วงแตก! ชาติพันธมิตร ตีตัวออกห่างสหรัฐฯ ปัดพัลวันไม่รู้ล่วงหน้า เหตุสังหารนายพลอิหร่าน
ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ หลายประเทศที่เคยสนับสนุนให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นในการรับมือกับอิหร่าน กลับเริ่มตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ ด้วยการออกมาประกาศว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่รู้มาก่อนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งการให้กองทัพสหรัฐฯ สังหารพลตรีกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ กองกำลังสำคัญของกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ด้วยการโจมตีทางอากาศจากโดรนที่กรุงแบกแดดของอิรักเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา
ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ หลายประเทศพยายามจะไม่ยุ่งกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านในครั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะตกเป็นเป้าการโจมตีของอิหร่านและพันธมิตรไปด้วย โดยเฉพาะหลังจากที่อิหร่านยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกถล่มฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งในอิรัก
อิสราเอลและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตย้ำว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีของสหรัฐฯ แต่อย่างใด ขณะที่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ซาอุดีอาระเบีย และอันโตนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติต่างก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ อดกลั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่าจะจะโจมตีใส่สถานที่ทางวัฒนธรรมของอิหร่าน
อังกฤษได้สั่งลดจำนวนบุคคลากรที่ทำงานให้สถานทูตอังกฤษประจำอิหร่านและอิรัก เพื่อความปลอดภัยของพลเมืองอังกฤษ
ด้านจาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านได้ขอเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ทางการอิหร่านได้กล่าวกับประชาคมโลกเกี่ยวกับการสังหารนายพลโซเลมานี แต่สหรัฐฯ กลับปฏิเสธวีซ่าของซารีฟ ซึ่งการกีดกันไม่ให้ซารีฟเข้าร่วมการประชุม UNSC ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงสำนักงานใหญยูเอ็นปี 1947
มหาอำนาจในยุโรปที่เข้าร่วมทำข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อปี 2015 อย่างอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศสก็เตรียมจะหารือและตัดสินใจว่าจะเริ่มกระบวนการจัดการความขัดแย้งหรือไม่ หลังจากที่อิหร่านออกมาประกาศว่าจะไม่ทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านโดยจะไม่จำกัดระดับการผลิตแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถภาพ ซึ่งกระบวนการจัดการความขัดแย้งอาจนำไปสู่การเรียกร้องให้ยูเอ็นคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา อิหร่านก็ได้วิจารณ์มหาอำนาจในยุโรปว่าไม่ปกป้องอิหร่านจากการคว่ำบาตรรุนแรงจากสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ทำลายความสงบในตะวันออกกลาง?
ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และกาตาร์ ซึ่งมีฐานทัพของสหรัฐฯ ก็อยู่ในระยะที่ขีปนาวุธอิหร่านสามารถยิงไปถึง ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมพลังงานและความมั่นคงทางอากาศของประเทศเหล่านี้ก็มีจุดอ่อนให้โจมตีได้ไม่ยากนัก ขณะที่อิราเอลก็เสี่ยงจะตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนอิหร่านในเลบานอน
สำนักข่าวเดอะ วอลสตรีท เจอร์นัลรายงานว่า กองทัพสหรัฐฯ นำโดรนได้โจมตีสังการนายพลโซเลมานีระหว่างการเดินทางไปพบกับอเดล อับดุล มาห์ดี นายกรฐมนตรีอิรัก ซึ่งออกมาเปิดเผยในภายหลังว่า เขาทำหน้าที่เป็นตัวกลางการติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐบาลซาอุดีอาระเบียและทางการอิหร่าน รวมถึงนายพลโซเลมานีด้วย
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียทรงต่อสายตรงไปยังอับดุล มาห์ดีเพียงไม่นานหลังนายพลโซเลมานี เพื่อขอให้ “พยายามทำให้สภานการณ์สงบลง” จากนั้น พระองค์ทรงส่งเจ้าชายคาลิด บิน ซัลมาน น้องชายของพระองค์และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม ซึ่งเคยเป็นทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐฯ ไปที่กรุงวอชิงตันเพื่อเตือนรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าซาอุดีอาระเบียรู้สึกกังวลกับผลกระทบที่เกิดจากการสังหารนายพลโซเลมานี
โมฮัมเหม็ด อัล-สุไลมี ประธานราซานาห์ องค์กรให้คำปรึกษารัฐบาลซาอุดีฯ เกี่ยวกับอิหร่านกล่าวว่า ประเด็นและความปรารถนาหลักของซาอุดีฯ คือการลดระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ พวกเขารู้ว่าอิหร่านกำลังโกรธ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว อิหร่านอาจคิดได้อย่างใจเย็นและมีเหตุมีผลถึงอันตรายของการตอบโต้สหรัฐฯ ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือต่อภูมิภาคอย่างรุนแรง แต่ซาอุดีฯ ก็ยังสนับสนุนให้รัฐบาลทรัมป์ “กดดันขั้นสูงสุด” เพราะมองว่าเป็นทางเลือกทางเดียวนอกเหนือจากการทำสงคราม ซึ่งไม่มีใครอยากทำสงคราม
อันวาร์ การ์กาช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายมี “สติปัญญา” และ “วิถีทางที่สมเหตุสมผลปราศจากอารมณ์” ขณะที่กาตาร์ ซึ่งมีศูนย์บัญชาการทหารหลักในตะวันออกกลางของสหรัฐฯ ก็ส่งโมฮัมหมัด บิน อับดุลราห์มาน อัล-ธานี รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงต่างประเทศไปเจรจาสันติภาพกับอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม พลตรียาคอฟ อมิดรอร์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่งคงของชาติของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวว่า การสังหารนายพลโซเลมานีได้สร้างเสถียรภาพให้กับอิสราเอลในระดับหนึ่ง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลเป็นหรือให้เป้าโจมตีหลักของนายพลโซเลมานี