ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เร่งปฏิรูปฝ่าวิกฤต พลิกโฉมใหม่การศึกษาทางไกล
วันนี้ (9 มกราคม 2563) เวลา 11.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว “ปฏิรูป มสธ. ฝ่าวิกฤต พลิกโฉมใหม่การศึกษาทางไกล” ณ ห้องประชุม 5209 อาคารสัมมนา 1 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จ.นนทบุรี
ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่มหาวิทยาลัยเผชิญ พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ไข โดยทำการวิจัยและรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ซึ่งปัญหาหลักที่พบคือ จำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการออกกลางคัน และการสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าเป้าหมาย
จากการศึกษาพบว่านักศึกษาร้อยละ 65.9 (จำนวน 11,655 คน) ต้องการให้มหาวิทยาลัยจัดสอบกลางภาค และอีกกว่าร้อยละ 73.2 ต้องการให้มีการจัดกิจกรรมพบปะระหว่างอาจารย์และเพื่อนนักศึกษา จึงนำมาสู่แนวทางการปฏิรูปการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ของ มสธ. ขึ้นใหม่ โดยจัดแผนการศึกษาทั้งสิ้น 3 แผน คือ
แผน ก1 นักศึกษาจะศึกษาด้วยตนเองจากสื่อต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ และสอบวัดผลปลายภาค 15 หน่วย
แผน ก2 การจัดสอบกลางภาคในหน่วยที่ 1-7 และสอบปลายภาคหน่วยที่ 8-15 โดยในภาค 1/2562 ที่ผ่านมา มีชุดวิชาในแผน ก2 จำนวน 274 ชุดวิชา นักศึกษาที่เลือกแผนนี้ 12,194 คน ซึ่งได้มีการจัดสอบกลางภาคครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 ภายหลังจากการสอบได้สอบถามความคิดเห็นจากนักศึกษา ส่วนใหญ่เห็นว่าการเรียนแผน ก2 เป็นการแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ ทำให้เรียนไม่หนักจนเกินไป และจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนมากยิ่งขึ้น
แผน ก3 มีกิจกรรมร่วมเรียนรู้ (blended learning) ที่เน้นการเรียนการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์ โดยการจัดกิจกรรม 2 ครั้ง ครั้งละ 2 วัน ในวันเสาร์และอาทิตย์ ตามวันและสถานที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนด มีการเก็บคะแนนจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งละ 20 คะแนน 2 ครั้ง รวม 40 คะแนน และคะแนนจากการสอบกลางภาคและสอบปลายภาค 60 คะแนน รวมทั้งสิ้น 100 คะแนน โดยนักศึกษาสามารถเลือกทั้งแผน ก2 และ ก3 ได้จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีการติดตามและประเมินผลในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 3 แผนการศึกษาต่อไป
ทั้งนี้ อธิการบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ มสธ.ได้ปรับระบบพัฒนาบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนการเรียนรู้ ตามกรอบมาตรฐาน Professional Standard Framework (PSF) ขององค์กร Advance HE ของสหราชอาณาจักร โดยกำหนดระดับวิทยฐานะเป็น 4 ระดับ ได้แก่ associate, fellow, senior และ principal ปัจจุบันมีคณาจารย์ที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะระดับ Senior Fellowship จำนวน 7 ท่าน ระดับ Fellowship จำนวน 5 ท่าน นอกจากนี้ยังได้นำแผนการพัฒนาอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษกที่ได้ดำเนินการไว้แล้วมาสานต่อให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อเป็นอุทยานแห่งการศึกษาเพื่อประชาชน
ด้านหลักสูตรจะจัดหลักสูตร Non Degree เพิ่มขึ้น เพื่อขยายทางเลือกในการศึกษา โดยมุ่งเน้นกลุ่มวัยทำงานเพื่อการ Reskill หรือ Upskill เพราะบางคนที่จบไปแล้วอาจจะทำงานไม่ได้ จบไม่ตรงสาขา หรือไม่มีทักษะด้านดิจิทัลมากนัก คนกลุ่มนี้จะต้องนำมา Reskill เพื่อที่จะอยู่ในตลาดแรงงานต่อไปได้ รวมถึงการ Upskill ให้กับคนที่มีทักษะอยู่แล้วแต่ต้องการพัฒนาตนเองให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมากขึ้นรวมทั้งยังจัดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย
นอกจากนี้ มสธ.ยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลที่สนับสนุนทุกขั้นตอน การบริการนักศึกษาและบริการการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากรทุกฝ่าย การพัฒนาโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างทางกายภาพ และการบริหารทรัพยากรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส พร้อมการก้าวไกลสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย 4.0