คนธรรมดาที่ "ไม่ธรรมดา" กับภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย

คนธรรมดาที่ "ไม่ธรรมดา" กับภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย

คนธรรมดาที่ "ไม่ธรรมดา" กับภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซูเปอร์ฮีโร่ที่เราเห็นในภาพยนตร์อาจมีพลังพิเศษที่สามารถช่วยปกป้องโลกจากภัยอันตราย แต่สำหรับฮีโร่ด้านพลังงานไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้พวกเขาเป็นคนธรรมดา และไม่มีพลังพิเศษอะไร แต่พวกเขาทำสิ่งที่พิเศษ เพื่อส่งไฟฟ้าไปถึงคนไทยได้ใช้กันอย่างมีความสุข ที่ต้องบอกว่า ภารกิจของพวกเขาทั้ง “หวาดเสียว เสี่ยงอันตราย และท้าทาย”  ไม่แพ้กับซูเปอร์ฮีโร่ในภาพยนตร์เลยทีเดียว

“สูง เสียว เสี่ยง” ผู้บำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

เสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เปรียบเสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ในร่างกายมนุษย์ ที่หากชำรุดหรือผิดปกติก็สามารถทำให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างได้ จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือช่าง Hotline ที่มีหน้าที่ดูแลเสา และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา

ช่าง Hotline มีหน้าที่ตรวจ และซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างสม่ำเสมอ โดยมีภารกิจสุดท้าทายอย่างการบำรุงรักษาสายส่งโดยวิธีไม่ดับไฟ (Live Line Maintenance) ที่ต้องทำงานอยู่บนเสาไฟฟ้าแรงสูงเท่ากับตึก 20 ชั้น ที่มีกระแสไฟฟ้าขนาดแรงดัน 500 กิโลโวลต์ ไหลผ่านตลอดเวลา (มากกว่ากระแสไฟฟ้าในครัวเรือนประมาณ 2,000 เท่า) นับเป็นภารกิจที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และสภาพจิตใจที่มั่นคงในการทำงานอย่างยิ่ง

“ระหว่างการปฏิบัติงานบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ช่างสาย Hotline ทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง เนื่องจากต้องขึ้นไปปฏิบัติงานบนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 30-65 เมตร โดยรอบๆ ตัวเราจะเต็มไปด้วยแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ขนาด 115, 230 และ 500 กิโลโวลต์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การทำงานจึงต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด” นพรัตน์ ยมะสมิตร ช่าง Hotline กฟผ. กล่าว

“ดำดิ่งลึกใต้ผืนน้ำ” นักประดาน้ำ กฟผ.

การดำน้ำลึกเป็นเรื่องที่ว่าท้าทายแล้ว เพราะต้องมีความรู้ ความชำนาญ และความปลอดภัย แต่สำหรับนักประดาน้ำ กฟผ. นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า เพราะนักประดาน้ำเหล่านี้ไม่เพียงต้องดำน้ำลึกเท่านั้น แต่ยังต้องมีความเชี่ยวชาญในงานช่าง เนื่องจากมีภารกิจในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และดูแลโครงสร้างความมั่นคงแข็งแรงเขื่อนใต้ผืนน้ำลึก รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วประเทศของ กฟผ. บางครั้งมนุษย์กบเหล่านี้ต้องดำน้ำลึกกว่า 50 เมตร ซึ่งลึกเกินขีดความสามารถของคนธรรมดาทั่วไปที่จะทำได้ (การดำน้ำเพื่อสันทนาการมีความลึกสูงสุดที่ 40 เมตร)

จากภารกิจที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมใต้น้ำ นักประดาน้ำต้องได้รับการฝึกอบรมเข้มข้น เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ในภารกิจการบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำ เช่น การเชื่อม ตัดต่ออุปกรณ์ การขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในหอหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ซึ่งมีพื้นที่แคบและจำกัด ที่บางครั้งใต้น้ำก็มืดจนมองไม่เห็น แม้แต่เพื่อนร่วมงานที่อยู่ตรงหน้า ประสาทสัมผัสจากมือและประสบการณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อีกทั้งยังเสี่ยงกับขีดจำกัดของเวลาการทำงาน ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายนักประดาน้ำ และต้องทนต่อความหนาวเย็นของอุณหภูมิน้ำ

“การดำน้ำครั้งแรกตื่นเต้นและกังวลที่สุดในชีวิต จากผู้ที่ไม่เคยใช้อุปกรณ์อะไรเลยในการดำน้ำ ได้รับภารกิจแรกให้ดูดตะกอนโคลนและเคลียร์สิ่งกีดขวางทางน้ำในหอหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เผชิญกับอุปสรรคที่ยาก ทั้งน้ำขุ่น ทัศนวิสัยการมองก็มืดจนไม่เห็นอะไรเลย เสมือนทำงานในตอนกลางคืน แต่สุดท้ายภารกิจก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะได้รับการช่วยเหลือจากรุ่นพี่ซึ่งเป็นคู่บัดดี้ และคอยฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอ จนเวลานี้สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว” นายฉัตร์ภูมิ ฟองจันทร์ นักประดาน้ำ กฟผ. กล่าว

“เหินฟ้าเพื่อไฟฟ้าไทย” นักบิน กฟผ.

เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไปถึงคนไทยทั่วประเทศ เสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจึงกระจายตัวไปทั่วประเทศ เสาไฟฟ้าแรงสูงบางต้นอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงยาก และไม่สามารถใช้พาหนะทางบกในการเดินทางเข้าไปปฏิบัติงานได้ ดังนั้น การปฏิบัติงานทางอากาศจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ กฟผ. เลือกใช้เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักบิน กฟผ. จึงต้องเป็นผู้นำทางในการพาเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเข้าพื้นที่

นักบิน กฟผ. มีหน้าที่ในการบังคับ และควบคุมการบินเฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำเจ้าหน้าที่สำรวจสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (ช่าง Hotline) ตรวจสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และรับส่งผู้เจ้าหน้าที่เข้าถึงพื้นที่สำรวจที่ห่างไกล โดยในการบิน 1 ครั้ง ทีมจะประกอบไปด้วยคน 4 คน ได้แก่ นักบิน 1 คน ช่างประจำเครื่อง 1 คน และช่าง Hotline 2 คน

“ภารกิจของ กฟผ. ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ โดยกว่าจะมาเป็นนักบิน กฟผ. ได้ ต้องมีชั่วโมงบินไม่ต่ำกว่า 1,200 ชั่วโมง โดยการเข้าพื้นที่ด้วยเฮลิคอปเตอร์ช่วยลดเวลาในการทำงาน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และมีความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย” ร้อยเอก มโน ต่างพันธ์ นักบิน กฟผ. ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานนักบิน กฟผ. มากว่า 11 ปี กล่าว

“ผู้จัดหาแหล่งพลังงาน” วิศวกรเหมืองแร่

กว่าจะมาเป็นไฟฟ้าให้เราได้ใช้ การจัดหาเชื้อเพลิงมาใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมให้สามารถจัดหาเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ซึ่งถ่านหิน ที่เหมืองแม่เมาะ เป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

การนำถ่านหินที่อยู่ใต้พิภพขึ้นมาใช้จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ อย่าง “วิศวกรเหมืองแร่” ในการทำงาน โดยรับข้อมูลการสำรวจพื้นที่จากนักธรณีวิทยา ที่จะจัดทำแบบจำลองสามมิติของพื้นที่ขึ้นมา เพื่อประเมินว่าควรขุดเจาะแบบใดให้ปลอดภัย และประเมินความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ หลังจากนั้น วิศวกรเหมืองแร่จะควบคุมการเปิดหน้าดินของเหมือง โดยใช้ระเบิดเป็นตัวเปิดหน้าดิน เพื่อหาชั้นถ่านหิน และขุดถ่านหินที่อยู่ใต้พิภพขึ้นมา นำไปโม่ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อลำเลียงไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะต่อไป

“การทำเหมืองแม่เมาะมีความห่วงใยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมีการควบคุมมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทั้งฝุ่นละออง เสียง กลิ่น คุณภาพน้ำ และแรงสั่นสะเทือน โดยให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม” วรวิน แสงทองพินิจ วิศวกรเหมืองแร่ กฟผ. กล่าวถึงการทำเหมือง

“24 ชั่วโมง 7 วัน” วิศวกรควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า

เพราะว่าไฟฟ้าสำคัญกับทุกชีวิต และทุกชีวิตต้องการไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง การทำงานของวิศวกรควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าที่ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติจึงไม่เคยหยุดพัก เพราะต้องควบคุมการผลิตไฟฟ้า และระบบส่งไฟฟ้าของประเทศไทยมีความมั่นคง เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพตามความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและปลอดภัย

การทำงานของวิศวกรควบคุมระบบกำลังไฟฟ้านั้นประกอบไปด้วย 4 หน้าที่ ได้แก่ “เจนแมน” ผู้ดูแลกำลังการผลิตไฟฟ้า ทำหน้าที่ควบคุมโรงไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ทั้งโรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน ควบคุมความถี่ จัดสรรกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น ให้อยู่ในสัดส่วนที่สัมพันธ์กันและมีความเหมาะสม “โวลต์เทจแมน” ผู้ควบคุมแรงดันไฟฟ้า ดูแลระบบส่งทั้งประเทศให้มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะหากแรงดันไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบทำให้เกิดไฟฟ้าดับได้ “สวิตช์ชิงแมน” ผู้สั่งการในการปลดอุปกรณ์ และนำอุปกรณ์เข้ามาใช้งานในระบบ เนื่องจากอุปกรณ์ในระบบไฟฟ้าอาจเสื่อมสภาพ จึงต้องมีการบำรุงรักษา เพื่อให้อุปกรณ์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ “ชิฟท์ชาร์จ” ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งจะควบคุมศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติในภาพรวม

 “ย้อนกลับไปเมื่อในอดีตเกิดอุบัติเหตุฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทำให้สายส่งหลุดออกจากระบบ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าและความต้องการไฟฟ้าในระบบทำงานไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลให้ไฟฟ้าดับหลายจังหวัด ทีมจะต้องรีบตัดสินใจและแก้ปัญหาให้สายส่งเส้นนั้นกลับเข้าระบบไฟฟ้าให้ได้ หรือหากไม่สามารถนำสายส่งเส้นนั้นกลับเข้าระบบไฟฟ้าได้ จะต้องแก้ปัญหาโดยใช้วิธีอื่น เช่น ต้องดูว่าระบบส่งไฟฟ้ามีจุดเชื่อมโยงอื่นที่สามารถส่งไฟฟ้าไปยังจุดที่ต้องการได้อีกหรือไม่ และการแก้ไขปัญหาจะต้องอยู่บนความมั่นคง ปลอดภัย และรวดเร็วทันท่วงที” ทรงพล แก้วจันทร์ทวี วิศวกรควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า พูดถึงความท้าทายในการทำงาน

เหล่านี้คือ พลังจากคนธรรมดาที่ได้ชื่อว่าเป็น “ฮีโร่ด้านพลังงานไฟฟ้า” พวกเขามุ่งมั่นตั้งใจ ทำงานเพื่อให้ไฟฟ้าเดินทางไปถึงคนไทยทุกคน ทุกครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างมีความสุข

(Advertorial)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook