"ยูเออี" ครองเบอร์ 1 หนังสือเดินทางทรงอิทธิพลสุดของโลก-"สหรัฐ" หลุดจากหัวตาราง

"ยูเออี" ครองเบอร์ 1 หนังสือเดินทางทรงอิทธิพลสุดของโลก-"สหรัฐ" หลุดจากหัวตาราง

"ยูเออี" ครองเบอร์ 1 หนังสือเดินทางทรงอิทธิพลสุดของโลก-"สหรัฐ" หลุดจากหัวตาราง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นทั้งการเกิดขึ้นของเทรนด์ใหม่ๆ หลายแบบ และการร่วงลงของผู้ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต และเมื่อกล่าวถึงการเดินทางทั่วโลก นับว่าทศวรรษที่ 2010s ได้ฝากรอยประทับไว้อย่างโดดเด่น

จากรายงานฉบับปี 2019 ที่เผยแพร่โดย Passport Index ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางทั่วโลกระดับแนวหน้า พบว่า หนังสือเดินทางทรงอิทธิพลแห่งทศวรรษไม่ใช่หนังสือเดินทางของประเทศในยุโรปหรืออเมริกาเหนืออย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่ประเทศนอกสายตาที่ไม่มีใครคาดคิด กลับขยับขึ้นสู่หัวตารางอย่างเงียบๆ ซึ่งประเทศที่ครองอันดับสูงสุดในทำเนียบ Greatest Passport of the Decade ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งได้รับการยกเว้นวีซ่าจากกว่า 111 ประเทศ ที่น่าสนใจคือการยกเว้นวีซ่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งในรอบปีทีผ่านมา ยูเออีสามารถเพิ่มรายชื่อประเทศที่พลเมืองของตนสามารถเดินทางไปโดยที่ไม่ต้องขอวีซ่าได้อีก 12 ประเทศ

สำหรับอันดับอื่นๆ ในท็อป 10 ได้แก่ ไต้หวัน ยูเครน อัลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา จอร์เจีย มอลโดวา หมู่เกาะมาแชล ปาเลา ไมโครนีเซีย ติมอร์เลสเต และวานูอาตู

รายงาน Passport Index Report 2019 พบเทรนด์ของประเทศหมู่เกาะที่ขยับอันดับสูงขึ้นจนกลายเป็นหนังสือเดินทางที่เติบโตเร็วที่สุด ขณะที่ชาติแอฟริกาไต่อันดับพ้นจากโซนท้ายตาราง และมีหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่ยังครองตำแหน่งท็อปบนหัวตาราง

โลกกำลังเปิดกว้างขึ้น

ในยุคของการสร้างกำแพงและปิดพรมแดนนั้น โลกได้เปิดกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งตรงข้ามกับการรับรู้โดยทั่วไป Passport Index Report 2019 เผยว่า แท้จริงแล้วโลกในปัจจุบันมีการเปิดกว้างถึง 54% โดยอ้างอิงข้อมูลจาก World Openness Score ซึ่งทาง Passport Index ได้รวบรวมขึ้น

“จากการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 4% ต่อปี อาจเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่จะกล่าวโดยรวมว่า ภายในปี 2035 โลกทั้งใบจะเปิดกว้างสำหรับการเดินทาง” Armand Arton ประธาน Arton Capital กล่าว

ครองตำแหน่งสูงสุดสบายๆ

ไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศในยุโรปยังคงวนเวียนกันอยู่ในทำเนียบท็อป 5 ของการจัดอันดับหนังสือเดินทางที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่แม้บางประเทศจะครองอันดับสูงสุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก หนึ่งในแชมป์เก่าที่หายหน้าหายตาไปจากหัวตารางคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความก้าวหน้าน้อยมากหรือไม่มีเลย แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะให้คำมั่นว่าจะ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ก็ตาม

การผงาดของม้ามืด

หลายประเทศตระหนักถึงความสำคัญของอำนาจแห่งหนังสือเดินทาง Passport Index Report 2019 เปิดเผยว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง เช่น ประเทศหมู่เกาะ และประเทศที่แยกตัวออกจากอดีตสหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังแห่งการทลายกำแพงกั้นพรมแดน และใช้พลังอำนาจเหล่านั้นเป็นประตูสู่การเจริญเติบโต

จากวานูอาตูถึงมอลโดวา ยูเครนถึงไต้หวัน รายชื่อที่น่าตื่นเต้นเหล่านี้เผยให้เห็นการผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นของบรรดาม้ามืด โดยหนังสือเดินทางส่วนใหญ่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นกว่า 100% จากปี 2010 ซึ่งประเทศที่ขโมยซีนเป็นอันดับ 1 ด้วยอำนาจพาสปอร์ตที่เพิ่มขึ้นถึง 161% ในช่วงระหว่างปี 2010-2019 ถือเป็น ยูนิคอร์นแห่งทศวรรษ (Unicorn of the Decade)

ยูนิคอร์น

ประเทศที่ครองอันดับสูงสุดในทำเนียบ Greatest Passport of the Decade หรือหนังสือเดินทางที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งได้รับการยกเว้นวีซ่าจากกว่า 111 ประเทศ โดยการยกเว้นวีซ่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทำอันดับพุ่งขึ้นจนเป็นแชมป์มานานกว่าหนึ่งปี และถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการบรรลุเป้าหมายระดับชาติได้อย่างประสบความสำเร็จ

อยู่ในทิศทางขาขึ้น

หนังสือเดินทางเกือบทุกประเทศอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่มีอยู่ 2 ประเทศที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในความพยายามที่จะไต่อันดับสูงขึ้นมากกว่าชาติอื่นๆ โดยรายงาน Passport Index Report 2019 ระบุว่า แองโกลาและจีน เป็นสองประเทศที่อยู่ในอันดับต่ำสุดเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนถึงปัจจุบัน

หนีพ้นจากท้ายตาราง

หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจแห่งทศวรรษ คือ การได้เห็นประเทศแอฟริกาที่เคยอยู่ในอันดับท้ายๆ ผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่น ซึ่งไม่เพียงอันดับสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังหนีพ้นจาก 10 อันดับท้ายตารางในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ แองโกลา บุรุนดี เกาะคอโมโรส จิบูตี และอิเควทอเรียลกินี

ร่วงสู่ท้ายตาราง

สงครามในซีเรียได้บีบให้ประเทศนี้ร่วงลงสู่อันดับ 3 จากท้ายในบรรดาพาสปอร์ตที่อ่อนแอที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2010 ซีเรียไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับสุดท้ายเลยด้วยซ้ำ นี่เป็นข้อมูลบ่งชี้สำคัญถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่มีต่ออำนาจของพาสปอร์ต ดังเห็นได้จาก เยเมน ดินแดนปาเลสไตน์ และลิเบีย ที่ยังคงวนเวียนอยู่ในโซน 10 อันดับสุดท้าย

จมอยู่ท้ายตาราง

มีความแตกต่างที่น่าตกใจในท้ายตาราง ประเทศด้อยพัฒนาที่ติดหล่มสงครามส่วนใหญ่ต่างจมอยู่ในท้ายตาราง โดยเมื่อเรามองลึกลงไปถึงความแตกต่างตั้งแต่ต้นทศวรรษถึงปลายทศวรรษ จะพบปัญหาการเมืองของโลกที่ยังคงอยู่

ปีแล้วปีเล่า ประเทศโซนท้ายตารางในรายงาน Passport Index Report 2019 ต่างติดอยู่ในอันดับท้ายๆ ไม่ไปไหน โดยหนังสือเดินทางของประเทศเหล่านี้เป็นใบเบิกทางให้แก่พลเมืองของตนในการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ไม่ถึง 20%

ผู้ชนะในปี 2019

ในปีที่ผ่านมา หลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ระดับโลกนั้น มีการพัฒนาขึ้นมากและมีการเติบโตอย่างน่าทึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำโลก โดยเพิ่มประเทศที่พลเมืองของตนสามารถเดินทางไปโดยที่ไม่ต้องขอวีซ่าอีก 12 ประเทศ

ขณะที่ กาตาร์ รวันดา ยูเครน มาเก๊า และอินโดนีเซีย ตามหลังมาติดๆ โดยแสดงให้เห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดและอำนาจที่มากขึ้นของพาสปอร์ตในช่วงปีที่ผ่านมา

อีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในรายชื่อ The Fastest-Growing Passports of 2019 หรือพาสปอร์ตที่เติบโตเร็วที่สุดในปี 2019 คือ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบ่งชี้ว่าแชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลของโลกอาจสร้างแรงบันดาลใจให้หลายประเทศทำตามแบบอย่าง

ปีนี้ยังได้เห็นอำนาจพาสปอร์ตที่เพิ่มขึ้นของประเทศที่มีโครงการให้สัญชาติกับชาวต่างชาติที่ลงทุนในประเทศ หรือ Citizenship-by-Investment Program หนึ่งในผลประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดของโครงการเหล่านี้คือ การอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณค่าของการมีหนังสือเดินทางที่เข้มแข็งอยู่ในมือนั้น กำลังกลายเป็นเทรนด์ของโลกอย่างแท้จริง

หากทศวรรษนี้สอนอะไรเราอย่างหนึ่ง สิ่งนั้นก็คือ การเข้าถึงและเสรีภาพเป็นตัวเร่งที่สำคัญสู่การพัฒนาและความก้าวหน้า มีหนทางเดียวที่นำไปสู่ผลประโยชน์และโอกาสที่ดีกว่าสำหรับอนาคตที่สดใสขึ้น ทั้งต่อประเทศชาติและพลเมือง นั่นคือการให้ความสำคัญและเพิ่มอำนาจในการเดินทางของประชาชนทั่วโลก

ไทยรั้งอันดับ 55 ร่วมนาอูรู

ส่วนหนังสือเดินทางของประเทศไทยนั้น ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 55 ร่วมกับประเทศนาอูรู ซึ่งไทยนั้นสามารถเดินทางไปยังประเทศและดินแดนต่างๆ ได้ 39 ดินแดน ขณะที่สามารถขอวีซาเมื่อเดินทางถึงสนามบินหรือด่านชายแดน (Visa on Arrival) 50 ประเทศ แต่ยังต้องขอวีซาล่วงหน้าก่อนเดินทางถึง 109 ประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook