10 พลังเยาวชนรุ่นใหม่ เปลี่ยนโลกเพื่ออนาคต

10 พลังเยาวชนรุ่นใหม่ เปลี่ยนโลกเพื่ออนาคต

10 พลังเยาวชนรุ่นใหม่ เปลี่ยนโลกเพื่ออนาคต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโลกที่เรื่องของสิทธิมนุษยชนและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ถูกให้ความสำคัญและถูกมองข้ามจากผู้มีอำนาจในการสั่งการ สิทธิและเสรีภาพของผู้คนจึงลดน้อยถอยตามลงไปด้วย แต่ในยามท้อแท้ ย่อมมีความหวัง เมื่อบรรดาผู้นำเยาวชนจากทั่วโลก พร้อมใจกันลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนทั่วทั้งโลก แม้จะเป็นเพียงเยาวชนที่ถูกมองว่าไร้อำนาจการต่อรองใด ๆ แต่พวกเขากก็ไม่เกรงกลัวที่จะยืนหยัดเพื่อสร้างโลกที่ทุกคนมีสิทธิในการเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศไหน สถานะใด และชนชาติอะไรก็ตาม

และเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ 2563 Sanook จึงขอแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับกลุ่มเยาวชนที่ไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนและมีเป้าหมายเพื่อสร้างบ้านที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

1. Adélaïde Charlier จากประเทศเบลเยียม

ความล้มเหลวของการต่อสู้เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องภาวะโลกร้อนอาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เยาวชนจากทั่วโลกต่างลุกขึ้นมาแสดงพลังเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย และหนึ่งในนั้นก็คือ Adélaïde Charlier สาวน้อยจากเบลเยียมที่รับหน้าที่เป็นผู้นำของการต่อสู้ในครั้งนี้ โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก Greta Thunberg เธอจึงเริ่มทำการประท้วง ซึ่งแรกเริ่มมีคนมาร่วมเพียง 350 คน จากนั้นเพิ่มเป็น 15,000 คนในครั้งที่ 2 และกว่า 35,000 คนในครั้งที่ 3

“ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริง และผู้ใหญ่ก็ควรเริ่มแสดงความรับผิดชอบได้แล้ว เรายอมที่จะโดดเรียนมา แต่สิ่งที่เราต้องทำก็คือเราต้องทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น!”

2.Manu Gaspar จากประเทศฟิลิปปินส์

การโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์กำลังเพิ่มสูงขึ้น ด้วยคำสั่งของประธานาธิบดี Duterte ที่ให้ตำรวจสามารถจัดการ “ยิง” นักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่า “ขัดขวางกระบวนการบุติธรรม” แต่ยังมีเยาวชนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเขาอย่างกล้าหาญ และเขาคนนั้นก็คือ Manu Gaspar

“ผมอยากให้ผู้นำประเทศทั่วโลกลองรับฟังเสียงของเยาวชน มากกว่าที่จะวางท่าใหญ่โต”

3.Karin Watson Ferrer จากประเทศชิลี

Karin Watson Ferrer เป็นนักกิจกรรมที่ทำงานทางด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง และเธอได้เรียกร้องให้มีการทำแท้งอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายในประเทศชิลี โดยเธอชี้ว่า แม้กฎหมายจะอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ หากเข้าเงื่อนไขเรื่องครรภ์เป็นพิษ หรือถูกข่มขืน แต่เธอมองว่าปัญหาก็ยังไม่ได้หมดไป และผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิที่จะเลือกในสิ่งที่พวกเธอต้องการ

“ผู้หญิงทุกคนต้องสามารถพูดคุยกันเรื่องปัญหานี้ได้ เพื่อที่พวกเธอจะได้รู้ว่า พวกเธอไม่ได้อยู่เพียงลำพัง”

4.Vibha Venkatesha จากสหรัฐอเมริกา

เช่นเดียวกับความไม่ใส่ใจในเรื่องภาวะโลกร้อน ข้อกำหนดการควบคุมผู้อพยพและสิทธิของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ทำให้กลุ่มเยาวชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกับ Venkatesha ผู้นำเยาวชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของทุกคน

“บางครั้งความคิดเรื่องการออกมาเรียกร้องก็น่ากลัวนะคะ แต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างเช่นการได้พูดคุยกับใครสักคนแค่นั้นก็ได้”

5.Christoph Alberts จากประเทศเยอรมนี

ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะไปได้สวยในประเทศเยอรมนี และปัญหาเรื่องสังคมวัฒนธรรมก็ยังสร้างความแตกร้าวลึกให้กับสังคม ทั้งยังก่อให้เกิดการไม่เคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนอีกด้วย Alberts นักกิจกรรมเยาวชนที่ทำงานมากว่า 5 ปี ชี้ว่า ปัญหาเรื่องการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobia) การเหยียดเชื้อชาติ และการเหยียดเพศยังคงมีอยู่ทั่วประเทศเยอรมนี

“เราต้องเสียงดัง และเราก็ต้องเรียกร้องสิทธิของเราเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม”

6.Adriana Bottini จากเวเนซุเอลา

เวเนซูเอล่ามีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาหลายปี ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารและยารักษาโรคที่มีอยู่อย่างจำกัด ความตกต่ำในเรื่องการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับปัญหาความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหงจากภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ เยาวชนชาวเวเนซุเอลา อย่าง Adriana Bottini จึงต้องลุกขึ้นมาแสดงพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศของตัวเอง

“รัฐบาลเวเนซุเอลาขโมยช่วงวัยเยาว์ของฉันไป การเป็นเยาวชนคือการท้าทายระบบและโครงสร้างของอำนาจ เพื่อทำให้โลกใบนี้เป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้น”

7.Brayan Monsalve จากประเทศโคลอมเบีย

Brayan Monsalve นักศึกษาจิตวิทยาจากประเทศโคลอมเบีย เป็นหนึ่งในผู้ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ ครอบครัวของเขาถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศเพราะปัญหาทางการเมืองในประเทศ และประสบการณ์นั้นเองที่เป็นตัวผลักดันให้เขาเข้าร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น แม้จะต้องเผชิญหน้ากับการขุ่มขู่และตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกฆ่าตายก็ตาม

“พ่อเคยบอกว่า ‘ลูกต้องสู้เพื่อความฝัน และเมื่อไรที่ลูกสู้เพื่อความฝัน มันก็จะกลายเป็นความจริง’ นั่นแหละที่ทำให้ผมกลายมาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

8.Lehlogonolo Muthevhuli จากประเทศแอฟริกาใต้

ถึงแม้บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองในประเทศแอฟริกาใต้จะทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนดีขึ้น แต่ความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกในประเทศก็ยังคงทำให้คนบางกลุ่มเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้มากกว่าคนอีกกลุ่ม Lehlogonolo Muthevhuli บัณฑิตจบใหม่จึงลบล้างความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องประจำเดือน ทั้งยังเรียกร้องให้เกิดความตระหนักในเรื่องสุขภาพจิตอีกด้วย

“เด็กผู้หญิงถูกตัดสินเพียงเพราะพวกเธอเรียกร้องขอการคุมกำเนิด ขณะที่เรื่องสุขภาพจิตก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีนั้นเป็นขั้นตอนที่ยาวนานและยุ่งยาก แต่ฉันอยากเปลี่ยนแปลงมันค่ะ”

9.Miho Kawamoto จากประเทศญี่ปุ่น

Miho Kawamoto นักกิจกรรมเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น ที่ทำงานให้ความรู้แก่สังคมญี่ปุ่นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเธออธิบายว่า ในปี 2017 นั้น รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศเพียง 28 เคส จากทั้งหมดเกือบ 11,000 เคส

“ในญี่ปุ่น ไม่มีใครบอกคุณหรอกว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร หรือผู้ลี้ภัยและผู้อพยพก็มีสิทธิเช่นกัน”

10.Marsel Tugkan จากประเทศตุรกี

แม้ตุรกีจะยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินมาแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2018 แต่พื้นที่สำหรับเรื่องของสิทธิมนุษยชนกลับยิ่งลดน้อยลง Marsel Tugkan วัย 25 จึงต่อสู้เพื่อให้พื้นที่และการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนยังมีอยู่ในประเทศ

“การที่ผมไม่สามารถอดทนกับความไม่ยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมได้เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของผม”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook