเหตุค่ะ"
ก่อนเขาลงมือ เขาทะเลาะกัน เพื่อนบ้านได้ยินมั้ย?
ชุติกาญจน์ : "ไม่ได้ยินเลยค่ะ ได้ยินเสียงแว่วเรียกคนข้างบ้าน เหมือนได้ยินไม่ถนัด แต่มั่นใจว่าเขาเรียก คิดว่าเขาตื่นแล้ว"
สมคิดเขามีท่าทียังไง?
ชุติกาญจน์ : "น่ากลัวค่ะ ความรู้สึกเราเป็นตั้งแต่เริ่มต้นที่เห็น เขามองมา ตาขวาง เรารู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ระแวงอะไร แล้วก็ชวนกันกลับบ้านเลย"
ทำไมคุณฝ้ายเห็นสมคิดแล้วพูดเรื่องแต่งงาน?
ชุติกาญจน์ : "ผู้ชายพูดให้ความหวังค่ะ วันที่ 2 3 บอกว่าจะดาวน์รถให้แสนห้า ก็เลยถามว่าดาวน์รถอะไร แฟนเป็นคนถาม เพราะเขามาซื้อเสาทำรั้วบ้าน ครั้งที่ 4 ที่เจอกัน เขาบอกจะทำรั้วหน้าบ้านประตูทางเข้าใหม่ จะไปจองป้ายแดงให้ฝ้าย เดี๋ยวรถมาจะเข้าไม่ได้ แฟนบอกไม่ต้องซื้อหรอก ให้เสาปูนกับลวดหนามไปฟรีๆ ก็ไม่น่าให้เขาหายใจสักวินาทีเดียวเลยค่ะ"
อยู่ในคุก 14 ปี ออกมาเป็นแบบนี้ คิดว่าเมื่อจับได้ โทษประมาณไหน?
ทนาย : "ในมุมผม ศาลท่านอาจมองว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่โหดร้าย สองมีพฤติการณ์กระทำความผิดซ้ำซาก ศาลท่านอาจไม่ลดโทษเลย"
เรื่องเกี่ยวกับพลเมืองดี ในฐานะเจมส์เป็นทนาย รู้สึกยังไงที่มีการเปิดเผยหน้าตาน้อง?
ทนาย : "ในมุมหนึ่งผมคิดว่าสื่ออาจไปขออนุญาตน้องเขาแล้ว น้องเขาอาจบอกว่าไม่กลัว ก็เลยเปิดหน้า เหมือนยกย่องว่าน้องเป็นพลเมืองดี สมควรเอาเยี่ยงอย่าง ถ้ามีอะไรที่เกิดเหตุควรให้ข้อมูลทางรัฐ ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือกัน แต่อีกมุมเกิดความเป็นห่วง จะมีการทำร้ายหรือเปล่า ข่มขู่ขู่เข็ญพยานปากนี้มั้ย ถ้าจำเลยได้รับการประกันตัวออกไป ก็สามารถไปร้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว สองถ้าคุณกลัวก็เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยานก็ได้"
กรณีที่เกิดแบบนี้ ถ้าทางสมคิด เขาคิดจะสู้ เขาต้องมีทนายช่วยสู้ จะมีทนายยอมเป็นทนายเขามั้ย?
ทนาย : "ถ้าเป็นคดีอาญาที่มีโทษจำคุก ศาลต้องถามจำเลยเสมอว่าต้องการทนายมั้ย ถ้าจำเลยต้องการทนาย ศาลจะจัดหาให้ ถ้าส่วนตัวผม ผมคงไม่รับทำ ดูพฤติการณ์แล้วไม่เข็ดหลาบในกระทำความผิด แต่ถ้าเป็นทนายคนอื่น ซึ่งมีหน้าที่มีข้อตกลงกับศาล เขาก็ต้องทำตามหน้าที่ จะไปโทษเขาไม่ได้นะ แต่ทีนี้ในความเห็นทนายความ บอกให้รับสารภาพ จำนนต่อหลักฐาน โทษหนักจะได้เป็นเบา ถ้าแนะนำแล้วแต่ลูกความไม่เอา บอกจะสู้ ทนายสามารถถอนตัวได้ เพราะความเห็นในการดำเนินคดีไม่ตรงกัน"
โฟนอิน "น้องเรย์" พลเมืองดี ตอนเห็นสมคิด จำหน้าสมคิดได้ทันทีหรือเปล่า?
เรย์ : "ไม่ครับ แฟนเป็นคนเห็นครับ นั่งแนวเดียวกัน แฟนเขาเห็นรอยบากกับดวงตา เขาก็เลยบอกให้ย้ายไปอีกโบกี้หนึ่ง เราก็มาจ้องหน้าเขา เขาก็จ้องตาเราแป๊บนึง เราเห็นรอยบาก และเคราเขา"
อาการยังไง?
เรย์ : "ไม่มีอาการร้อนรนเลยครับ พอคุยกับแฟน ก็โทรหาผู้กำกับเลยครับ ตอนนั้นไม่รู้ทำไมไม่กลัวเลยครับ กลัวแค่เขาจะไปทำคนอื่นต่อครับ ไม่ได้กลัวเรื่องอันตรายเลยครับ"
คนเห็นหน้าเราหมดแล้ว กลัวมั้ย?
เรย์ : "ไม่ครับ"
ตอนไปหาตร. เขาถามอะไรเราบ้าง?
เรย์ : "ก็ถามลำดับเหตุการณ์ และวาดแผนภาพว่านั่งตรงไหน เราเดินตรงไหนบ้างครับ ไม่ได้ห่วงตัวเอง มากกว่าเขาจะไปทำคนอื่นต่อ"
คนอย่างสมคิดยังเยียวยาได้มั้ย?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "ดูจากพฤติการณ์การก่อเหตุ สะท้อนว่าจิตใจมีความโหดเหี้ยม"
ถ้าเขาสารภาพ ไม่กลัวการลงโทษ ไม่ยี่หระกับการลงโทษเลย จะบรรเทาโทษหรือเปล่า?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "เชื่อว่าเขาเกิดการเรียนรู้จากคดีก่อนๆ ในคดีฆาตกรรม เขาเชื่อว่าถ้ารับสารภาพจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ อาจลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ถ้าราชทัณฑ์ไม่เปลี่ยนหลักเกณฑ์ ซึ่งผมเสนอไปตั้งแต่เมื่อวาน นายสมคิดเป็นบุคคลอันตราย ต้องมีเกณฑ์เฉพาะสำหรับเขา ถ้าไม่เปลี่ยนเกณฑ์ ต่อไปไม่แน่อีก 10 กว่าปีเขาออกมาอีก คราวนี้น้องที่เป็นพยาน อันตรายแล้ว"
ทนาย : "ผมเชื่อว่าเขาสารภาพเพราะจำนนด้วยหลักฐานและหวังลึกๆ ว่าการสารภาพจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี แต่ในเชิงคดีจะได้หรือไม่ อันนั้นอีกเรื่อง อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล แต่สำหรับผมถ้าดูจากคดีเก่าๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่สำนึกผิดในการกระทำเลย ศาลอาจไม่ลดโทษเลยครับ"
การฆ่ามีอะไรเป็นสาเหตุโยงใย?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษพงค์ : "เขาอาจมองว่าฆ่าครั้งแรก อาจตอบสนองความต้องการ ความสะใจ พอรายที่ 2 เขาเริ่มเรียนรู้แล้วว่าฆ่าคนตายไม่ถูกจับได้ น่าสนใจตรงที่ว่าทำไมศพแรกจับกุมเขาไม่ได้ จะได้ไม่เกิดศพที่ 2 เป็นเพราะผู้เสียชีวิต ไม่ใช่คนสำคัญเหรอ หรือเป็นเพราะสถานภาพทางสังคมของเขามั้ย เพราะอะไร ถ้าเขาหลุดออกมาอีก ก็น่าเชื่อว่าเขาน่าจะยังมีศพที่ 7 ถ้าเขาไม่ตายซะก่อน"