นักวิชาการ ม.ดัง เตือนฝุ่น PM 2.5 คือโจรปล้นสุขภาพ ลั่นถึงเวลาฉีดยาแรงแก้ไข

นักวิชาการ ม.ดัง เตือนฝุ่น PM 2.5 คือโจรปล้นสุขภาพ ลั่นถึงเวลาฉีดยาแรงแก้ไข

นักวิชาการ ม.ดัง เตือนฝุ่น PM 2.5 คือโจรปล้นสุขภาพ ลั่นถึงเวลาฉีดยาแรงแก้ไข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายการ "เรื่องลับมาก (NO CENSOR)" ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.55  - 14.50 น. ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 วันนี้ (21 ม.ค.) "ดร.เสรี วงษ์มณฑา" เปิดใจสัมภาษณ์  "ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์" ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและการจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หลังวิกฤตฝุ่น PM 2.5 กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

PM 2.5 มันเป็นอันตรายกับเรายังไง?

"ผมอุปมาอุปไมยแบบนี้เราจะได้เห็นภาพง่ายๆ สมมติเรามีธนาคารอยู่ธนาคารหนึ่งเรียกว่าธนาคารสุขภาพ วันดีคืนดี มีโจรจะมาปล้นธนาคารนี้ ทีนี้โจรมาขโมยสุขภาพเราไป เอาอายุขัย ความแข็งแรงเราไป โดยโจรไม่ได้เดินมาปล้น ขับรถมาปล้น มาหลายคัน PM 2.5 ก็เหมือนรถยนต์ที่มาปล้นธนาคารสุขภาพ มาปล้นอายุขัยเรา สามารถเข้าไปในจุดที่ลึกที่สุดของร่างกาย ตอนนี้สิ่งที่สื่อและสาธารณะเริ่มตระหนักแล้วคือจำนวนรถยนต์ที่โจรผู้ร้ายนั่งมามีกี่คัน PM 2.5 มีเท่าไหร่ สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานสากล

สิ่งที่เราไม่รู้คือว่าไอ้รถนั่นมันติดฟิล์มกรองแสงทึบหมดเลย เราไม่เห็นว่ามีใครนั่งอยู่บ้าง หนึ่งนายสารก่อมะเร็ง สองนายสารก่อการกลายพันธุ์ สามนายโลหะหนัก และอื่นๆ อาจมีเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อไวรัส เชื้อร้าย ตอนนี้ก็มีประเด็น (ไวรัส) โคโรนา เราไม่รู้ว่ามีกี่คนและใครบ้าง นั่นคือความลับ และไม่มีหน่วยงานไหนบอกให้ประชาชนรับทราบได้ ผมเคยมีงานวิจัยหนึ่งทำร่วมกันกับจีน ได้รับเงินสนับสนุน สคว. มีการตรวจวัดค่าสารก่อมะเร็งใน PM 2.5 ที่เราเก็บ 1 ปีเต็มที่เชียงใหม่และภูเก็ต ผลปรากฏว่าสารก่อมะเร็งบางตัวที่วัดไม่ต่างกันมาก เชียงใหม่เราคิดว่าน่าจะสะอาด พอมาเห็นค่าตรงนี้ก็ตกใจ ว่าทำไมแทบไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการเผาชีวมวลมีผลในระดับหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อดูทั้ง 1 ปีแล้ว ปรากฏว่าไอเสียจากยานพาหนะยังมีผลมากที่สุด แม้กระทั่งเชียงใหม่ แต่การเผาเป็นซีซั่น ตอนนี้ประเทศไทยมี 4 ฤดูแล้ว เรามีเพิ่มอีกฤดู คือ ฤดูฝุ่น ตอนนี้เรามี 4 ฤดูครบเหมือนเมืองนอก แม้ฤดูฝุ่นจะสั้นแต่ก็มีผลอย่างมาก เพิ่มปริมาณ PM 2.5 และมีสารก่อมะเร็งเข้าไปด้วย แต่ที่ยังคาราคาซังคือไอเสียยานพาหนะก็ยังเป็นประเด็น แต่ภูเก็ต ค่าสารก่อมะเร็งเกือบทุกตัวต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลทุกประเทศที่มีในโลกนี้หมดเลย"

ถ้าคนอยากหนีไปอยู่ภูเก็ตก็ถูกปล้นน้อย?

"ยกเว้นไม่มีมลพิษข้ามพรมแดนมาจากอินโดนีเซีย"

12 มาตรการ แต่ละมาตรการดีอย่างไร ขอเริ่มที่การขยายเขตรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนภิเษกเท่านั้น อันนี้ดีอย่างไร?

"อันนี้ชัดที่สุดคือจุดที่เป็นศูนย์กลางหรือเซ็นเตอร์ของเมืองเป็นจุดที่อ่อนไหวมากที่สุด ฉะนั้นต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ความหนาแน่นต่อประชากรก็เยอะ ถ้าเราไปประเทศยุโรป อเมริกา การเข้าไปขับรถเข้าจุดที่เป็นเซ็นเตอร์ เป็นอะไรที่ค่อนข้างลำบากมาก เป็นไปได้คือต้องใช้การขนส่งมวลชนเท่านั้น ตรงนี้เราเข้าใจได้ เพราะเขาต้องการป้องกันจุดที่อ่อนไหวมากที่สุด ซึ่งเป็นจุดที่คนอยู่เยอะมาก ย่านธุรกิจ การท่องเที่ยง ห้างสรรพสินค้า 1 ตารางกิโลเมตร กี่คนที่อยู่ในนั้น"

มาตรการที่ 2 บอกว่าในเดือน ม.ค.-ก.ย. เป็นฤดูฝุ่น ขอให้รถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ เฉพาะวันคี่เท่านั้น?

"อันนี้เป็นการลดจำนวนสารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์ เครื่องยนต์ดีเซลจะปล่อยมลพิษ สารพิษหนักที่สุด เพราะฉะนั้นขอให้ท่านที่ขับรถยนต์ดีเซลอย่ามีความรู้สึกว่า เลือกปฏิบัติหรือเปล่า"

กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร ในการตรวจสอบตรวจจับควันดำรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ อันนี้แรงมั้ย?

"แรงแต่รับได้ ในมุมมองผม ผมเห็นด้วย การที่มันไม่แฟร์สำหรับคนหมู่มากที่ต้องมาทนสูดเอาสารพิษ"

ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สั่งปรับปรุงในเวลาที่กำหนด ไม่งั้นต้องหยุดประกอบกิจการ?

"ขออนุญาตยกกรณีท่านสี จิ้นผิง ใช้ยาแรงกับจีนเมื่อ 3 ปีก่อน ท่านประกาศกร้าวเลยว่านี่คือสงครามที่จีนต้องรบชนะ ต้องกำจัดคราบเรื่องควันพิษที่อยู่เต็มในเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หรือหัวเมืองหลักของจีนให้หมดไปให้ได้ แล้วตอนนี้้ลองมาดูปี 2019 ลองเข้าไปดูการจัดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกตอนนี้ไม่ใช่จีนแล้ว กลายเป็นอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ พวกนี้ต่างหากที่กลายเป็นประเด็นไป แสดงให้เห็นว่าเขาใช้ยาแรงมาก ใครฝ่าฝืน ปิดก็ต้องปิด"

กำกับให้กิจการการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอื่นเป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ให้เกิดฝุ่นและปัญหาจราจรบริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง?

"ประเด็นนี้สำคัญมาก เราคงทราบว่าต่อไปอีกไม่กี่ปี ประเทศจะมีเครือข่ายใยแมงมุม แน่นอนการก่อสร้างฝุ่นต้องออกมา และฝุ่นนั้นเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ และสามารถกำจัดได้โดยใช้สเปรย์น้ำ ต่างจาก PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นขนาดเล็ก ทีนี้ปัญหาก็คือว่าพอมีการก่อสร้าง มันไม่ได้มีการทุบตึกอย่างเดียว มันมีรถยนต์ดีเซลที่ขนปูนขนทรายเป็นจำนวนมาก แล้วเข้ามาจัดการในช่่วงที่เกิดปรากฏการณ์อินเวอร์ชั่น

การที่ชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิวโลกมันลดต่ำลง ตอนนี้ต่อให้ PM 2.5 ปล่อยออกมาในมวลเท่าเดิม แต่ถ้าปริมาตรในชั้นบรรยากาศกดทับลง ความเข้มข้นจะพุ่งสูงขึ้น เหมือนมีแก้วน้ำแก้วหนึ่ง ผมเอาเกลือ 1 ช้อนชาใส่ไปแล้วคน จิบแล้วเค็ม กับใส่แท็งก์น้ำ 10 ลูกบาศก์เมตรแทบไม่รู้สึก ทำไมต้องมาเป็นช่วงนี้ PM 2.5 มันอยู่ของมันอยู่แล้ว เพียงแต่มันจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง มันเป็นค่าแปรผันตามปริมาตรของชั้นบรรยากาศที่พองตัวขึ้นหรือลดต่ำลง

เมื่อเราทราบแบบนี้แล้ว 365 วันไม่ใช่มันจะกดทับหมด และจะมีช่วงเวลาที่เซนซิทีฟมากๆ อย่างฤดูฝุ่น มันเป็นไปได้มั้ย ผมเข้าใจผู้ก่อสร้างก็อยากเร่งให้เร็วๆ แต่เป็นไปได้หรือเปล่าที่จะวางแผนข้ามปี ที่ผ่านมาผมเชื่อว่าเป็นไปได้สูงที่จะทำตามใจฉันเพราะไม่มีกฎบังคับ ตอนนี้เรายังไม่เคยออกกฎหรือมาตรการที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศ ที่ผ่านมาเป็นกฎตายตัว หนังสือสั่งห้ามเกินเท่านี้ จบ"

ไม่ให้มีการเผาในที่โล่งไม่ว่าจะกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล ขอให้ใช้กฎหมายเข้มงวด ดูบ่นกันเยอะมาก?

"เพราะมันเป็นปัญหาปากท้องของพี่น้องส่วนใหญ่ในประเทศนี้ครับ และรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ไข ถ้าไม่ให้เผา ผมถามภาคกลาง ตอนนี้อ้อยเป็นจำเลยสังคม ถามว่าโรงงานอยากซื้ออ้อยสดหรืออ้อยเผา เขาอยากซื้ออ้อยสดนะครับ แต่ถ้าไม่เผามันเก็บไม่ทัน จุดคุ้มทุนที่จะได้ไม่ใช่ 5-10 ไร่ ต้องมี 500 อัพ ถึงซื้อเครื่องมือมาใช้แล้วมันคุ้ม

นั่นหมายถึงว่าเกษตรกรต้องมีเงินเยอะเท่านั้น ต้องร่ำรวยที่เขาจะทำได้ อ้าว แล้วเกษตรกรที่ยากจนล่ะจะทำยังไง รัฐต้องมีการจัดการ ให้เช่า หรือการลงทุน รัฐต้องมาลงทุน ให้เขาจัดการได้ ให้เขาปลูกเพื่อไม่ให้เผา และเครื่องจักรสามารถจัดเก็บได้ นี่ก็เป็นปัญหาเรื่องการจัดการ และอย่าลืมว่าไทยเป็นอันดับที่สองของโลกนะครับในการส่งออกน้ำตาล"

จังหวัดและองค์กรส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการเผาในช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่นละออง และเข้มงวดในการควบคุมยานพาหนะของโรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง?

"ตอนนี้ถ้าสโคปไปที่ภาคเหนือ ประมาณ 54-55 ล้านไร่ที่เป็นพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือตอนบน กำลังเจ้าหน้าที่รัฐมีแค่ 2,000 หน่อยๆ กับ 50 กว่าล้านไร่ ถามว่าจะพอมั้ย เขาไม่พอ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือ จิตอาสาของชุมชน หลายคนต้องเสียสละตัวเอง

บางคนเจ้าหน้าที่จิตอาสาเสียชีวิตไป ลูกเมียเขาอยู่อย่างไร รัฐไปจ่ายค่าประกันชีวิตให้เขาได้มั้ย หน้ากากคนดับเพลิงก็ไม่ใช่แบบนี้นะ ต้องเป็นหน้ากากอย่างดี มีถังออกซิเจนให้เขาด้วย ทุกอย่างเป็นงบประมาณหมด แต่คนก็จะบอกว่างบไม่พอ แต่อย่าลืมนะว่ารัฐยังไม่ได้คิดถึงเลยว่างบค่าใช้จ่ายที่คนทั้งเมืองทั้งจังหวัดเสี่ยงกลายเป็นโรคมะเร็งในปอด โรคอื่นๆ มากมายที่สูดสารพิษเข้าไป คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่"

ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย?

"จริงๆ ตัวนี้สิ่งที่คาดหวังและคิดว่าคนที่ตามข่าวทราบดี ตอนนี้ทางประเทศพัฒนาเขาไปยูโร 6 กันแล้ว แต่แน่นอนมีมูลค่าที่ต้องใช้ในการกลั่น ถ้าเราต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สะอาดมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าต้องมีต้นทุนที่ใช้ในการกลั่นเพิ่มมากขึ้น ค่าน้ำมันเชื่อเพลิงต่อลิตรก็จะสูงขึ้น มันกระทบกันหมด เราเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย"

ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน และรถยนต์ส่วนราชการต้องผ่านมาตรการด้านควันดำทุกคัน การขอคนให้งดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไหวเหรอ?

"ท้ายที่สุดในอุดมคติ ทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการใช้รถยนต์ ปัญหาตอนนี้คือราคาตอนนี้ที่ขึ้น มันดึงดูดให้คนทำแบบนั้นหรือเปล่า จ่ายอีกนิดขึ้นแท็กซี่ดีกว่า ถ้าอย่างนั้นเราจ่ายเป็นตั๋วเดือนตั๋วปีได้มั้ย ดัมพ์ราคาให้ถูกลง หลายๆ ประเทศค่าโดยสารมันถูกมาก"

มาตรการที่ 11 ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สนับสนุนการใช้โครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี ถ้าเราช่วยกันจะทำให้ดีขึ้นยังไง?

"โดยธรรมชาติเครื่องยนต์ ประสิทธิภาพในการสันดาปจะลดลง ก็เหมือนร่างกายคนเรา เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา สิ่งที่เกิดขึ้นมลพิษจะเพิ่มมากขึ้น ปกติสารก่อมะเร็งก็น่ากลัวอยู่แล้ว ดีเซลปล่อยมาอีกตัวนึงคือน็อกซ์ หนักเลย เพิ่มสูงเป็นพันเท่า"

สร้างความรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องฝุ่นละออง ยังมีแรงอะไรอีกมั้ยที่จะเพิ่มเติมได้?

"ตอนนี้อันดับแรกที่เราเห็นเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ออกมาแค่ 30% ยังมีอีก 70% ที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ ที่คิดว่าทำได้และไม่ได้อยู่ใน 12 ข้อ คือการเปลี่ยนมายด์เซ็ต (กรอบความคิด) ของผู้ที่มีอำนาจ ผู้บริหารประเทศ รวมทั้งเจ้าของกิจการ หน่วยงานต่างๆ ผมเสนอเรื่องเวิร์กฟอร์มโฮม (ทำงานจากที่บ้าน) มาโดยตลอด สมมติเราเสียเวลาเดินทางไปที่ทำงาน ไปกลับ 4 ชั่วโมง เฉพาะคนกรุงเทพฯ หนึ่งเวลาเสียไป สองเสียค่าน้ำมัน สามทำลายสิ่่งแวดล้อม ทำร้ายสุขภาพคนอื่นอีก

อีกสักข้อหนึ่งที่ห่วงคือการระวังตัวเอง คือยาแรงเป็นฝั่งคนมีอำนาจจะทำได้ แต่ขณะเดียวกันเราต้องเซฟตัวเองด้วย แต่แน่นอนหน่วยงานราชการหรือต้นสังกัดต้องยินยอม ซึ่งเราก็ต้องเสนอจุดที่วิน-วิน เช่น ยินดีให้หักเงินเดือน 10% หรือรับเงินเดือน 80-90% เมื่อเทียบกับคนมาทำงานทุกวัน คนจ่ายเงินก็เซฟเงินได้ขนาดนี้ ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เผลอๆ เซฟออฟฟิศลง ไม่ต้องจ่ายค่าที่  แล้วได้งาน ก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งจ้องหน้ากันตลอด งานก็เสร็จส่งมาตามกำหนด มันเป็นเรื่องการบริหารการจัดการ"

มีอะไรจะบอกกับกลุ่มสูงวัยที่เสี่ยงจะถูกปล้นสุขภาพ?

"อันดับแรกต้องดูแอปพลิเคชั่นสม่ำเสมอ ทีนี้ในแต่ละช่วงวัน ระดับค่าความเป็นมลพิษจะไม่เท่ากัน ผู้สูงวัยชอบออกกำลังกายช่วงเช้า เย็น อะไรก็แล้วแต่ ท่านต้องเช็กก่อน ยิ่งเดิน ยิ่งออกกำลังกายเยอะเท่าไหร่ นั่นหมายถึงปริมาตรอากาศที่เราสูดเข้าไป อันนี้ไม่ดี สองเรื่องใส่หน้ากากผมว่ามันยังไม่พอ เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่พอพูดถึงตรงนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องเหลื่อมล้ำ ชีวิตคนรวยก็จะดี คนจนที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศจะตกต่ำลง ถ้าคนมีเงินจะเลือกซื้อน้ำ กินอาหารออร์แกนิก แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกันไม่ว่าจะรวยหรือจน คือ อากาศ"

เด็กๆ จะช่วยยังไง?

"นี่คือสิ่งที่กังวลใจที่สุด เพราะจากการเก็บข้อมูล 5 ปีเต็ม อัตราผู้ป่วยแอดมิด แยกตามประเภท ชายหญิง อายุ 4 กลุ่ม สิ่งที่พบคือประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ สุภาพสตรีมีแนวโน้มอ่อนไหวกับมลพิษทางอากาศมากกว่าสุภาพบุรุษอย่างมีนัยสำคัญ สองใน 4 กลุ่มช่วงวัย ตามองค์การอนามัยโลก คนอ่อนไหวที่สุดไม่ใช่คนชราแต่เป็นเด็กเล็ก ดังนั้นจึงมีแนวคิดหลายแนวคิดมาก และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งหมด เหตุเกิดที่ไหนต้องดับที่ตรงนั้น เมื่อไหร่เราจะดับที่ต้นเหตุซะที"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook