10 คำถามอยากรู้ การเจรจาประมูลอู่ตะเภา

10 คำถามอยากรู้ การเจรจาประมูลอู่ตะเภา

10 คำถามอยากรู้ การเจรจาประมูลอู่ตะเภา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะประกาศว่า กลุ่มบีบีเอสเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐดีที่สุด แต่ ณ จุดนี้ก็ยังไม่ใช่ผู้ชนะการประมูลอย่างเป็นทางการ เพราะยังมีขั้นตอนอื่นที่สำคัญต่อจากนี้อีก โดยเฉพาะการพิจารณาและเจรจาในรายละเอียดทางเทคนิคต่าง ๆ ของข้อเสนอแผนการเงินหรือไฟแนนเชียลโมเดล

ตามเงื่อนไขที่กองทัพเรือได้แจ้งต่อผู้ยื่นประมูลทุกรายในวันที่ยื่นประมูลนั้น ระบุชัดเจนว่า ผู้ให้ราคาสูงสุดไม่ใช่ผู้ชนะ จนกว่าที่ปรึกษาทางการเงินของกองทัพเรือจะมีความมั่นใจว่า ไฟแนนเชียลโมเดลที่ผู้ยื่นประมูลเสนอมานั้นมีความถูกต้อง ซึ่งทางกองทัพเรือขอสงวนสิทธิที่จะใช้ไฟแนนเชียลโมเดลของกองทัพเรือเอง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และหากกองทัพเรือกับที่ปรึกษาแก้ไขแล้ว หากผู้เสนอราคาไม่รับ กองทัพเรือขอใช้สิทธิที่จะไม่รับ นอกจากนี้ กองทัพเรือยังขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยขอเจรจาไปพร้อม ๆ กัน 2 ราย จนกว่าจะพึงพอใจ

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงถึง 290,000 ล้านบาท แต่รัฐขอแบ่งผลตอบแทน 59,000 ล้านบาท ในขณะที่ผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุด เสนอให้รัฐสูงถึง 3 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากตัวเลขที่รัฐเสนอขอ แสดงว่าโครงการนี้มีช่องโหว่จากการคำนวณตัวเลขหรืออย่างไร หรือจะแสดงว่าโครงการนี้มีโอกาสทำกำไรได้อย่างมหาศาล แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นทำไมรัฐจึงขอผลตอบแทนจากโครงการต่ำเกินความเป็นจริงมากนัก

ในทางปฏิบัติ การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการ (Internal Rate of Return หรือ IRR) กับ การคำนวณผลตอบแทนที่รัฐควรได้ จะมีความต่างกัน แต่ก็ไม่น่าจะต่างกันมากเกินไป จึงต้องมีการพิจารณาลงลึกในรายละเอียด เช่นว่า ตัวเลขที่เสนอให้รัฐนั้นทำได้จริงแค่ไหน หากทำได้จริง ใช้หลักการคำนวณอย่างไร จะทำเกิดผลตอบแทนจริงได้อย่างไร ในระยะเวลาเท่าไร หรือเป็นเพียงตัวเลขสวย ๆ ที่ทำให้หัวใจพองโต แต่ในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้จริง เป็นต้น

ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะสำหรับโครงการใหญ่เช่นนี้มีน้อยเหลือเกิน แทบจะไม่มีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนได้ซักถาม จึงทำให้ทุกครั้งที่มีข่าวเล็ดลอดออกมา เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งหากผู้เกี่ยวข้องยอมเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ออกมา จะช่วยคลายข้อกังขาเหล่านี้ลงได้

1. ทำไมที่ปรึกษาด้านการเงินของกองทัพเรือจึงเสนอผลตอบแทนที่รัฐควรได้เพียง 59,000 ล้านบาท
2. IRR ของโครงการ ที่รัฐคาดหวังคือเท่าไร และที่เสนอมาคือเท่าไร
3. มีเงินค้ำประกันโครงการเท่าไร
4. หากผู้ทำโครงการจ่ายค่าตอบแทนน้อยก่อนช่วงแรก แล้วค่อยไปจ่ายหนักในช่วงหลัง หากทำไม่ได้ตามแผน จะต้องชดเชยอย่างไร?
5. ทำไมไม่เปิดเผยตัวเลขแผนการชำระเงินตลอด 50 ปี
6. หากจำนวนผู้โดยสาร ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ และรัฐไม่รับประกันจำนวนผู้โดยสาร จะมีการยืดเวลาชำระให้หรือไม่ หรือขอทุเลาการชำระเงินได้หรือไม่
7. หากมีการย้ายรันเวย์จะทำให้ข้อเสนอทางเทคนิคไม่ตรงตาม TOR หรือไม่
8. มีเงื่อนไขเพิ่มเติมอะไรบ้างที่สังคมควรรับรู้และโปร่งใส
9. บทบาทขององค์กรต่อต้านคอรัปชั่นมีอยู่ในการเจรจาสัญญาอู่ตะเภาหรือไม่ และได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างไร
10. คณะกรรมการเจรจาสัญญาประกอบด้วยใครบ้าง หรือมีผู้เชี่ยวชาญด้านใดบ้าง

ไม่มีใครอยากให้โครงการล้มหรือสะดุดหยุดชะงัก แต่การพิจารณาอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน ด้วยความโปร่งใสเปิดเผย โดยเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ก็จะสกัดกั้นไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ และช่วยไขข้อข้องใจของสาธารณชน ซึ่งจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับฝ่ายผู้ชนะการประมูลโครงการและเจ้าของโครงการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook