สภาฯ ไฟเขียวตั้ง กมธ.แก้ไขฝุ่น PM2.5 "พิธา" ชี้ ส.ส.ลองนั่งรถเมล์เอง แล้วจะซึ้งถึงปัญหา
สภาฯ เห็นชอบญัตติด่วนตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขฝุ่น PM2.5 พปชร. ชี้การเผาจากต่างประเทศต้นเหตุฝุ่นพิษ ด้านฝ่ายค้านซัดรัฐบาลเมินแก้ปัญหา แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องจับมือแก้วิกฤต โดยฝุ่นพิษสร้างความเสียหายกับการท่องเที่ยว ขณะที่ 'พิธา' ดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด แนะรัฐบาลตั้งวอร์รูมดึงทุกหน่วยแก้ปัญหาทันที
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ใช้สิทธิตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 54 (1) เสนอญัตติด่วนที่ไม่อยู่ในวาระการประชุม เรื่องการศึกษาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ที่มีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบปัญหาฝุ่นควันมาก และเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างจริงจัง จึงเสนอให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน
เช่นเดียวกับ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิตามข้อบังคับเสนอญัตติด่วนเพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่เป็นพิษต่อประชาชนทั่วประเทศไทยหรือ PM2.5 อย่างยั่งยืน เพื่อนำผลการศึกษาส่งต่อให้รัฐบาล และขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา ส่วนนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้พิจารณาญัตติอีก 11 ซึ่งเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน เพื่อพิจารณาพร้อมกัน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร อนุญาตให้สมาชิกเสนอญัตติด่วนได้ แต่กำชับให้รักษาเวลาในการอภิปราย
ส.ส. พปชร. ชี้ปัญหาฝุ่นจากการเผาต่างประเทศ
ด้าน น.ส.พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน ที่เป็นปัญหากระทบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีแนวโน้มขยายตัวเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการเผาในที่โล่ง เผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า เป็นสาเหตุอันดับ 1 ประกอบกับได้รับผลกระทบจากการเผาจากต่างประเทศ การประกอบกิจการโรงโม่หินในบางจังหวัด รวมถึงกรุงเทพที่มีค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเกิดจากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การเผาในพื้นที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และสภาพอากาศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน
นายจิรายุ อภิปรายเสนอญัตติด่วน โดยย้ำว่าประชาชนมีสิทธิในอากาศที่ดี ซึ่งฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค พยายามระดมความคิดเพื่อหาแนวทางช่วยรัฐบาลแก้ปัญหา โดยนำอุปกรณ์หลายรูปแบบที่จำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันฝุ่นละออง มาแสดงให้ที่ประชุมเห็นถึงภาระที่ประชาชนต้องจ่าย และยกตัวอย่างอากาศถนนหน้าอาคารรัฐสภา 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่า 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าอันตราย และชี้ว่ารัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยยกตัวอย่างการแก้ปัญหาในประเทศจีน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่โทษประชาชน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ต้องร่วมกันแก้ไข
'พิธา' ชง พ.ร.บ.อากาศสะอาดแก้วิกฤตฝุ่นพิษ แนะรัฐบาลตั้งวอร์รูม
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เพราะเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจ โดยรัฐบาลไม่มีอำนาจที่ใหม่กว่า พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535 ในการแก้ปัญหา ตนเป็นประธาน กมธ.ที่ดินฯ เคยเชิญอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตนอยากให้กำลังใจข้าราชการที่กรมควบคุมมลพิษ เพราะตอนแรกมีอคติกับท่านว่าทำไมยังแก้ไขปัญหาไม่ได้สักที โดยข้าวโพดที่เผาที่เมียนมา อ้อยที่เผาที่กัมพูชา และปาล์มที่เผามาจากอินโดนีเซียมาถึงประเทศไทยทั้งหมด ท่านอธิบดีบอกว่าต้องไปขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ระดับประเทศโดยปัญหาอันดับ 1 คือการเผาในอุตสาหกรรมการเกษตร อันดับ 2 เรื่องอุตสาหกรรม อันดับ 3 คือคมนาคม อันดับ 4 โรงงานไฟฟ้า เมื่อบอกว่าเป็นการเผาในอุตสาหกรรมเกษตรก็ต้องขอความร่วมมือไปยังกระทรวงเกษตรฯ
นายพิธา ระบุว่า จะเปลี่ยนอธิบดีอีก 10 คน แต่ไม่มีพ.ร.บ.อากาศสะอาด แบบต่างประเทศก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่ใครให้อำนาจตัดสินใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากจะหยุดเผาอ้อยแล้วสั่งปิดโรงงานน้ำตาล ห้ามซื้ออ้อยที่เผาก็ไม่มีใครทำได้ ดังนั้น ต้องมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องมีหน่วยงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
"ถ้าผมเป็นนายกฯ พรุ่งนี้ผมตั้งวอร์รูมทันที เพราะพ.ร.บ.กว่าจะผ่านต้องรอ 6-7เดือน ประชาชนรอไม่ได้ ให้เอาหน่วยงานทุกหน่วยงานมารวมอยู่ในห้องเดียวกัน รถ ขสมก. เป็นรถเก่า รถเอ็นจีวีต้องกลับมา ถ้าวางแผนแล้วมีตัวเลข ทิศทางการบริหาร ถึงแม้จะไม่มี พ.ร.บ.ให้อำนาจก็แก้ปัญหาได้" นายพิธา ระบุ
นายพิธา ระบุว่า ปัญหา PM2.5 ยังเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แม้ ครม. อย่าง ส.ส.มีอำนาจและไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มันเป็นปัญหาที่มองไม่ค่อยเห็น แต่เป็นปัญหาที่มีผลกระทบสุขภาพระยะยาว ผู้อยู่ในอำนาจก็ประชุมสภาฯถึง 21.00 น. เสร็จแล้วก็นั่งรถส่วนตัว แต่ไม่เคยกลับบ้านด้วยรถเมล์ ด้วยระยะเดินทาง 4 ชั่วโมง ทั้งไปและกลับแบบคนกรุงเทพฯ ดังนั้น เมื่อเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของปัญหา ทั้งที่เราไม่ได้ใส่ใจปัญหาที่ควรเป็น ถ้านายกฯ จัด ครม.สัญจรลงพื้นที่ที่มีการเผาไหม้มากที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ใน จ.กาญจนบุรี จ.ลำปาง จ.ลพบุรี ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากที่สุด ให้นายกฯ จัดครม.สัญจรในพื้นที่ หรือประธานสภาฯ พา ส.ส.ที่สนใจแล้วนั่งรถเมล์สัก 2 ชั่วโมง หากเอาตัวของตัวเราเองเข้าไปอยู่ในปัญหาจะแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้
พท.ชี้ปัญหาฝุ่นกระทบการท่องเที่ยวสูญเงิน 2.6 พันล้านบาทในปี 62
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนญัตติด่วนว่า ผลร้ายของฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ด้วยขนาดที่เล็กสามารถลอยเข้าไปถุงลมปอดทะลุเข้าสู่เส้นเลือดฝอยลอยอยู่ในกระแสเลือด ความน่ากลัวของฝุ่นร้ายนี้จะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ กระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง จมูกอักเสบ ภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง อีกทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ โดยผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ศูนย์วิจัยกสิกรรายงานปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดความเสีย 2.6 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา ตนเป็นคนเชียงใหม่ ไม่เคยคิดว่า จ.เชียงใหม่จะได้รับผลกระทบ นักท่องเที่ยวเปลี่ยนการเดินทางจากปัญหาหมอกควัน ประเมินค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในเดือน มี.ค. - เม.ย. 2562 กว่า 1 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของสภาฯเป็นไปอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.ทุกพรรคต่างสนับสนุนการตั้งญัตติขอให้สภาฯตั้ง กมธ.วิสามัญดังกล่าว กระทั่งเวลา 21.35 น. ที่ประชุมสภาฯได้เห็นชอบกับญัตติด่วน 10 ฉบับที่ขอให้สภาฯ ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 49 คน โดยกำหนดกรอบเวลาการทำงานของ กมธ.วิสามัญ 120 วัน
ขณะเดียวกันที่ประชุมสภาฯ ยังเห็นชอบให้่ส่งความเห็นและข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรที่ได้อภิปรายไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป
>> "บิ๊กตู่" ลั่น ไปกด "กูเกิล" ดู ว่า PM2.5 เกิดจากใคร ชี้ หากใช้ยาแรงแก้ปัญหา ต้องรับให้ได้
>> นักวิชาการ ม.ดัง เตือนฝุ่น PM 2.5 คือโจรปล้นสุขภาพ ลั่นถึงเวลาฉีดยาแรงแก้ไข