3 แลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพมหานคร ตอบโจทย์การพัฒนา "เมืองกรุงสู่เมืองกรีน"

3 แลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพมหานคร ตอบโจทย์การพัฒนา "เมืองกรุงสู่เมืองกรีน"

3 แลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพมหานคร ตอบโจทย์การพัฒนา "เมืองกรุงสู่เมืองกรีน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • 3 แลนด์มาร์กสีเขียว ที่เตรียมปักหมุดเป็นที่ Check-in แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
  • พื้นที่สวนสาธารณะ ถือเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ดีไซน์มาเพื่อทุกคน รวมถึงไม่ลืมเรื่องความปลอดภัย
  • พื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกใส่ในเชิงพาณิชย์ไปจำนวนมาก “ทำอย่างไรที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเชิงธุรกิจของภาคเอกชน?”

ทุกวันนี้ เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญกับ “พื้นที่สีเขียว” ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การพักผ่อน การออกกำลังกาย และนอกจากนี้พื้นที่เหล่านี้ยังกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ขอพาไปรู้จักกับ 3 แลนด์มาร์กสีเขียว ที่เตรียมปักหมุดเป็นที่ Check-in แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ด้วยแนวคิดที่อยากเห็นกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น ผลจากความเจริญที่รุกคืบอย่างรวดเร็ว ทำให้สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้คน ซึ่งเป็นมุมมองของ ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

วันนี้ทางกรุงเทพมหานครเลยจะใช้พื้นที่สิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำมาปรับปรุงสร้างให้เกิดประโยชน์ใน 3 แลนด์มาร์กสายกรีน คือ

สะพานพระปกเกล้าสกายพาร์ค (คุ้นหูชื่อ ว่า สะพานด้วน)

สะพานด้วนนี้ อยู่บริเวณสะพานพระปกเกล้าและสะพานพุทธ เดิมเป็นโครงสร้างเก่าของโครงการรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ดำเนินการค้างไว้ ทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี ที่คนฝั่งธนฯ เห็นกันจนชินตา ให้กลายเป็นจุดหมายที่ใหม่ ด้วยความร่วมมือในการปรับปรุงและพัฒนาเมืองระหว่างกรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และกลุ่ม WE PARK

โครงการที่เกิดขึ้นเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนในชุมชนบริเวณนั้น ที่มาช่วยคิด ช่วยลงมือทำ ให้พื้นที่ทิ้งร้างนี้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน และทางจักรยาน เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี จุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ จะได้มาลอง Check – in ภายในพฤษภาคม ปี 2563 นี้

“วันนี้ เราอาจจะช้าไปนิด แต่อย่างน้อยเราก็ได้เริ่มลงมือทำ” ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการปรับปรุงสะพานด้วน

สะพานเขียว

การพัฒนาสะพานเขียว เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินี – สวนเบญจกิติ อยู่ในพื้นที่เขตปทุมวันและคลองเตย ทาง กทม. เล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา เป็นเรื่องการดีไซน์ที่ไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อน แต่ไม่มีหลังคา รวมถึงไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัย

วันนี้ กทม. มีความคิดว่าจะปรับทัศนียภาพ ปรับแนวต้นไม้ สร้างกิจกรรมต่างๆ บนระยะทาง 1,300 เมตร นี้ ให้กลายเป็นทั้ง ถนนคนเดิน เส้นทางจักรยาน กลายเป็นจุดไฮไลท์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่สามารถใช้งานได้ทั้งกลางวันกลางคืน มั่นใจว่าพร้อมเปิดตัวภายในปี 2563 นี้

ย่านกะดีจีน

ย่านนี้ หากเดินเลียบเลาะแม่น้ำมา จะผ่านสะพานพุทธ ลัดเลาะผ่านวัดอนงคาราม บริเวณนี้มีทั้งโบสถ์ ศาลเจ้า รวมถึงมัสยิดบางหลวง ซึ่งบริเวณนี้มีการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่กับความตั้งใจในการพัฒนาพื้นที่ (ไม่เกี่ยวกับทางเลียบแม่น้ำ)

ตรงนี้สามารถเกิดเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของฝั่งธนบุรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ จัดบริการนักท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ แผนในอนาคตอาจจะขยายเส้นทางเชื่อมต่อฝั่งธนบุรี ถึง ICONSIAM โดยโครงการนี้มีแผนเปิดใช้ภายในต้นปี 2564

ความปลอดภัยบนพื้นที่สีเขียว?

พื้นที่สวนสาธารณะ ถือเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย เป็นพื้นที่ของครอบครัว ซึ่งทาง กทม. ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการออกแบบเพื่อทุกคน เช่น ดีไซน์ลิฟต์สำหรับผู้พิการ การเพิ่มไฟส่องสว่าง ติดตั้งตู้เขียวเพื่อลงบันทึกการตรวจของพนักงานรักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสวนสาธารณะ ติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรากำกับดูแลพื้นที่โดยรอบ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ

มุ่งหวังให้เกิดพลังร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เกิดการพัฒนา ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนได้อีกทางผ่านการท่องเที่ยว

“วันนี้การพัฒนากรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องของประชาชนที่ช่วยคิด แล้วฝ่ายบริหารจะเป็นคนทำ สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ คือ พลังความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนในพื้นที่”

แนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียวในอนาคต?

พื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกใส่ในเชิงพาณิชย์ไปจำนวนมาก คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเชิงธุรกิจของภาคเอกชน?

ที่น่าสนใจ คือ ผังเมืองฉบับใหม่ (คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ปลายปี 2563 ) จะมีเงื่อนไขว่าใครก็ตามที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ ผู้นั้นอาจจะได้รับประโยชน์ในการสร้างอาคารได้มากกว่าปกติ เรียกว่า “โบนัส” เพื่อส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในเมือง

นอกจากนี้ ทาง กทม. ไม่ได้หยุดคิดโครงการใหม่ๆ ยังมีโครงการนำร่องเพิ่มมูลค่าพื้นที่ทำนา รวมถึงโครงการปลูกป่าในพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียน ที่ทุกวันนี้น้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาจนพื้นที่หายไปค่อนข้างมาก ระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร

อยากฝากให้ทุกคนร่วมกันเพิ่มและดูแลพื้นที่สีเขียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกคน มาร่วมแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เสียงของคุณดังและมีค่า พร้อมได้ลุ้นรับถุงผ้า Bangkok Stories ดีไซน์สวยแบบนี้ เพียงหยิบมือถือมาสแกน QR Code ตรงนี้เลย
ในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงรูปแบบที่เหมาะสม และสอดคล้องกับงบประมาณ คาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 150 วัน คาดว่าจะเริ่มได้ภายในปี 2563 สำหรับการพัฒนาย่านกะดีจีน ซึ่งเป็นทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 650 เมตร เป็นการพัฒนาทางเดินเลียบแม่น้ำซึ่งมีอยู่แล้ว ไม่ได้มีโครงสร้างใหม่รุกล้ำไปในแม่น้ำแต่อย่างใด

จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนพบว่า ประชาชนเห็นชอบกับโครงการดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ภายในปีนี้ และใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 360 วัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะสามารถเชื่อมโยงย่านกะดีจีน สะพานด้วน และคลองโอ่งอ่าง เข้าด้วยกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook