โฆษกรัฐบาล วอนหยุดจุดประเด็นชาติพันธุ์สร้างความแตกแยก ยันดูแลประชาชนเท่าเทียม
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความเห็นแตกต่างในประเด็นชาติพันธุ์ ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เป็นเวลาที่ทุกคนจะได้มีความสุข ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว ขออย่าได้จุดประเด็นความขัดแย้งให้เกิดความขัดข้องหมองใจ และในช่วงเทศกาลนี้ รัฐบาลพร้อมดูแลพี่น้องประชาชนทุกคนให้เดินทางกลับบ้านเยี่ยมครอบครัวโดยสวัสดิภาพ และสั่งการให้ทุกหน่วยพร้อมช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่
นางนฤมล ยืนยันว่า รัฐบาลดูแลคนไทยและทุกชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่ได้ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขอร้องว่าอย่านำประเด็นชาติพันธุ์มาสร้างความสั่นคลอนต่อความรักสามัคคีของคนในชาติ เชื่อมั่นว่าทุกคนบนแผ่นดินไทยต่างมีความรักประเทศไทย และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยรัฐบาลยืนยันดูแลทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์ตามกฎหมายและหลักมนุษยธรรม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ชาติพันธุ์ม้งที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกับกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ไทยลื้อ และกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิ โดยมีมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องหลายมติ ได้แก่ มติ ครม. วันที่ 7 ธค.2553 กำหนดให้ชนกลุ่มน้อยที่ราชการได้จัดทำทะเบียนประวัติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ให้สถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ให้ขอใบสำคัญถิ่นที่อยู่) และถ้าจะขอมีสัญชาติไทย ให้ขอแปลงสัญชาติ
มติ ครม. วันที่ 7 ธค 2559 กำหนดให้บุตรของชนกลุ่มน้อยที่เกิดในประเทศไทยสามารถขอมีสัญชาติไทยได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ โดย รมว.มท.มอบอำนาจให้นายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ กรณีผู้ขอสัญชาติอายุไม่เกิน 18 ปี และให้ ผวจ.เป็นผู้อนุมัติกรณีผู้ขอสัญชาติอายุเกิน 18 ปี
มติ ครม. วันที่ 5 กค 2548 กำหนดให้เด็กทุกคนทั้งไทยและต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารทะเบียน สามารถเข้าเรียนหนังสือในระดับการศึกษาภาคบังคับได้ทุกรายโดยรัฐสนับสนุนงบรายหัวให้ทุกปี
มติ ครม. วันที่ 23 มีค 2553 และ 20 เมย 2558 อนุมัติให้สิทธิการรักษาพยาบาลแก่ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐสำรวจจัดทำทะเบียนไว้ทุกคนโดยรัฐสนับสนุนงบรายหัวให้ทุกปี ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับอนุมัติสัญชาติไทยแล้ว จำนวนประมาณ 2.58 แสนคน