“Super Bowl LIV Halftime Show” กับความหมายว่าด้วยผู้หญิงและเด็ก

“Super Bowl LIV Halftime Show” กับความหมายว่าด้วยผู้หญิงและเด็ก

“Super Bowl LIV Halftime Show” กับความหมายว่าด้วยผู้หญิงและเด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จบลงไปแล้วสำหรับการแข่งขัน Super Bowl ครั้งที่ 54 หรือการแข่งขันชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอลอาชีพประจำปีของ NFL ซึ่งจัดขึ้นในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคมหรือวันอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แต่สิ่งที่คนทั่วโลกต่างตั้งตารอดูในระหว่างการแข่งขันก็คือ การแสดงช่วงพักครึ่ง Super Bowl หรือ Halftime Show ซึ่งในปีนี้ NFL ได้เลือกเจนนิเฟอร์ โลเปซและชากีรา สองศิลปินสาวเชื้อสายลาตินมาระเบิดความสนุกให้คนทั่วโลกได้รับชม แต่ในความสนุกสนาน ตลอดการโชว์กลับแฝงไปด้วยนัยยะทางการเมืองที่เป็นปัญหาทางสังคมอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ Sanook จึงขอถอดรหัสการแสดงตลอด 14 นาทีของศิลปินทั้งคู่ เพื่อหาคำตอบว่าการแสดงสุดอลังการครั้งนี้แฝงความหมายอะไรไว้บ้าง

ศิลปินสาวตัวแทนชาวลาติน

การแข่งขัน Super Bowl นั้นถูกมองว่าเป็นเกมกีฬาที่มาพร้อมกับความบันเทิงที่อยู่คู่กับคนอเมริกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งในการออกอากาศทุกปี ค่าโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้น แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ยังทุ่มเงินมหาศาลเพื่อปรากฏตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อให้คนในสหรัฐอเมริกาได้เห็นสินค้าของตัวเอง เช่นเดียวกับ การแสดงช่วงพักครึ่งที่การันตีว่าศิลปินที่ได้ขึ้นโชว์จะมีฐานคนฟังเพลงที่เพิ่มขึ้นและยอดดาวน์โหลดเพลงมากขึ้นตามไปด้วย

ในขณะที่ฐานคนดูกีฬาอเมริกันฟุตบอลมีมากขึ้น กลุ่มคนเชื้อสายลาตินที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็กลายมาเป็นกลุ่มผู้ชมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับปีนี้ Super Bowl ก็จัดที่ไมอามี่ซึ่งกว่า 75% ของประชากรในพื้นที่พูดภาษาสเปนมากกว่าภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุนี้เอง NFL จึงตัดสินใจเลือกศิลปินเชื้อสายลาตินอย่าง เจนนิเฟอร์ โลเปซ และชากีรามาขึ้นแสดง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายกลุ่มผู้ชมกีฬาอเมริกันฟุตบอลให้มากขึ้น และถ้าลองมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของ NFL แล้ว มีศิลปินหญิงชาวลาตินเพียงคนเดียวที่ได้ขึ้นแสดงในช่วงพักครึ่ง นั่นก็คือ กลอเรีย เอสเตฟาน (Gloria Estefan) ในปี 1993 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว

“การเลือกศิลปินมาก็เพราะต้องการขายยอดเข้าชม เพราะว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2000 เจโลและชากีราเริ่มมีอิทธิพลใน Billboard Chart วงการเพลงหรืออุตสาหกรรมดนตรีของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น นี่เป็นตัวบทที่สำคัญมากที่ทั้ง NFL และศิลปินทั้งคู่จะได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือศิลปินก็จะได้กลุ่มคนฟังเพิ่มขึ้น ขณะที่ NFL ที่ฉลองครบรอบ 100 ปีในปีนี้ก็จะได้ฐานคนดูที่กว้างขึ้น เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นการสื่อสารมาร์เก็ตติ้งที่ใหญ่มาก และมีการใช้ภาษาโดยการใช้ภาพแทน หรือ Language of representationอาจารย์ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องของผู้หญิง เพศสถานะและเพศวิถีในลาตินอเมริกาอธิบาย

การเมืองที่ซ่อนอยู่ในการแสดง

คงพูดได้ไม่เต็มปากนักหากจะบอกว่าการแสดงของเจนนิเฟอร์ โลเปซและชากีราปราศจากเรื่องทางการเมือง เพราะตลอดเวลา 14 นาทีของการแสดง คนดูจะเห็นสัญญะต่าง ๆ มากมายที่ศิลปินทั้งสองต้องการจะสื่อให้คนทั่วโลกได้เห็น ซึ่งอาจารย์ฐิติพงษ์มองว่า การแสดงของสองสาวเป็นเรื่องการเมืองกับร่างกายผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาอย่างที่สุด พร้อมกันนี้อาจารย์ยังชี้ให้เห็นว่ามีคำสำคัญ 2 คำที่เกี่ยวข้องกับการแสดงนี้ นั่นคือ ความหลากหลาย (Diversity) และสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive Society)

“ถ้าเป็นพาร์ทของชากีรา ผมคิดว่าเขาคงเน้นเรื่องความหลากหลาย หรือเป็นการปรับเอาความคิดเรื่องความหลากหลายเข้ามาสู่ตัวโชว์ผ่านภาษา นั่นก็คือ ภาษาเต้น รวมถึงสีหน้าท่าทาง การมองกล้อง การแลบลิ้นซึ่งคนอาจจะคิดว่าเป็นลูกเล่นอะไรหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้ว การแสดงออกเหล่านี้เป็นภาษาที่ใช้กันในกลุ่มเลบานีส ซึ่งเป็นอวัจนปฏิบัติอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่การเต้นปลายเท้าในเพลง Waka Waka นั่นก็เป็นการเต้น Champeta จากเมืองบารังกีย่าของโคลอมเบีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของชากีรา” อาจารย์ฐิติพงษ์ชี้

ไม่ใช่แค่ชากีราเท่านั้นที่แสดงออกถึงความหลากหลายผ่านการเต้น แต่เจนนิเฟอร์ โลเฟซเองก็ได้หยิบเอาการเต้นซัลซ่า (Salsa) มาแสดงบนเวที ซึ่งการเต้นซัลซ่าเปรียบเสมือนวัฒนธรรมที่ยึดโยงอยู่กับอัตลักษณ์ทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายลาตินในสหรัฐอเมริกา อาจารย์ฐิติพงษ์อธิบายว่า

“เวลาคนพวกนี้มารวมตัวกัน เขาจะรู้สึกว่ามันมีกลุ่มก้อน มีความแข็งแกร่งของกลุ่มก้อน ซึ่งจะไปรวมตัวกันตามไนท์คลับแล้วก็เต้นเฉลิมฉลองกัน เจโลเลยเต้นเพื่อเฉลิมฉลองวัฒนธรรม และแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ควรผูกขาดมิติทางด้านวัฒนธรรมให้เป็นของกลุ่มคนผิวขาว แต่วัฒนธรรมของคนลาตินเองก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน

สังคมที่เป็นของทุกคน

การแสดงของเจนนิเฟอร์ โลเปซไม่เพียงจะงดงามและทรงพลัง แต่กลับเต็มไปด้วยข้อความทางการเมืองที่ถ้ามองเผิน ๆ ก็คงจะคิดว่าเป็นแค่การแสดงเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น โดยอาจารย์ฐิติพงษ์มองว่าสิ่งที่เจนนิเฟอร์ โลเปซต้องการจะสื่อในการแสดงพาร์ทหลัง คือเรื่องความเป็นพลเมืองสมัยใหม่ หรือ Global Citizenship

“ตั้งแต่ขึ้นไปโยกบนตึกเอ็มไพร์สเตตแล้ว ถ้าเคยดูเรื่องคิงคอง นั่นคือฉากที่คิงคองไต่ยอดตึกเอ็มไพร์สเตต มันถูกยิงถูกแทง แล้วมันก็กรีดร้อง บุกถล่มเมือง ซึ่งนี่เป็นแนวคิดของจักรวรรดินิยมที่ชัดเจนมาก เพราะคิงคองมีความแปลก จึงถูกนำเข้ามาโชว์หรือถูกเอาเปรียบในเมืองใหญ่ ๆ ทั้งยังถูกกดทับอีก ซึ่งก็เหมือนกับการเหยียด หรือการป้ายสีให้กลุ่มคนเชื้อสายลาตินในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นพวกอาชญากร เป็นคนปล้นชิงทรัพย์ หรือเป็นแรงงงานชั้นต่ำ แล้วก็เข้าประเทศมาโดยไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่เจโลได้ใส่ความเป็นผู้หญิงลงไปอีกหนึ่งขั้น

การขึ้นไปโยกตึกเอ็มไพร์สเตตของเจนนิเฟอร์ โลเปซจึงสามารถมองได้ว่านี่คือสัญญะที่ต้องการจะสื่อว่าไม่ต้องการให้คนเชื้อสายลาติน โดยเฉพาะผู้หญิงถูกลืมหรือถูกทำให้เสียงของพวกเธอหายไป กล่าวคือ พวกเธอต้องไม่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง เพราะนโยบายบางอย่างของสหรัฐอเมริกาที่เหยียดคนเชื้อสายลาติน

ต่อมา เจนนิเฟอร์ โลเปซก็แสดงการเต้นรูดเสา ซึ่งอาจารย์ฐิติพงษ์แสดงความเห็นว่าการแสดงชุดนี้ของเธอก็ยังมีนัยสำคัญบางอย่างแฝงอยู่

“ตอนรูดเสาก็อาจจะมองได้ว่ามันเป็นโชว์ที่แสดงว่านักแสดงหญิงในฮอลลีวูดที่มักจะได้รับบทที่ต้องใช้เรือนกายมาก ๆ โดยเฉพาะสาวลาติน มักจะถูกมองว่าพวกเธอจะเล่นบทอื่นไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วบทพวกนี้ต้องใช้ทักษะและการฝึกฝน นักแสดงเหล่านี้ถูกท้าทายมากมาย ทั้งการกลายเป็นวัตถุที่ถูกจ้องมอง ขณะที่ช่วงอายุวัยและความสาวที่อาจจะลดโอกาส แต่การแสดงบนเวทีของเจโลก็เป็นการท้าทายบรรทัดฐานเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเธอเองในวัย 50 กะรัตแล้ว แต่ก็ยังสามารถแสดงได้ ยังสามารถสร้างทักษะเหล่านี้ขึ้นมาได้

เสียงที่อยากให้ได้ยิน

นอกจากการแสดงแสนทรงพลัง เจนนิเฟอร์ โลเปซยังเปิดเวทีให้ลูกสาวขึ้นมาร้องเพลงร่วมกับเธอ พร้อมกับกลุ่มเด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นบนเวที พร้อมกับเพลง Let’s Get Loud ขณะเดียวกันยังปรากฏภาพของเด็กผู้หญิงบางส่วนที่นั่งอยู่ในกรงไฟนีออน ที่สะท้อนเรื่อง Child Separation หรือการจับแยกลูกแยกแม่ในพื้นที่ชายแดนของประเทศสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลไม่มีการดูแล ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของเด็ก

เจโลถึงเลือกเพลง Let’s Get Loud แล้วให้ลูกร้องด้วยซ้ำ เพราะเสียงของเด็กเป็นเสียงที่ถูกกดทับไปอีกขั้นหนึ่ง” อาจารย์ฐิติพงษ์อธิบาย

ในการแสดงดังกล่าว ผู้ชมจะได้เห็นภาพมุมสูงซึ่งปรากฏเป็นรูปสัญลักษณ์ของเพศหญิง ซึ่งเป็นเพศที่สังคมมองว่าอ่อนแอ และเมื่อเป็นเด็กด้วยแล้ว ผู้หญิงกลุ่มนี้จึงต่ำต้อยลงไปอีก ดังนั้น การเลือกใช้เพลงของเจนนิเฟอร์ โลเปซ จึงเปรียบเสมือนการแสดงออกถึงการส่งเสียงดัง เพื่อให้เสียงของเด็กผู้หญิงถูกได้ยิน

“เพราะฉะนั้นมันมาจบท้ายด้วยเรื่องความหลากหลายและสังคมสำหรับทุกคน นั่นก็คือ เราจะต้องไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง ซึ่งในบริบทนี้ก็คือ ต้องไม่ทิ้งผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงเอาไว้ข้างหลัง” อาจารย์ฐิติพงษ์กล่าวสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook