นักวิชาการเชื่อ อิหร่าน-สหรัฐ ไม่บานปลายสงครามโลก แนะถอดถอน "ทรัมป์" ทุกอย่างดีขึ้น

นักวิชาการเชื่อ อิหร่าน-สหรัฐ ไม่บานปลายสงครามโลก แนะถอดถอน "ทรัมป์" ทุกอย่างดีขึ้น

นักวิชาการเชื่อ อิหร่าน-สหรัฐ ไม่บานปลายสงครามโลก แนะถอดถอน "ทรัมป์" ทุกอย่างดีขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีกระแสโลก เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3 จะอุบัติขึ้นหรือไม่ หลังจากที่ "นายโดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งโจมตีทางอากาศในกรุงแบกแดด ของอิรัก สังหาร "นายพลกอเซม สุไลมานี" ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ ผู้ทรงอิทธิพลเบอร์ 2 ของอิหร่านเปล่า ล่าสุดอิหร่านยิงจรวดกว่า 10 ลูกถล่มฐานทหารสหรัฐในสนามบินอิรัก จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลใจ

รายการโหนกระแสวันที่ 8 ม.ค. "หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้เปิดใจสัมภาษณ์ 2 นักวิชาการ "ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม" อาจาย์ประจำสาขาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ "ดร.ศราวุฒิ อารีย์" ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งที่เกิดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านมีมานานแล้วเหรอ ทำไมเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาได้?

ศ.ดร.จรัญ : "จริงๆ ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐ เคยมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่อันนั้นก่อนปี 1979 คือ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์แตกหักคือสมัยคาร์เตอร์เป็นประธานาธิบดี เพราะเกิดการปฎิวัติในปี 1979 เมื่อเกิดการปฏิวัติ อำนาจสหรัฐที่เคยอยู่ที่นั่นก็หายไป"

ตอนนั้นที่เขาดีกันอยู่ เขาดีกันในเรื่องอะไร?

ศ.ดร.จรัญ : "เขาดีกันในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์กับรัฐบาลสหรัฐ จนกระทั่งสหรัฐเข้าไปมีบทบาทด้านความมั่นคงและอื่นๆ มีการค้าขาย มีเรื่องน้ำมัน"

ดร.ศราวุฒิ : "สหรัฐอเมริกากับอิหร่านมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะสหรัฐได้สัมปทานน้ำมันจากอิหร่าน เป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่น แม้แต่ซาอุดิอาระเบียก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน ซึ่งเรามองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกัน แต่เคยเป็นพันธมิตรร่วมกันกับสหรัฐอเมริกา ก่อนปี 1979 ก่อนการปฏิวัติอิหร่าน"

ตอนนั้นรักกันดี มีการค้าน้ำมัน มีสิทธิในการดูแลซึ่งกันและกัน วันหนึ่งอิหร่านมีการปฏิวัติภายในเรื่องระบบของเขา แล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นยังไง?

ศ.ดร.จรัญ : "พอการปฏิวัติ มีการเปลี่ยนแปลง คือระบบกษัตริย์ได้หมดไปจากที่นั่น และมีนักการศาสนาเข้ามาปกครอง ซึ่งนักการศาสนาคนนั้นไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาของสหรัฐ ซึ่งก็คืออิหม่าม โคไมนี่ กษัตริย์ก็ลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา"

เลยทำให้เป็นประเด็นด้วยหรือเปล่า?

ดร.ศราวุฒิ : "เป็นประเด็นมาก เพราะคนอิหร่านไม่พอใจ ที่กษัตริย์ซึ่งประชาชนอิหร่านมองว่าเป็นราชาธิบดีที่กดขี่ประชาชน เมื่อลี้ภัยไปสหรัฐอเมริกา คนอิหร่านก็ไม่พอใจ จึงมีนิสิตนักศึกษาของอิหร่านเข้าไปสถานทูตอเมริกันและจับตัวประกันชาวอเมริกันซึ่งเป็นพลเรือนและนักการทูต ประมาณ 52 คน จับยาวนานประมาณ 444 วัน"

ศ.ดร.จรัญ : "โดยมองว่าที่นั่นเป็นรังโจรกรรม เป็นที่รวมของการวางแผนทุกอย่างเพื่อเข้ามามีอำนาจในอิหร่าน เหมือนที่ทรัมป์บอกว่าถ้าจะโต้กลับอิหร่าน จะโต้ไป 52 แห่ง เพื่อระลึกถึงคน 52 คนซึ่งถูกอิหร่านจับตัวไว้ เป็นรหัสและยาวนาน 444 วัน เมื่อเอาเครื่องบินเข้าไปช่วยเหลือ เครื่องบินก็ตกอีกทั้ง 2 ลำ อันนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หมางใจและแตกหัก"

ทำให้ขาดสะบั้นไป นอกเหนือจากโคไมนี่ที่อยู่ฝั่งอิหร่าน อยู่ดีๆ มีซัดดัมขึ้นมา?

ดร.ศราวุฒิ : "ขณะปฏิวัติอิหร่าน ก็มองว่าหลังการปฏิวัติ อิหร่านอ่อนแอ ไม่สามารถตั้งตัวได้ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ซัดดัมก็พยายามขยายอำนาจตัวเองเข้าไปในอิหร่าน โดยการสนับสนุนของสหรัฐ ซึ่งโกรธแค้นอิหร่านอยู่แล้ว ตัวเองเสียผลประโยชน์ พลเรือนนักการทูตถูกจับเป็นตัวประกัน ก็ต้องการเอาคืนอิหร่าน ก็สนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน เข้าไปทำสงครามกับอิหร่าน โดยการขายอาวุธให้ไปทำสงครามกับอิหร่าน"

ตอนนั้นมีนายพลโซเลมานีด้วยมั้ย?

ดร.ศราวุฒิ : "เข้าใจว่าโซเลมานีน่าจะเพิ่งเข้ารับราชการเป็นทหาร เพราะหลังการปฏิวัติอิหร่าน อิหร่านเพิ่งจะตั้งหน่วยงานปฏิวัติอิหร่าน ตอนนั้นโซเลมานียังหนุ่ม ตอนนั้นยังไม่ถึงคุดส์ แต่ที่แน่ๆ หลังจากนั้นปรากฏว่าโซเลมานีก็มีบทบาทโดดเด่นในสงครามอิรัก-อิหร่าน ยาวนาน 8 ปี ก่อนได้รับการไว้วางใจในช่วงทศวรรษ 1990 โซเลมานีถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพคุดส์ อยู่ภายใต้กองทัพการปฏิวัติอิหร่าน"

ศ.ดร.จรัญ : "คำว่าคุดส์ เป็นคำแทนเรียกเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว มุสลิม และชาวคริสต์ด้วย แต่คุดส์ในที่นี้มีความพยายามของอิหร่านพยายามปลดปล่อยดินแดนแห่งนี้ ซึ่งถูกยึดครองโดยชาวปาเลสไตน์ โซเลมานีก็เข้าไปช่วยหลายแห่งมาก ทั้งปลดปล่อยปาเลสไตน์ ช่วยซีเรีย เขาจึงเป็นคนที่โดดด่นมาก"

นายพลโซเลมานี เป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดอันดับ 2?

ดร.ศราวุฒิ : "มีความสำคัญอันดับ 2 ของประเทศ รองจากผู้นำสูงสุด"

นายพลโซเลมานีถูกลอบสังหาร ทำไมต้องสังหาร ทั้งที่ผ่านประธานาธิบดีมาหลายคนแล้ว ทำไมทรัมป์ต้องทำ?

ดร.ศราวุฒิ : "แผนสังหารโซเลมานีเกิดขึ้นหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่จอร์ช บุช ไล่เลยมาถึงโอบามา แต่สองประธานาธิบดีไม่ทำ เนื่องจากคาดการณ์ความเสี่ยงไม่ได้ ว่าสังหารคนสำคัญขนาดนี้จะเกิดอะไรขึ้น ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ผลประโยชน์สหรัฐ กองทัพอเมริกาจะเป็นอย่างไร เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ประธานาธิบดีคนก่อนๆ จีงไม่ทำ แต่ทรัมป์ทำในสิ่งที่ประธานาธิบดีคนก่อนไม่ทำหลายเรื่อง"

ศ.ดร.จรัญ : "ทรัมป์ตัดสินใจในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำหลายเรื่อง ก็มีการยอมรับว่ามีมาตรการนี้อยู่ในแผน แต่คนอื่นก็ไม่ทำ อีกอย่างมีผู้นำสหรัฐบอกว่าการทำสงครามกับอิหร่านก็มีอยู่ในนโยบายแต่ไม่มีใครทำ แต่ทรัมป์ทำ ซึ่งก็น่าสนใจ คู่แข่งเขาบางคนก็ยังพูดว่าเราไปยุ่งรุกรานหลายแห่ง ควรพอได้แล้ว หนึ่งเข้าไปทุกที่ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และดินแดนเหล่านั้นกลายเป็นดินแดนมิคสัญญีในตอนหลัง เช่นลิเบียและที่อื่น สหรัฐเองเข้าไปในอิรัก จนถึงวันนี้มีคนตายนับล้านคน นี่เป็นสถิติยูเอ็นเอง ตั้งแต่มีการรุกรานของสหรัฐ ที่กล่าวหาซัดดัม อุสเซนว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ อย่างนี้เป็นต้น"

ซัดดัมวันที่หมดเงิน ไปยึดที่ไหน?

ดร.ศราวุฒิ : "ไปยึดคูเวต ถ้าย้อนไป 1990 ซัดดัมเมื่อถังแตกก็ไปยึดคูเวต หวังว่าจะได้ส่วนแบ่งน้ำมันจากประเทศคูเวต แต่การณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสหรัฐอเมริกาได้ขอมติจากสหประชาชาติ และสหประชาชาติก็ผ่านมติให้สหรัฐนำกองกำลังพันธมิตรของประชาคมโลกเข้ามาขับไล่ซัดดัมออกจากคูเวต"

จากที่เคยสนับสนุนซัดดัมให้ไปรบกับอิหร่าน ก็ไปเป็นศัตรูกับซัดดัมอีก?

ศ.ดร.จรัญ : "ใช้คำว่างูกินหาง เพราะสนับสนุนซัดดัม ในที่สุดซัดดัมก็ถูกสังหาร สนับสนุนบินลาเดนในตอนต้น เพราะบินลาเดนร่วมรบกับสหรัฐ ไม่ต้องการให้คอมมิวนิสต์เข้ามา สุดท้ายก็ไปสังหารบินลาเดน หลังผลประโยชน์หรือความคิดเปลี่ยนแปลงไป"

ล่าสุดอิหร่านชักธงแดงสีเลือด หมายความว่าอะไร?

ศ.ดร.จรัญ : "หมายความว่าผู้คนมีความห็นใจจากการเสียชีวิตไปของโซเลมานี ต้องการแก้แค้นและรวมตัวประชาชนเข้าด้วยกัน นี่คือการชักธงเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ครั้งแรกอาจเป็นการระลึกถึงท่านอิหม่าม การชักธงแดงครั้งนี้เขารวมตัวคนได้นับล้านคน ไม่ต่างจากการปฏิวัติในสมัยโคมานี่"

ธงไม่เคยถูกชักมาเป็นพันปีแล้ว นี่เป็นครั้งที่สอง เหมือนประกาศจะเอาคืนสหรัฐหรือเปล่า?

ดร.ศราวุฒิ : "ผู้นำอิหร่านบอกตั้งแต่ต้นหลังเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารโซเลมานีว่าจะเอาคืนแน่นอน วันนี้ก็เห็นการยิงจรวดเข้าไปในฐานทัพสหรัฐอเมริกาในอิรัก ก็เป็นสถานการณ์ที่เปราะบาง ว่าสหรัฐจะมีท่าทีอย่างไร จะเอาคืนอิหร่านหรือไม่ ถ้าเอาคืนเหตุการณ์จะบานปลายขนาดไหน"

ตอนนี้เขาเปิดศึกกันแล้ว ประเมินกำลังอิหร่านสู้ไหวมั้ย?

ดร.ศราวุฒิ : "ถ้ามองเรื่องศักยภาพในการรบทางทหาร อิหร่านไม่สามารถต่อกรกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจได้ แต่ถามว่าอิหร่านสามารถสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลางได้หรือไม่ ตอบว่าได้ อิหร่านมีศักยภาพตรงนั้น ขณะเดียวกันหลายฝ่ายกลัวว่าความขัดแย้งตรงนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะขยายตัวไปสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางรวมถึงโลกหรือไม่ ขณะนี้มีการประเมินกัน หลายฝ่ายเชื่อว่าตอนนี้ความรุนแรงที่เกิดในอิรัก ก็ยังไม่น่าขยายตัวไปสู่ระดับโลก อันเนื่องมาจากว่าท่าทีมหาอำนาจฝ่ายต่างๆ ยังไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม จะเห็นได้ว่ารัสเซียกับจีนก็ออกมาบอกว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะลดความขัดแย้ง ลดความตึงเครียด"

อิหร่านประกาศว่าประเทศไหนเป็นพันธมิตรอเมริกา แล้วให้อเมริกาไปตั้งฐานที่นั่นเขาเหมารวมหมด สองสัมพันธภาพของจีนกับอเมริกาสั่นคลอน จีนอาจหนุนหลังอิหร่านหรือเปล่า แม้แต่เกาหลีเหนือเองก็ไม่เห็นด้วยที่ทรัมป์ลอบสังหารแบบนี้ เขาจะยุติการพูดคุยกับทางทรัมป์?

ศ.ดร.จรัญ : "ครั้งนี้ทรัมป์ต้องเผชิญพันธมิตรตัวเองไม่ค่อยแน่นอน ฝ่ายสหภาพยุโรปเองก็ยังมีความสัมพนธ์กับอิหร่าน ต้องการให้อิหร่านยกเลิกการทำโครงการอาวุธนิวเคลียร์ แล้วรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนก็ออกมาชัดเจนว่าอยากเข้ามามีบทบาทในตะวันออกกลาง นัยยะคือเห็นใจอิหร่าน รัสเซีย จีน ค่อนข้างชัดเจนว่าเห็นด้วยกับอิหร่านและซ้อมรบร่วมกัน ทำให้ทรัมป์ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว ถ้าทำสงครามตามรูปแบบ ทรัมป์มีอาวุธดีกว่า แต่ถ้าสงครามที่กลยุทธ์ อิหร่านทำได้ดีกว่า 8 ปีของอิหร่านโดนอิรัก และหลายประเทศบุกเต็มที่ยังเอาชนะไม่ได้ และอาวุธที่ใช้ก็อาวุธจากจีน เกาหลีเหนือ และแอบซื้อจากสหรัฐด้วย"

ถ้าถึงเวลาแล้วเกาหลีเหนือโดดมาเล่นด้วย จะถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 มั้ย?

ดร.ศราวุฒิ : "ผมคิดว่าขั้วอำนาจหรือฝ่ายต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เราเห็นค่อนข้างชัดเจนว่าอิหร่านได้รับการสนับสนุนจากจีน รัสเซีย เพราะเราก็ทราบกันดีว่าอยู่คนละฝ่ายกับสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็มีพันธมิตรอย่างซาอุดิอาระเบีย กลุ่มอ่าวเปอร์เซีย สหภาพยุโรป ซึ่งครั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของทรัมป์ เซย์กู๊ดบายไม่เอาด้วย เกาหลีเหนืออยู่ฟากอิหร่าน แบ่งขั้วกันชัดเจน"

ศ.ดร.จรัญ : "ฝ่ายที่เคยอยู่ฝ่ายสหรัฐ ก็ไม่มีท่าทีมาทางสหรัฐอย่างแจ่มชัดแม้แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ทั้งรัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษก็บอกว่าน่าจะมีหนทางในทางการทูต"

มีโอกาสมั้ยที่ทรัมป์อาจโดนบึ้มเหมือนนายพลโซเลมานี?

ดร.ศราวุฒิ : "เมื่อทรัมป์ได้สั่งสังหารนายพลโซเลมานี ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์แบบนี้มาก่อน นอกจากในช่วงสงครามโลก ผมว่าขณะนี้วิธีการแบบนี้อาจถูกนำเอาไปใช้กับผู้นำคนอื่นๆ ประเทศอื่นๆ มีลักษณะการลอกเลียนแบบ มีลักษณะสังหารผู้นำคนสำคัญโดยใช้โดรน ซึ่งเรื่องอย่างนี้เปราะบาง ทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามได้ง่ายขึ้น"

ทรัมป์มีปัญหาภายในประเทศ สภากำลังจะถอดถอน ถ้าสหรัฐลงมติเอาทรัมป์ออก เรื่องจบมั้ย?

ศ.ดร.จรัญ : "อย่างน้อยก็ดีขึ้น เช่นมีการลงขันกัน ขอให้ชาวอิหร่านออกคนละ 1 เหรียญสหรัฐ รวมแล้วได้ 2,000 กว่าล้าน แสดงให้เห็นว่าผู้คนมีความเห็นร่วมกัน ว่าทรัมป์เป็นอุปสรรคสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมัยโอบามาเขาคืนดีกันแล้วกับอิหร่าน คืนเงินที่ยึดจากอิหร่านไป จนอิหร่านมาซื้อเครื่องบินสหรัฐ ฝรั่งเศส แต่มาถึงทรัมป์ ทรัมป์ก็คว่ำตรงนี้อีก"

ไม่น่ามีเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3 ถ้ามีจริงๆ ก็สงครามจรยุทธ์?

ศ.ดร.จรัญ : "ถูกต้อง เราจะเห็นหลังจากนี้ สหรัฐอเมริกาจะโดดเดี่ยวมาก"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook