ย้อนไทม์ไลน์คดีดัง "สรยุทธ-ไร่ส้ม" จากวันแรก สู่บทสรุปฎีกาจำคุก 6 ปี 24 เดือน

ย้อนไทม์ไลน์คดีดัง "สรยุทธ-ไร่ส้ม" จากวันแรก สู่บทสรุปฎีกาจำคุก 6 ปี 24 เดือน

ย้อนไทม์ไลน์คดีดัง "สรยุทธ-ไร่ส้ม" จากวันแรก สู่บทสรุปฎีกาจำคุก 6 ปี 24 เดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีกหนึ่งคดีมหากาพย์ที่กินเวลายืดเยื้อยาวนานมากว่า 10 ปี คงจะหนีไม่พ้นคดีของผู้ประกาศข่าวชื่อดัง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” และ “บริษัท ไร่ส้ม จำกัด” กับข้อพิพาทเรื่องค่าโฆษณาเกินเวลา โดยมีคู่ความคือ อสมท. โดยคดีนี้เราได้รู้บทสรุปสุดท้ายกันแล้ว

โดยเมื่อช่วง 10.00 น. ของวันนี้ (21 ม.ค. 2563) ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาแก้ให้ลงโทษ นายสรยุทธ เป็น 6 ปี 24 เดือน จากเดิมรับโทษ 13 ปี 4 เดือน เช่นเดียวกับ น.ส.มณฑา ธีระเดช  ส่วน น.ส.พิชชาภา รับโทษ 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมกับให้เหตุผลว่า นายสรยุทธ เป็นสื่อมวลชนอาวุโสทำคุณงามความดี แต่ย่อมต้องทำตัวเป็นแบบอย่างแก่สื่อมวลชนอื่น และประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี

อย่างไรก็ตาม Sanook News ขอพาทุกท่านมาย้อนดูจุดเริ่มต้น ไล่เรียงเหตุการณ์กันอีกครั้ง ก่อนที่คดีนี้ได้เดินทางมาถึงบทสรุปอย่างที่ทราบกัน

เปิดปูมค่าโฆษณา “คุยคุ้ยข่าว

จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปในปี 2548 อสมท ได้ทำสัญญาร่วมผลิตรายการ คุยคุ้ยข่าว” กับ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ซึ่งมี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นเจ้าของบริษัทและผู้ดำเนินรายการ โดยสัญญาระบุว่า ฝ่าย อสมท เป็นผู้ลงทุนเวลาออกอากาศ ส่วนไร่ส้ม ลงทุนผลิตรายการ โดยแบ่งเวลานาทีโฆษณา (Time Sharing) ต่างคนต่างไปขายหารายได้

สำหรับค่าโฆษณา รายการคุยคุ้ยข่าว แยกได้เป็น 2 ช่วง คือ

จันทร์-ศุกร์  เวลา 21.30-22.00 น. ไร่ส้ม ได้เวลาโฆษณา 2.30 นาที (ราคาโฆษณานาทีละ 2.4 แสนบาท)
วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 12.00-13.00 น. ไร่ส้ม ได้เวลาโฆษณา 5 นาที (ราคาโฆษณานาทีละ 2 แสนบาท)

โดย อสมท มีข้อกำหนดว่า กรณีขายโฆษณาเกินเวลา ไร่ส้มต้องจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท ตามราคาโฆษณาที่กำหนด และ อสมท ให้ส่วนลด 30%

ค่าโฆษณาเกินเวลา กับ น้ำยาลบคำผิด

กระทั่งปี 2549 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ตรวจสอบพบว่า บ.ไร่ส้มฯ ค้างรายได้จากค่าโฆษณาเกินเวลาเป็นเงินเกือบ 100 ล้านบาท โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2549 "นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด" (ปัจจุบันชื่อ ชนาภา บุญโต) เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำคิวโฆษณารวม และเป็นผู้รายงานโฆษณาเกินเวลา เพื่อเรียกเก็บเงินจาก บ.ไร่ส้มฯ ได้สารภาพต่อหน้าผู้บริหาร อสมท ว่า บ.ไร่ส้มฯ โฆษณาเกิน และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง โดย นางพิชชาภา ใช้ "น้ำยาลบคำผิด" ลบเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของ บ.ไร่ส้มฯ ในใบคิวโฆษณารวมของ อสมท เพื่อปกปิดความผิดตามคำแนะนำของ นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บ.ไร่ส้มฯ ก่อนจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้

ไร่ส้มคืนเงิน 138 ล้าน แต่การไต่สวนความผิดยังดำเนินต่อไป

วันที่ 20 ต.ค. 2549 บ.ไร่ส้มฯ ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกิน คืนให้ อสมท 138 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงินกว่า 152 ล้านบาท แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อ อสมท ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการทั้งสองชุดพบการกระทำผิดจริง โดยพบว่า นางพิชชาภา ให้ความช่วยเหลือ บ.ไร่ส้มฯ โดยไม่มีการรายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2548 - 30 มิ.ย. 2549

นอกจากนี้ ยังพบว่า นายสรยุทธ ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 รวม 6 ครั้ง เป็นเงินเกือบ 7 แสนบาท เพื่อตอบแทนที่ นางพิชชาภา ไม่ได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาดังกล่าว

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด มติเอกฉันท์ 7:0

เรื่องดังกล่าว ได้ถูกส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวน จนกระทั่งวันที่ 20 ก.ย. 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด นางพิชชาภา มีความผิดทางวินัยร้ายแรงและมีมูลความผิดทางอาญา ขณะที่ นายสรยุทธ ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการ บ.ไร่ส้มฯ และ น.ส.มณฑา เจ้าหน้าที่ บ.ไร่ส้มฯ มีมูลความผิดทางอาญา ฐาน "สนับสนุนพนักงานกระทำความผิด"

สรยุทธ ยังไม่หยุดทำหน้าที่-อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง

หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายสรยุทธ ยังคงทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” จันทร์-ศุกร์ และ “เรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์” ทางช่อง 3 ต่อไป แม้จะมีบุคคลในภาคสังคม โดยเฉพาะในหมู่สื่อมวลชน ออกมาเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ โดยการหยุดทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าว จนกว่าจะพ้นความผิด โดยนายสรยุทธเปิดเผยว่า ตนขอต่อสู้คดีในชั้นศาล

ต่อมาสำนวนคดีถูกส่งให้ อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา กระทั่งเดือน ม.ค. 2558 อัยการสูงสุดมีคำสั่ง “ฟ้อง” คดีไร่ส้ม โดยมี นางพิชชาภา (พนักงาน อสมท) นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา (ไร่ส้ม) เป็นจำเลย ตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2502 ม.6 ม.8 และ ม.11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.86 และ ม.91

คำพิพากษา ศาลชั้นต้น จำคุกสรยุทธ 13 ปี 4 เดือน

วันที่ 29 ก.พ. 2559 ศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาว่า นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ มาตรา 6, 8, 11 ส่วน บจก.ไร่ส้ม นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท รวม 6 กระทง ให้จำคุก นางพิชชาภา 6 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ส่วน นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุก 6 กระทง กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี และปรับ บจก.ไร่ส้ม ทั้งสิ้น 120,000 บาท ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงให้จำคุก นางพิชชาภา 20 ปี ส่วน นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ให้จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่วน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ให้ปรับรวมเป็นเงิน 80,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ชั้นอุทธรณ์ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดประกันตัว ตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน

ก้าวแรกสู่เรือนจำของ “สรยุทธ” ในวันที่ศาลไม่ให้ประกัน

วันที่ 29 ส.ค. 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษายืนจำคุกจำเลยทั้งหมดตามศาลชั้นต้น หลังมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว นายสรยุทธกับพวกได้ยื่นประกันตัวทันที โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาท โดยศาลอาญาทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา และในวันเดียวกันนั้น ศาลฎีกามีคำสั่งกลับลงมาทันทีว่า "ไม่อนุญาตให้ประกันตัว" วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่ชายชื่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา รวมทั้งจำเลยร่วม ถูกคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำ

ศาลฎีกาให้ประกัน สรยุทธ ได้ออกจากคุกมาสู้คดี

12 ก.ย. 2560 ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวระหว่างยื่นฎีกา โดยตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต และต้องมารายงานตัวกับศาลทุก 3 เดือน ทำให้ สรยุทธ ได้กลับคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง

และในที่สุดมหากาพย์คดีไร่ส้ม ก็ได้เดินทางมาถึงบทสรุป และเรื่องราวของชายที่ครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนทางสังคมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศอย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา”

>> สรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตผู้คุมบังเหียนธุรกิจสื่อ 2 แห่งมีรายได้เท่าไหร่ หลังศาลฎีกาตัดสินจำคุกอ่วม!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook