อิรัก-อิหร่าน เพื่อนบ้านตัวแสบ แม้อยู่ติดกัน แต่พร้อมฟาดฟันทุกเมื่อ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ส่งฝูงบินไปถล่ม 5 เป้าหมายในอิรักและซีเรียของกองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ (เคเอช) โดยเป้าหมายที่ถูกถล่มเป็นคลังอาวุธ และศูนย์บัญชาการและควบคุมที่ใช้โจมตีกองกำลังสหรัฐฯ ของกลุ่มเคเอช การโจมตีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ได้สังหารนักรบของกองกำลังเคเอชไป 25 คน
กองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ (เคเอช) เป็นกองกำลังของชาวอิรักชีอะห์ที่ทำการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในอิรัก ซึ่งมีนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิสเป็นผู้นำ กองกำลังเคเอชนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านโดยตรง
การโจมตีทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ ในครั้งนี้เป็นการตอบโต้การที่กองกำลังเคเอชที่ยิงจรวดราว 30 ลูกโจมตีฐานทัพเค 1 ของอเมริกาที่เมืองเคอร์คุก ทางเหนือของอิรักเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาพลเรือนของกองทัพชาวอเมริกันเสียชีวิต 1 คน และทหารสหรัฐฯ บาดเจ็บ 4 นาย
เจ้าหน้าที่อิรักเปิดเผยว่า หลังสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายทั้ง 5 เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีจรวด 4 ลูกยิงไปตกบริเวณใกล้ฐานทัพสหรัฐฯ ใกล้กรุงแบกแดด แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่กลุ่มคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ขับไล่ศัตรูอเมริกาออกจากอิรัก
การยิงจรวดโจมตีฐานทัพในเมืองเคอร์คุก และการตอบโต้จากสหรัฐฯ แบบทันที มีขึ้นในช่วงเวลาที่อิรักกำลังระส่ำระสายจากเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อ และคร่าชีวิตประชาชนกว่า 450 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 25,000 คน การประท้วงเกิดจากความไม่พอใจปัญหาคอร์รัปชัน บริการสาธารณะไม่เคยปรับปรุงและเศรษฐกิจย่ำแย่ โดยความโกรธแค้นพุ่งเป้าไปที่ชนชั้นนำทางการเมือง และเลยเถิดไปถึงการก้าวก่ายของอิหร่าน
สถานการณ์บังคับให้นายกรัฐมนตรีอาเดล อับดุล-มาห์ดี ลาออก เมื่อปลายเดือนที่แล้ว แต่ยังรักษาการอยู่ นายอับดุล-มาห์ดี ไม่ได้แสดงความเห็นที่ฐานทัพสหรัฐในเคอร์คุกถูกโจมตี แต่วิจารณ์การตอบโต้ของสหรัฐว่าละเมิดอธิปไตยและคุกคามเสถียรภาพของอิรักและภูมิภาค โดยมีม็อบชาวอิรักที่สนับสนุนกองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ได้เข้าโจมตีและวางเพลิงบริเวณรอบนอกสถานทูตอเมริกาในกรุงแบกแดด ซึ่งสร้างเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดจนสหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งทหารเข้าเสริมกำลังป้องกันสถานทูตอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่รัฐบาลรักษาการของอิรักไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
เรื่องราวของ 2 ประเทศ คือ อิรักกับอิหร่าน มักเป็นเรื่องที่สับสนสำหรับคนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่ศึกษาในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อน
ประเทศอิรัก ตั้งอยู่ในภูมิภาคระหว่างแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรตีสที่เรียกว่า เมโสโปเตเมีย อันเป็นบ่อเกิดของภาษาเขียนและอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของโลก พื้นที่นี้ยังเป็นที่ตั้งของอารยธรรมที่สืบทอดต่อกันมานับแต่ 6 สหัสวรรษก่อนคริสตกาล เพิ่งได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยมีอาณาเขตทางทิศเหนือจรดประเทศตุรกี ทางทิศตะวันออกจรดประเทศอิหร่าน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดประเทศคูเวต ทางทิศใต้จรดประเทศซาอุดีอาระเบีย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดประเทศจอร์แดน และทางทิศตะวันตกจรดประเทศซีเรีย
กรุงแบกแดดซึ่งเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในกลางประเทศ ทั้งนี้ อิรักมีแนวชายฝั่งส่วนแคบวัดความยาวได้ 58 กิโลเมตรทางเหนือของอ่าวเปอร์เซีย และอาณาเขตของประเทศครอบคลุมที่ราบลุ่มแม่น้ำเมโสโปเตเมีย ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาซากรอส และทะเลทรายซีเรียส่วนตะวันออก สองแม่น้ำหลักคือ แม่น้ำไทกรีสและแม่น้ำยูเฟรตีส ไหลลงใต้ผ่านใจกลางประเทศและไหลลงสู่อ่าวเปอร์เซีย แม่น้ำเหล่านี้ทำให้ประเทศอิรักมีดินแดนอุดมสมบูรณ์มาก
อิรักมีประชากร 38 ล้านคน ราว 80% เป็นอาหรับและอีก 15% เป็นพวกเคิร์ด สำหรับชาวอิรักที่เป็นอาหรับนั้นราว 15 ล้านคนเป็นพวกชีอะห์และเป็นพวกซุนหนี่ 9 ล้านคน ส่วนพวกเคิร์ดส่วนใหญ่เป็นซุนหนี่
ในปี พ.ศ. 2501 ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้างและมีการสถาปนาสาธารณรัฐอิรักขึ้น ประเทศอิรักถูกควบคุมโดยพรรคสังคมนิยมอาหรับซึ่งนำโดยชาวอาหรับที่เป็นซุนหนี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ถึง 2546 หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกานำพันธมิตรบุกเข้าอิรักโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน โดยสหรัฐฯ ได้ยึดครองอิรักจนถึงปี พ.ศ. 2554 จึงจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น ผลปรากฏว่าพรรคของฝ่ายอาหรับชีอะห์ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ได้รับชัยชนะจึงตั้งรัฐบาลชีอะห์ขึ้นมา จนกระทั่งเกิดกลุ่มไอเอสซึ่งเป็นซุนหนี่หัวรุนแรง ได้บุกเข้ายึดดินแดนทางภาคเหนือและภาคกลางบางส่วนโดยตั้งเป็นรัฐอิสลามอิสระขึ้น ทำให้เกิดกองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ (เคเอช) ภายใต้ความช่วยเหลือของอิหร่านเพื่อรบขับไล่พวกไอเอสให้พ้นจากอิรัก ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านกำลังตึงเครียด มีการปะทะกันประปรายทำให้กองกำลังเคเอชยิงจรวดเข้าใส่ค่ายทหารอเมริกันในอิรักนั่นเอง
คราวนี้มาถึงเรื่องของอิหร่านที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางทิศตะวันออกของอิรัก ประเทศอิหร่านมีเนื้อที่ 1,648,195 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ในตะวันออกกลางและอันดับที่ 18 ในโลก มีประชากร 78.4 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับที่ 17 ของโลก เป็นประเทศเดียวที่มีชายฝั่งทะเลแคสเปียนและมหาสมุทรอินเดีย
ประเทศอิหร่านมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์มาช้านาน เนื่องจากที่ตั้งอยู่ในกลางยูเรเชียและเอเชียตะวันตก และอยู่ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ สำหรับประเทศอิหร่านนั้น ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวเปอร์เซีย ไม่ใช่ชาวอาหรับ และภาษาที่ใช้คือภาษาเปอร์เซีย ชาวอิหร่านถือตนว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมมายาวนานแต่โบราณกาล ประกอบกับชาวอิหร่านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ซึ่งเป็นอริกับนิกายซุนหนี่ที่ชาวอาหรับส่วนใหญ่นับถือ
ดังนั้นในประเทศกลุ่มอาหรับที่ส่วนใหญ่มีผู้นำเป็นพวกซุนหนี่จึงมักมีกบฏที่เป็นพวกชีอะห์อยู่เสมอ และพวกกบฏเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนทางการทหารและยุทโธปกรณ์รวมทั้งเงินทุนจากอิหร่านเช่นกบฏฮูตีในเยเมน พวกฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน และกองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ของอิรัก ล้วนแล้วแต่เป็นชาวชีอะห์ทั้งสิ้น!!!