เรื่องจริงแต่เจ็บที่คุณต้องเจอเมื่อดื่มแล้วขับ

เรื่องจริงแต่เจ็บที่คุณต้องเจอเมื่อดื่มแล้วขับ

เรื่องจริงแต่เจ็บที่คุณต้องเจอเมื่อดื่มแล้วขับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมรู้สึกเหมือนเข้ามาอยู่อีกโลกเมื่อยืนอยู่หลังลูกกรงเหล็กสีเหลืองภายในสถานีตำรวจแห่งหนึ่งย่านกลางเมือง ใครจะเชื่อว่า การดื่มแล้วขับ จะทำให้เราต้องมาพบจุดจบของวันแบบนี้ ผมไม่ได้เป็นคนดื่มหรอกครับ แต่ผมมีโอกาสติดตามทีมถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับผลของการดื่มแล้วขับ ทำให้เห็นบรรยากาศที่น้อยคนจะได้รู้มาเล่าสู่กันฟัง

คืนนั้นตรงสี่แยกย่านบันเทิง ขณะทีมตำรวจเริ่มตั้งด่าน ผมถามตำรวจนายหนึ่งว่า มีการตั้งด่านบ่อยแค่ไหน คุณตำรวจตอบว่า เกือบทุกคืน ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วแบบนี้จะมีใครที่ดื่มแล้วยังขับผ่านมาทางนี้อีก แต่เชื่อไหมครับว่า ไม่นานนัก ก็มีนักดื่มคนหนึ่งขับรถผ่านมาตรงด่านจนได้

ชายคนนั้นขับรถเก๋ง หน้าแดงเล็กน้อย มองออกว่าดื่มมาแน่ แต่ก็ยังดูมีสติ พูดจารู้เรื่อง พอได้ยินคุณตำรวจบอกให้ไปเป่าตรวจแอลกอฮอล์ ชายคนนั้นทีแรกเริ่มเสียงแข็ง ทำท่าจะไม่ยอมให้ตรวจ จนคุณตำรวจต้องแจ้งข้อกฎหมายออกไป พรบ.จราจรทางบกระบุว่า ในกรณีที่มีพฤติกรรมอันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นดื่มแล้วขับ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีได้”

ชายคนนั้นเริ่มเสียงอ่อย อ้างว่า ดื่มไปนิดเดียว บ้านก็อยู่อีกไม่ไกล ซึ่งผมได้มาฟังจากคุณตำรวจภายหลังว่า คนส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองเอาอยู่ ดื่มได้ ขับรถไหว ทั้งที่ความเป็นจริง กฎหมายกำหนดไว้ว่า หากผลตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่า มีความผิดฐานดื่มแล้วขับ ซึ่งแค่คุณดื่มเบียร์ 2 กระป๋องก็อาจจะเกินกำหนดแล้ว

แอลกอฮอล์ในเลือดเพียง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะทำให้ร่างกายสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหว สมองส่วนคอร์เท็กซ์มีอาการอัมพาต ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งแน่นอน เพียงเท่านี้ก็พอจะทำให้คุณเสี่ยงขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุได้

ผลการตรวจพบว่า ชายคนนั้นมีแอลกอฮอล์ในเลือด 80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ “ไปสน.กัน” คุณตำรวจบอกกับชายผู้ดื่มแล้วขับ

ผมได้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า การที่กฎหมายต้องเข้มงวดกับคนที่ดื่มแล้วขับถึงขั้นต้องควบคุมตัวไว้ ก็เพราะว่า ในกรณีดื่มแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุ มีคู่กรณีได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต คุณอาจโดนโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท หรือจำคุกสูงสุด 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นเพื่อตัวคุณเองและคนอื่นบนท้องถนน การถูกควบคุมตัวจึงมีความจำเป็น

“คุณโดนจับข้อหาขับรถขณะเมาสุรา ขั้นตอนต่อไปจะถูกส่งฟ้องที่ศาล โดยระหว่างนี้จะถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงพัก แต่สามารถยื่นคำร้องขอประกันตัวได้ โดยต้องใช้เงินสด 20,000 บาท” เจ้าหน้าที่ตำรวจที่โรงพักแจ้งข้อหา และอธิบายขั้นตอนทางคดี

ในกรณีไม่มีเงินประกันตัว ผู้ต้องหาจะถูกคุมขังเพื่อรอส่งฟ้องภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะแย่ขึ้นไปอีก ถ้าวันนั้นเป็นวันเสาร์ เพราะจะต้องรอขึ้นศาลในเช้าวันจันทร์ นั่นหมายความว่า ผู้ต้องหาจะได้นอนคุกเพิ่มอีก 1 คืน

ชายคนนั้นงานเข้าเลยครับ เพราะไม่มีเงินประกัน ผมเลยมีโอกาสตามเข้าไปในคุกเป็นครั้งแรกในชีวิต (และขอไม่ให้มีครั้งต่อไปอีก)

เมื่อเข้าไปถึงบริเวณหน้าห้องควบคุมตัว ผู้ต้องหาจะถูกปั๊มลายนิ้วมือ ไม่ต่างจากผู้ต้องหาคดีอื่นๆ ข้าวของส่วนตัวบางอย่างจะถูกยึดไว้ชั่วคราว เช่น เข็มขัด นาฬิกา

สภาพในนั้น แม้จะดูสะอาดเรียบร้อยกว่าที่คิด แต่บรรยากาศมัวซัวของห้องขังโล่งๆ ไม่มีแม้แต่ที่นั่ง มีเพียงกรงเหล็กหนาสีเหลืองล้อมรอบ กับพื้นปูนเปลือยกระดำกระด่าง ผสมกับกลิ่นห้องน้ำในตัวที่ไม่ค่อยปกปิด ก็ทำให้ผมแทบอยากจะเดินออกไปทันที

ชายคนนั้นถูกส่งเข้าไปห้องขังด้วยสีหน้าเหมือนอยากจะร้องไห้ และเมื่อเสียงโลหะกระทบกันของประตูห้องขังที่ปิดลงดังขึ้น ก็คือสัญญาณว่า อิสรภาพของเขาได้หมดลงชั่วคราว

คืนนั้นก่อนที่ผมจะหลับบนเตียงที่บ้าน ใจก็พลันนึกถึงชายคนนั้นอีกครั้ง เชื่อว่า เขาคงไม่ได้นอน และเมื่อถึงรุ่งเช้า แม้แอลกอฮอล์ในร่างกายจะจางหมดไป แต่ความทรงจำนี้ยังคงฝังติดอยู่กับเขาตลอดไป และเขาคงไม่คิดดื่มแล้วขับอีกต่อไปอย่างแน่นอน

เรื่องราวต่อจากนั้น

เมื่อศาลพิจารณาคดี ผู้ต้องหาอาจได้รับโทษจำ หรือโทษปรับ หรือโทษทั้งจำและปรับ อาจต้องมารายงานตัวกับกรมควบคุมความประพฤติปีละ 4 ครั้ง เพื่อบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ และในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็ต้องรับโทษจำแทนค่าปรับ โดยคิดโทษจำ 1 วัน เท่ากับเงินค่าปรับ 500 บาท ซึ่งหมายความว่า ผู้ต้องหาอาจโดนโทษจำสูงสุดถึง 40 วัน เมื่อ เทียบกับเงินค่าปรับสูงสุด 20,000 บาท

รู้อย่างนี้แล้ว ปีใหม่นี้ ดื่มไม่ขับกลับบ้านปลอดภัย ไม่เสียเงิน เสียเวลา

ดูคลิปฉบับเต็มได้ที่

(Advertorial)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook