นักวิชาการชี้ สงครามอ่าวรอบใหม่อาจปะทุจากเหตุมะกัน-อิหร่าน แต่ไม่ถึงขั้นสงครามโลก

นักวิชาการชี้ สงครามอ่าวรอบใหม่อาจปะทุจากเหตุมะกัน-อิหร่าน แต่ไม่ถึงขั้นสงครามโลก

นักวิชาการชี้ สงครามอ่าวรอบใหม่อาจปะทุจากเหตุมะกัน-อิหร่าน แต่ไม่ถึงขั้นสงครามโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกา ชี้มีโอกาสเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียอีกครั้ง แต่ไม่ถึงขั้นกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 โดยมีเนื้อหาดังนี้

อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐกับการทำสงคราม

ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ แต่อำนาจในการประกาศสงคราม (the power to declare war) และอนุมัติงบประมาณในการปฏิบัติการทางทหาร เป็นของสภาคองเกรส

สหรัฐประกาศสงครามครั้งหลังสุด คือ สงครามโลกครั้งที่สอง (หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นโจมตี Pearl Harbor) หลังจากนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐเลือกที่จะขอให้สภาคองเกรสอนุมัติการใช้กำลังทางทหาร โดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ

ในประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีบางคนใช้อำนาจทางการทหารนอกเหนือขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น Abraham Lincoln สั่งระงับไม่ให้ผู้ถูกคุมขังต้องถูกนำตัวมายังศาล (habeas corpus) เป็นการชั่วคราวในระหว่างสงครามกลางเมือง หรือ Franklin D. Roosevelt กักขังชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และ George W. Bush ใช้เครื่องดักฟังประชาชน และทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย หลังเหตุการณ์ 9/11

หลังถูกโจมตีเมื่อ 9/11 นั่นเอง ที่สภาคองเกรสได้เห็นชอบขยายอำนาจประธานาธิบดี ในการใช้กำลังทหาร (an authorization for use of military force – the 2001 AUMF) เพื่อต่อต้านผู้วางแผน กระทำการ หรือ ให้ความช่วยเหลือการก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 911

ปฏิบัติการ Operation Neptune Spear ที่สังหาร Osama Bin Laden ในปากีสถาน เมื่อปี 2011 นับได้ว่าเป็นการใช้อำนาจของประธานาธิบดี Obama จาก AUMF

นักรัฐศาสตร์อเมริกัน Robert Jervis ชี้ถึงความแตกต่างในการตอบโต้ทางทหารที่น่าสนใจ กล่าวคือประธานาธิบดี Bush และประธานาธิบดี Obama แม้จะแข็งกร้าวกับอิรักและประเทศตะวันออกกลาง แต่จะใช้ความระมัดระวังมากกว่าในความขัดแย้งกับอิหร่าน

ถึงแม้ Obama จะมั่นใจในแสนยานุภาพทั้งทางทหารและเศรษฐกิจที่เหนือกว่าอิหร่านมาก แต่ตระหนักถึงความมุ่งมั่น ศักดิ์ศรี ศรัทธา และความเข้มข้นในผลประโยชน์ของอิหร่านต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงเลือกตอบโต้แบบหลบหลีก เลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรง (the spiral model)

แต่ในทางตรงกันข้าม ปฏิบัติการโดรนสังหารนายพล Qassem Soleimani ในครั้งนี้ ซึ่งได้รับการอธิบายจากกระทรวงกลาโหมและประธานาธิบดี Trump ว่า เป็นความจำเป็นในการป้องปรามภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อบุคลากรของสหรัฐที่ปฏิบัติการในอิรัก เป็นการใช้ "the deterrence model" กล่าวคือ ใช้กำลังรุนแรง เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อว่ามีศักยภาพต่ำกว่าสยบยอม ไม่ให้กล้าโงหัวขึ้นมาสู้

แต่ดูเหมือนประธานาธิบดี Trump อาจประเมินพลาด เพราะอิหร่านเพิ่งนำธงแดงขึ้นเหนือยอดโดมศักดิ์สิทธิ์ของมัสยิด Jamkarān อันเป็นสัญลักษณ์ของการแก้แค้นต่อความอยุติธรรม ด้วยเลือด

หลายคนกังวลว่าความขัดแย้งนี้ จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 สื่อต่างชาติบางสำนักถึงกับนำคำทำนายของ Nostradamus ช่วงหนึ่งมาเผยแพร่

“The false trumpet concealing madness
will cause Byzantium to change its laws.
From Egypt there will go forth a man who wants
the edict withdrawn, changing money and standards”

ตนคิดว่า ศึกครั้งนี้อาจมีแนวโน้มนำไปสู่สงครามอ่าวเปอร์เซีย (อีกครั้งหนึ่ง!) แต่ขอบเขตของสงครามไม่น่าจะขยายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่อย่างใด ซึ่งสงครามอ่าวในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่อาจเป็นสงครามนอกรูปแบบในลักษณะต่างๆ ที่ดึงประเทศในอ่าวเปอร์เซียเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook