"แซค เอฟรอน" ถูกหามขึ้น ฮ.ด่วน ล้มป่วยโรคไทฟอยด์ ขณะถ่ายรายการที่ปาปัวนิวกินี
นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง "แซค เอฟรอน" ป่วยเป็นไทฟอยด์ ขณะถ่ายทำรายการแนวผจญภัยที่ปาปัวนิวกินี ช่วงต้นเดือน ธ.ค. และอาการหนักจนต้องส่งตัวไปรักษาอาการที่ รพ.ในออสเตรเลีย ขณะที่โรคไทฟอยด์คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละกว่า 1 แสนคน
แซค เอฟรอน นักแสดงชายชาวอเมริกัน วัย 32 ปี ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงาน High School Musical และล่าสุด อยู่ระหว่างถ่ายทำรายการผจญภัยชื่อว่า Killing Zac Efron ที่ประเทศปาปัวนิวกินี ล้มป่วยด้วยโรคไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย แต่ได้รับการช่วยเหลือจากนักบินเฮลิคอปเตอร์หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน นำส่งไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลในออสเตรเลีย เนื่องจากอาการป่วยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
The Independent สื่ออังกฤษ รายงานว่า เอฟรอนถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาลเซนต์แอนดรูว์ วอร์สเมโมเรียล เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ และได้รับการรักษาจนฟื้นตัว สามารถเดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาได้โดยปลอดภัย แต่คนใกล้ชิดของเอฟรอนไม่ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับรายการ Killing Zac Efron ที่สื่อเคยรายงานก่อนหน้านี้ ระบุว่าจะเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่พูดถึงการเอาตัวรอดของนักแสดงหนุ่มในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก จะมีก็แต่อุปกรณ์พื้นฐานในการดำรงชีวิต รวมถึงมัคคุเทศก์ที่เป็นคนในท้องถิ่น และสื่อคาดว่าการถ่ายทำที่ปาปัวนิวกินีเป็นส่วนหนึ่งของรายการดังกล่าว
ขณะที่ Perez Hiton สื่อบันเทิงฮอลลีวูด รายงานว่า เอฟรอนป่วยหนักอยู่นานถึง 21 วันกว่าอาการจะดีขึ้นจนแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ช่วงก่อนวันคริสต์มาส 25 ธ.ค. แต่เอฟรอนยังต้องพักฟื้นต่ออีกสักพัก
ด้าน Reuters รายงานว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคไทฟอยด์ประมาณ 11 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.17 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่แข็งแรง ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ผู้ปกครองในประเทศฝั่งตะวันตกพาบุตรหลานของตนไปฉีดวัคซีนป้องกันก่อนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลกที่ยังมีโรคไทฟอยด์แพร่ระบาดอยู่
ขณะที่ เว็บไซต์สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ระบุว่า โรคไข้ไทฟอยด์เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi รุกล้ำเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการไข้เฉียบพลัน และไข้จะสูงเป็นระยะเวลานาน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ม้ามโต ชีพจรเต้นช้า มีจุดแดงตามลำตัว
โรคนี้มักติดต่อจากการบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อที่มาจากอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะ แต่อาจพบเชื้อดังกล่าวในหอยที่จับได้แถบชายฝั่งที่มีท่อน้ำเสียระบายลงทะเลได้เช่นกัน รวมถึงผลไม้ ผักดิบ นมและผลิตภัณฑ์จากนม
ระยะฟักตัวขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อ ส่วนใหญ่มักแสดงอาการหลังจากติดเชื้อตั้งแต่ 3 วันถึง 1 เดือน ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการไอแห้งๆ และมีอาการคล้ายท้องผูกหลายวันจึงจะถ่ายอุจจาระเหลว มีกลิ่นเหม็น ซึ่งพบมากกว่าอาการอุจจาระร่วง ทั้งยังมีอาการของระบบเนื้อเยื่อน้ำเหลือง มีแผลที่ต่อมน้ำเหลือง Payer's patches ที่ลำไส้เล็กส่วนกลาง ทำให้มีเลือดออกในลำไส้หรือลำไส้ทะลุได้ พบประมาณ ร้อยละ1 โดยเฉพาะในระยะท้ายของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการไข้ที่ไม่มีเหงื่อออก ชีพจรช้า ซึม ความไวของประสาทรับเสียงลดลง
ส่วนอัตราป่วยตายมีประมาณร้อยละ 10 - 20 แต่ลดลงได้ถึงน้อยกว่าร้อยละ 1 ถ้าให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ร้อยละ 15 - 20 ของผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการใหม่หลังจากหายแล้ว