“U = U” ตรวจไม่เจอเชื้อเอดส์ = ไม่แพร่เชื้อ จริงหรือไม่

“U = U” ตรวจไม่เจอเชื้อเอดส์ = ไม่แพร่เชื้อ จริงหรือไม่

“U = U” ตรวจไม่เจอเชื้อเอดส์ = ไม่แพร่เชื้อ จริงหรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณี “พีท คนเลือดบวก” หรือนายฐิฏิวัสส์ ศิรเศรษฐกร ที่เผยแพร่แนวคิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยของผู้ติดเชื้อเอชไอวี พร้อมอ้างว่าจะมีการเปิดคอร์สสอน “เซ็กส์สด” ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกในโลกโซเชียล และกลายเป็นดราม่าครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมที่โจมตีพีทอย่างรุนแรงก็สะท้อนให้เห็นถึงการมีอคติต่อผู้ติดเชื้อ รวมทั้งความไม่เข้าใจในเรื่องโรคเอดส์และการป้องกันโรคเอดส์อย่างเพียงพอ

>> "พีท คนเลือดบวก" เปิดใจคอร์สเซ็กซ์ไม่ใส่ถุง แจงแค่ทฤษฎีใหม่ ชวนแพร่เชื้อเอชไอวี

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เล่าให้ sanook.com ฟังว่า เมื่อราว 30 ปีก่อน โรคเอดส์ถือเป็นโรคติดต่อที่น่ากลัวมาก เนื่องจากมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และที่ร้ายแรงยิ่งกว่า คือไม่มียารักษาโรคนี้ ผู้ที่ติดเชื้อจะอายุสั้นและต้องเสียชีวิตเท่านั้น รวมทั้งยังมีการตีตราผู้ติดเชื้อ เนื่องจากขณะนั้น ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชายรักชาย กลุ่มผู้ที่เสพยาเสพติด หญิงขายบริการทางเพศ และผู้ชายที่ซื้อบริการทางเพศ และแพร่เชื้อไปสู่ภรรยา ซึ่งสังคมมักจะมองว่าเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่ดี

แต่ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคเอดส์ และการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการหยุดยั้งโรคเอดส์ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาต้านไวรัสทันทีหลังจากที่ตรวจเจอเชื้อเอชไอวีในเลือด และหากกินยาจนกระทั่งมีปริมาณเชื้อน้อยลง ผู้ติดเชื้อก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ จนกระทั่งในปี 2015 องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะต้องรับยาต้านไวรัสทันทีที่ตรวจพบเชื้อ

“ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา มันเริ่มมียารักษา กดเชื้อได้ พอปี 2000 ยารักษาก็มีเยอะเลย เพราะฉะนั้นในเวลานี้ เอดส์เปลี่ยนไปจาก 20 – 25 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง คนที่ติดเชื้อเวลานี้สามารถเข้าถึงยา รัฐบาลมียาให้กินฟรี ยาก็กินง่าย วันละเม็ดเดียว คนที่กินยาจะไม่ป่วยเป็นเชื้อราขึ้นสมองอะไรเลย แล้วก็ไม่มีแก้มตอบ ขาลีบ แขนลีบ ร่างกายแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตยืนยาวไม่ต่างจากคนที่ไม่ติดเชื้อ” นพ.ประพันธ์กล่าว

U = U คืออะไร

ท่ามกลางกระแสดราม่าและการโจมตี “พีท คนเลือดบวก” สิ่งที่ไม่ได้ถูกโฟกัสมากนักในวิวาทะครั้งนี้คือทฤษฎีที่เรียกว่า “U = U” ซึ่ง นพ.ประพันธ์อธิบายว่า U ตัวแรกคือ Undetectable หมายถึงตรวจไม่เจอเชื้อ และ U ตัวที่สองก็คือ Untransmittable หมายถึงไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้ นั่นคือหากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ จนกระทั่งเชื้อเอชไอวีในเลือดมีจำนวนลดลงจนไม่สามารถตรวจพบได้ ก็จะไม่แพร่เชื้อไปสู่คู่นอนของตัวเอง แม้จะไม่ได้หายขาดจากโรคเอดส์ก็ตาม

“มีการวิจัย 3 โครงการ ที่ทำอย่างรัดกุมในหลายประเทศ ประเทศไทยก็ร่วมอยู่ในโครงการหนึ่ง เรียกว่า Opposite Attract ซึ่งติดตามกลุ่มชายรักชาย ชายรักหญิงธรรมดาทั่วไป แล้วก็กลุ่มที่เป็นสาวประเภทสอง ที่ติดเชื้อ และมีคู่นอนที่ไม่ติดเชื้อ ประมาณ 4,000 คู่ จากหลายประเทศทั่วโลก ใช้เวลาในการติดตามประมาณ 4 – 5 ปี พบว่าในกลุ่มนี้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยกับคู่ของเขาที่ติดเชื้อ เกือบ 1 แสนครั้ง แต่ในรายงานผลการวิจัยเมื่อปี 2017 ปรากฏว่าไม่มีใครติดเชื้อจากคู่ของตัวเองเลย เช่นเดียวกับในรายงานปี 2018 และ 2019 ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มนี้มีอยู่ 220 คน ที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นนอกคู่ พบว่าติดเชื้อ 16 ราย ก็เลยมีการประกาศในที่ประชุมที่ปารีสเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และในที่ประชุมที่อัมสเตอร์ดัมเมื่อปีที่แล้ว ว่า U = U คือถ้าตรวจไม่เจอเชื้อ ไม่มีทางที่คู่นอนจะติดเชื้อ แม้จะไม่ได้สวมถุงยางอนามัย” นพ.ประพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ประพันธ์ยังชี้ให้เห็นว่าการค้นพบทฤษฎี U = U ยังอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและสิทธิของผู้ติดเชื้อ โดยยกตัวอย่าง Swiss Statement ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีกฎหมายระบุว่าหากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องจนตรวจไม่พบเชื้อ 2 ครั้งขึ้นไป คนผู้นั้นไม่ต้องสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนของตัวเอง โดยคู่นอนต้องรับทราบและยินยอม จึงจะไม่ผิดกฎหมาย

“เราไม่ได้บอกว่าคนที่ติดเชื้อสามารถไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นได้ แต่เรากำลังบอกว่า คนที่ติดเชื้อ กินยาอย่างดีแล้ว เวลามีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นโดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย ก็ไม่ทำให้ใครติดเชื้อ ส่วนการที่เขาจะใส่หรือไม่ใส่ถุงยางอนามัย เป็นการตัดสินใจของคนนั้นและคู่ของเขาเอง ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เขาต้องนำมาคิด เช่นการตั้งครรภ์หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ที่รู้แน่ๆ คือไม่ติดเชื้อเอชไอวี” นพ.ประพันธ์อธิบาย

ประโยชน์ของ U = U

แม้ว่า U = U จะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนักในสังคมไทย แต่หากพิจารณาให้ดี จะพบว่าทฤษฎีดังกล่าวให้ผลดีต่อตัวผู้ติดเชื้อ ครอบครัว และสังคม ซึ่ง นพ.ประพันธ์ระบุว่า U = U จะทำให้ผู้ป่วยมีความหวังในการมีชีวิตอยู่ และทำให้วินัยในการกินยาของผู้ป่วยดีขึ้น

“U = U ทำให้คนอยากมาตรวจเลือด เพราะรู้ว่าถ้าเขาติดแล้วเขากินยา จนตรวจไม่เจอ เขายังสามารถแต่งงานได้ สามารถมีลูกได้ แทนที่จะไม่มีความหวังเลย ตรวจเจอแล้วตายอย่างเดียว มีแฟนไม่ได้ มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ แต่งงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ตรวจซะเลย อยู่เฉยๆ ติดไม่ติดก็ไม่รู้ ก็แพร่ให้คนอื่นไปเรื่อยๆ และยังทำให้ผู้ที่ติดเชื้อรีบรักษาตัวอย่างเคร่งครัด กินยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตรวจไม่เจอเชื้อ รักษาระดับ undetectable ไปตลอด จะได้มีประโยชน์ทั้งกับสุขภาพของเขาเอง และเป็นประโยชน์ต่อคนที่เขารัก หรือเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น เพราะเขาไม่แพร่เชื้อให้ใคร”

สำหรับผลดีในแง่ของครอบครัว นพ.ประพันธ์อธิบายว่า ผู้ติดเชื้อจะสามารถใช้ชีวิตครอบครัวได้ตามปกติ โดยเฉพาะเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตัวเอง U = U จะลดความกังวลขณะมีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่การสวมถุงยางอนามัยทำให้ผู้ติดเชื้อกังวลเรื่องถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด และยังเปิดโอกาสให้คู่ที่ต้องการมีลูกสามารถมีลูกได้ แม้ว่าสามีหรือภรรยาจะเป็นผู้ติดเชื้อก็ตาม นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัว ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่กล้าบอกคู่ของตัวเองว่าตนติดเชื้ออยู่

“ผู้หญิงไทยจำนวนมากที่ตรวจเจอว่าติดเชื้อ ไม่กล้าบอกแฟนให้ไปตรวจเลือด เพราะเขาไม่แน่ใจว่าเขาติดเชื้อมาจากใคร ถ้าตรวจแล้วสามีเจอเชื้อ ก็เจ๊ากันไป แต่ถ้าตรวจแล้วสามีไม่มีเชื้อ มีปัญหาแน่ สามีทิ้งไปเลย เขากลัวตรงนั้น เพราะฉะนั้น พอมีความรู้เรื่อง U = U ตอนนี้หลายคู่กล้าไปบอกสามีว่าฉันติดเชื้อ ตอนนี้ฉันกินยาจนตรวจไม่เจอ รับรองคุณไม่ติดเชื้อจากฉันแน่ เพราะฉะนั้น คุณไปตรวจเลือดเถอะ ถ้าตรวจแล้วไม่เจอเชื้อ ก็อยู่กันได้ เพราะรู้ว่าภรรยาจะไม่ทำให้เขาติดเชื้อแน่นอน” นพ.ประพันธ์ระบุ พร้อมเสริมว่า แม้แต่คู่ของผู้ที่ติดเชื้อยังไม่ได้รับอันตรายจากผู้ติดเชื้อ เพราะฉะนั้น สังคมก็ไม่ควรรังเกียจผู้ติดเชื้อ รวมทั้งไม่กีดกันและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการรับรองว่า U = U ไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัย แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ เมื่อไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย ก็มีความเสี่ยงในเรื่องการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ตามมา

U = U จะช่วยหยุดโรคเอดส์ได้อย่างไร

นพ.ประพันธ์กล่าวถึงการต่อสู้กับโรคเอดส์ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีภารกิจในการยุติโรคเอดส์ภายในปี 2030 คือต้องไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ หรือต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อในปี 2000 และต้องมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์น้อยลง กล่าวคือ ต้องทำให้โรคเอดส์กลายเป็น “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” จนกระทั่งไม่เป็นปัญหาสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งภารกิจครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้ ผู้ที่ติดเชื้อต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเร็ว และรักษาอย่างทันท่วงที นั่นหมายความว่า U = U ก็จะมีบทบาทในการทำให้ผู้ติดเชื้อหันมาดูแลตัวเองโดยการกินยาอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

สำหรับการรณรงค์เรื่อง U = U นพ.ประพันธ์มองว่าสิ่งที่รัฐบาล หน่วยงานด้านสาธารณสุข และนักวิชาการต้องทำเป็นอันดับแรก คือการ “ชั่งน้ำหนัก” ระหว่างข้อดีและข้อเสียของ U = U เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนตรงกัน และประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างเป็นทางการให้สังคมรับรู้ แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนถกเถียงกันบนโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การรณรงค์เป็นไปได้ยาก คือการที่สังคมยังคงตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ ด้วยอคติและความเข้าใจที่ผิด นพ.ประพันธ์กล่าวว่า นอกจากการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว ควรยกเลิกกฎหมายบางข้อ ที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อถูกละเมิดสิทธิ

“ต้องยกเลิกกฎหมายบางข้อที่ใช้อยู่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่งไม่ให้ผู้ติดเชื้อเข้าทำงาน เป็นตำรวจก็ต้องไม่ติดเชื้อ ทั้งที่การติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อไม่ได้ทำให้สมรรถภาพการเป็นตำรวจน้อยลง ไปบวชเป็นพระในวัด ต้องตรวจไม่เจอเชื้อเอดส์ เพื่ออะไร ไม่เกี่ยวเลย และในบ้านเรา กฎหมายที่รักษาสิทธิของคนที่ติดเชื้อยังไม่มี หรือว่ามีก็ยังไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีใครกล้าไปฟ้องว่าฉันติดเชื้อและถูกเลือกปฏิบัติ ไม่มีใครกล้ายืนออกไปตรงนั้น เพราะฉะนั้น การบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่ชัดเจน ไม่เด็ดขาด ถ้าบังคับใช้กฎหมายได้เด็ดขาด การลดการตีตราก็จะดีขึ้น และการลดการลิดรอนสิทธิก็จะดีขึ้น ประเทศไทยจะยุติเอดส์ได้ ต้องลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ” นพ.ประพันธ์กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook