ประมูลอู่ตะเภา ต้องไม่ซ้ำรอย JAS ทิ้ง 4G

ประมูลอู่ตะเภา ต้องไม่ซ้ำรอย JAS ทิ้ง 4G

ประมูลอู่ตะเภา ต้องไม่ซ้ำรอย JAS ทิ้ง 4G
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ากันว่า.. “ผู้ไม่รู้จักเรียนรู้จากอดีต จะไม่เข้าใจในปัจจุบัน และมองไม่เห็นอนาคต”

การประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภา สามารถเรียนรู้อะไรจากการประมูล 4G ในอดีต หากย้อนเวลากลับไปช่วงเดือนมีนาคม 2559 กับการประมูล 4G ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ราคาสูงเป็นประวัติการณ์ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ที่เบียดชนะบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่จนเอาชนะการประมูลคลื่น 4G ความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ไปได้ด้วยเม็ดเงินที่สูงกว่า 75,654 ล้านบาท

หลังจากประมูลดุเดือด และได้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 4G สูงลิ่ว เมื่อกรรมการพิจารณาเอาราคาสูงเป็นสำคัญ เมื่อสิ้นเสียงระฆัง ดูเหมือนรัฐจะได้ประโยชน์สูงสุด แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน หลังจากได้รอจนหมดเวลา สุดท้าย “แจส โมบาย” ก็เบี้ยวไม่โผล่มาจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดแรก 8 พันกว่าล้านบาท

พร้อมแบงก์การันตีมาวางค้ำประกัน ส่งผลให้โดนยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 644 ล้านบาท คำถามที่สำคัญคือ จ่ายเพียง 644 ล้านบาท และ ค่าเสียหายที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการประมูล 4G วงเงิน 160 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ต้องเดินหน้าจ่ายคลื่น 75,654 ล้านบาท

เรื่องนี้ คนไทยได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการประมูลที่ราคาสูงเกินความเป็นจริง ในต่างประเทศ เมื่อประมูลราคาสูงเกินความเป็นจริง เช่นที่ประเทศเช็ก สโลวาเกีย ประมูลสูงเกินไป ก็สั่งให้หยุดประมูล เพราะประเมิน IRR สูงเกินความเป็นจริง และไม่น่าจะหาแหล่งเงินกู้ได้ เป็นต้น

ซึ่งในขณะนั้น กรรมการจัดการประมูลได้กล่าวว่า ในแง่ของความเชื่อมั่นต่อการประมูลครั้งต่อไป ไม่น่าเกิดเหตุซ้ำ และกรณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ น่าจะทำให้ผู้ที่จะสนใจเตรียมความพร้อมให้รัดกุมมากขึ้น และคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางการเงินมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเสนอราคาเพื่อให้ชนะการประมูลไปก่อนแล้วเกิดปัญหาทีหลัง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขของการประมูลอู่ตะเภาที่แต่ละรายเสนอกันมา ปรากฏว่ากลุ่มบีบีเอส เป็นผู้เสนอผลตอบแทนที่สูงสุด ประมาณ 3 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เสนอกว่า 1.02 แสนล้านบาท และสุดท้ายคือกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียมที่ตามมาเป็นอันดับสามที่ 1.01 แสนล้านบาท

ซึ่งคณะกรรมการก็ย้ำหลายครั้งว่า ต้องเปิดเผยตัวเลขหลังจากครม. อนุมัติ เพื่อให้เป็นไปตาม RFP แต่ก็มีตัวเลขเล็ดลอดออกมาให้นักวิเคราะห์ได้พิจารณาความเป็นไปได้ทางการเงิน ไฟแนนเชียลโมเดล ก่อนการตัดสิน เหตุที่กองทัพเรือยังไม่ประกาศผู้ชนะ เพราะการประมูลครั้งนี้ ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดยัง “ไม่ใช่ผู้ชนะ”

ดังนั้น การประมูลนี้จึงปล่อยผ่านไม่ได้ เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยการประมูล 4G และต้องตอบข้อสงสัยสังคมได้ว่า ทำไมผู้ประมูลเสนอผลตอบแทนให้ภาครัฐแตกต่างกันมากมาย รายหนึ่งให้กว่า 3 แสนล้านบาท อีก 2 รายให้กว่า 1 แสนล้านบาท และคำถามถามที่ว่า ข้อเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงเช่นนั้น จะเกิดขึ้นจริง “ได้หรือไม่

สุดท้าย หากกรรมการไม่มั่นใจตัวเลขโมเดลทางการเงิน ควรให้ธนาคารมารับรองและค้ำประกันราคากับความเป็นไปได้โครงหารด้วยหรือไม่?

Look at what happened in the Past.  Learn something valuable from it.  Do things differently in the present."

“จงย้อนมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าจากมัน
แล้วทำในสิ่งที่แตกต่างให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน”
- Spencer Johnson -

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook