แย่แล้ว! ค่าฝุ่นไทยสูงติดอันดับ 4 ของโลก หลัง PM 2.5 เกินมาตรฐานหลายจุด
วันนี้ (8 มกราคม 2563) สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงพุ่งสูงขึ้นหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่เขตปริมณฑล โดยต่อเนื่องและหนักขึ้นจากเมื่อวาน (7 มกราคม 2563) ส่งผลให้ในขณะนี้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนแล้ว
ล่าสุดเว็บไซต์ AirVisual ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานการจัดอันดับค่าฝุ่นแบบเรียลไทม์รอบโลก รายงานผลการจัดอันดับค่าฝุ่น พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครของประเทศไทยมีปริมาณฝุ่นแบบภาพรวมที่ 184 US AQI ขณะที่ปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่าเฉลี่ยที่ 119.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงติดอันดับที่ 4 ของโลก เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานที่อยู่อันดับ 8 ของโลก
กทม.เตรียมพร้อมแพทย์-พยาบาล ดูแลประชาชนจากภาวะฝุ่นละออง
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า สำนักอนามัยเตรียมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยมอบหมายให้กองควบคุมโรคติดต่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและระวังอันตรายจากภาวะฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ตามแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และขอความร่วมมือศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง ดำเนินการดังนี้
- ในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลตนเองจากภัยหรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) แก่ประชาชนในพื้นที่
- เฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ ในสถานการณ์ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ให้ความรู้และเฝ้าระวังแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยบุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 50 – 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 76 – 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน
ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้บรรเทาความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งให้ประชาชนได้รู้จักดูแลตนเองหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น
เตรียมแผนรับมือฝุ่น PM 2.5 ช่วงวันที่ 6-11 ม.ค.
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยถึงว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 6-11 ม.ค. ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีลมอ่อน หรือสงบในช่วงเช้า อาจส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” รวมทั้งเตรียมความพร้อมตามแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ เข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้คล่องตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากยานพาหนะ เช่น รณรงค์ไม่ขับ…ช่วยดับเครื่อง และบำรุงรักษาเครื่องยนต์รถราชการในสังกัดไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ประชาสัมพันธ์การบำรุงรักษารถเพื่อลดมลพิษแก่ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชน การห้ามเผาขยะและเผาในที่โล่งทุกชนิด เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
รวมทั้งเมื่อฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐาน ได้มีการประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจ ภายใต้แผนประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครอีกด้วย ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้เชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และสำนักงานประชาสัมพันธ์ ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อมีค่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง