สมาคมนักข่าวเผยรายงานประจำปี 2562 “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่”

สมาคมนักข่าวเผยรายงานประจำปี 2562 “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่”

สมาคมนักข่าวเผยรายงานประจำปี 2562 “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (30 ธ.ค. 2562) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.tja.or.th โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2562 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สถานการณ์ด้านสื่อมวลชนไทยในรอบปี พ.ศ. 2562 เป็นปีแห่งการ “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่” เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามาทำให้ข่าวสารมีปริมาณมากและนำเสนอฉับไว ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมุ่งหน้าเสพข่าวสารผ่านออนไลน์มากขึ้น อุตสาหกรรมสื่อตกอยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี สื่อทุกแขนงเร่งปรับตัวขนานใหญ่ โดยยึดหลักระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจกับมาตรฐานคุณภาพ เรียกความน่าเชื่อถือของวิชาชีพกลับมาอย่างยั่งยืน แม้กฎหมายพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อจะถูกยกเลิก มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี แต่การแทรกแซงมีความซับซ้อนขึ้น ดังนั้นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจึงสรุปสถานการณ์สื่อ 2 กรณี ดังนี้

1. เกาะติดกฎหมายกระทบเสรีภาพ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 รองรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 บัญญัติให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พร้อมได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศแห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตย หลังมีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562

การแทรกแซงสื่อได้พลิกแพลงมากขึ้น จากเดิมมีการกดดันโดยโทรศัพท์ไปถึงผู้บริหารสื่อแขนงนั้นที่เสนอข่าวกระทบต่อผู้มีอำนาจ และได้เพิ่มช่องทางโทรศัพท์หรือประสานไปที่นักข่าวภาคสนามโดยตรง ท่ามกลางการมีข่าวปลอมระบาด โดยเฉพาะในช่วงระหว่างมีการเลือกตั้ง องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงต้องใช้เสรีภาพบนความร่วมผิดชอบร่วมสกัดกั้นข่าวปลอม โดยคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับจริยธรรมของสภาวิชาชีพ โดยสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม ก่อนนำเสนอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในระดับสากล หลังได้รัฐบาลใหม่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม บนความหวาดระแวงของประชาชนและองค์กรสื่อ ที่อาจมีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

และยังต้องเกาะติดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีหลายประเด็นที่อาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษไปแล้ว รอเข้าคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยองค์กรสื่อยืนยันหลักการในการกำกับดูแลกันเอง อันเป็นหลักสากลที่นานาประเทศใช้กำกับดูแลเรื่องจริยธรรม ไม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

2. ธุรกิจสื่อเจอศึกหนักยิ่งทรุดฮวบ-เร่งปรับโมเดลธุรกิจสู่โอกาสใหม่

คลื่นสึนามิดิจิทัลดิสรัปชัน กระหน่ำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวีดิจิทัล เป็นระลอก สำนักงานคณะกรรมการ กสทช. จ่ายค่าชดเชยและยุติการออกอากาศ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ประกอบด้วย ช่อง 26 บริษัท สปริง26 จำกัด ช่อง 19 บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง 20 บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ช่อง 21 บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ช่อง 14 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่อง 28 บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด และช่อง 13 บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ที่เหลืออีก 15 ช่องต้องแข่งขันปั๊มเรตติ้ง เพื่อชิงงบโฆษณา

ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่ถูกพิษดิจิทัลดิสรัปชันหนักที่สุด โดยผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปออนไลน์แทน ในที่สุดหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียว “ไทยรัฐ” เปิดโครงการลาออกด้วยความสมัครใจอีกครั้งในช่วงต้นปี รวมถึงหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ THE NATION หนังสือพิมพ์ “M2F” แทบลอยด์แจกฟรี หนังสือพิมพ์ “โพสต์ทูเดย์” ยุติการตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ นำเสนอเนื้อหาเข้าสู่เว็บไซต์เต็มตัว พร้อมเลิกจ้างพนักงานบางส่วน หนังสือพิมพ์ “สยามกีฬา ควบรวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารในค่ายสยามสปอร์ต ไว้ในฉบับฟุตบอลสยาม มวยสยาม และสยามกีฬา โดยนำเนื้อหาบางส่วนของฟุตบอลสยามและมวยสยาม มานำเสนอผ่านเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ภาคเหนือ ไทยนิวส์ ทิ้งท้ายเดือน ธ.ค. 62 ลดจำนวนหน้าจาก 16 หน้า เหลือ 12 หน้า

ท้ายสุดในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน สื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ กองบรรณาธิการ นักข่าว ต่างเร่งปรับตัวในช่วงวิกฤติให้เป็นความท้าทาย โดยเชื่อมโยงทุกแพลตฟอร์มสู่กลุ่มเป้าหมาย พันธมิตรทางธุรกิจ สู่โมเดลธุรกิจสื่อใหม่ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook