ทักษิณ ชี้เศรษฐกิจไทย "สิ้นหวัง"-รัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย เอื้อคนรวยยิ่งรวย แต่คนจนยิ่งจน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Thai Enquirer วิพากษ์ระบบเศรษฐกิจไทยยุคปัจจุบันอยู่ในภาวะ "สิ้นหวัง" เศรษฐกิจตามหลังประเทศอื่นในภูมิภาค พร้อมระบุประเทศจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ถ้ายังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ บทความที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ Thai Enquirer มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และบทความของอดีตนายกฯ ทักษิณ ใช้ชื่อว่า "รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และต้องใส่ใจประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนรวย" (Thaksin says the government needs to fix the economy and care more about the people, not just the rich) เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อเช้าวันนี้ (5 ก.พ. 2563)
เนื้อหาในบทความดังกล่าวระบุว่า ข้อมูลสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเรา เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศ โดยมีเนื้อหาทั้งหมดดังนี้
"เศรษฐกิจไทย ซึ่งเคยเป็นที่อิจฉาของประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ แต่ไม่นานมานี้ การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ได้ถดถอยลงเรื่อยมา จนวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยถูกจัดว่าเป็นเศรษฐกิจที่ตามหลังประเทศอื่นในภูมิภาค
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกลายเป็นหนึ่งในแย่ที่สุดและมีแนวโน้มจะแย่ลง ไม่มีท่าว่าจะดีขึ้นอย่างเร็ววัน
แต่ท่ามกลางหลายๆ ปัญหาทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่า ยังมีบางภาคส่วนในสังคมยังคงเจริญรุ่งเรือง และจุดนี้กลายเป็นช่องว่างที่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างกลุ่มชนชั้นที่มีโอกาสและกลุ่มชนที่ด้อยโอกาส
สภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่คนชนชั้นบนของสังคมยังคงได้รับประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องทนทุกข์ต่อไป ไม่เคยมีมาก่อนที่คนที่ด้อยโอกาสของประเทศของเราประสบความยากลำบากอย่างวันนี้ ซึ่งสภาวะเช่นนี้ได้ถูกปฏิเสธมาตลอดจากรัฐบาลนี้
ขณะที่เศรษฐกิจโลกประสบวิบากกรรมของเศรษฐกิจผ่านความโกลาหลมาหลายครั้งหลายครา แต่ผ่านพ้นมาได้ทุกครั้ง บทเรียนที่ประเทศไทยเรียนรู้จากเศรษฐกิจปี 2540 เป็นที่เรื่องที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ปี 2540
วิกฤติการณ์วันนี้พอที่ทำให้เราเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเงินในปี 2540 หรือที่เรียกว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง
เหตุผลที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันสิ้นหวังไม่ได้มีสาเหตุมาจากระบบการเงินของประเทศไทยในสถานะย่ำแย่เหมือนปี 2540 แต่เป็นเพราะระบบการเงินไทยแข็งแรงเกินไปและไม่ได้สนับสนุนพอให้พยุงภาคธุรกิจเนื่องจากความหวาดระแวงว่า สถานภาพทางการเงินของภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ ถ้าเศรษฐกิจแย่ลง
ความหวาดกลัวนี้ประกอบกับการใช้วิถีความคิดของพวกคนรวยสร้างวงจรที่บั่นทอนประเทศของเรา สถาบันธนาคารในประเทศของเราก็มีส่วนทำให้คนรวยร่ำรวยขึ้น ขณะที่กำลังปล่อยให้คนจนจนมากขึ้น
เป็นที่รู้กันดีว่า คนรวย รวยขึ้น ถ้ารัฐบาลที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยอยู่ในอำนาจ เราสามารถสังเกตได้ชัดจากกระแสโลก เมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยอยู่ในอำนาจ คนที่มีโอกาสน้อยจะเป็นกลุ่มได้ประโยชน์มากที่สุด
ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ประจักษ์ดี คือ สถาบันธนาคารสนับสนุนแต่ธุรกิจยักษ์ที่มีแต่จะโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนทั่วไป ยังคงต้องตะเกียกตะกาย เวลาที่จะขอการสนับสนุนให้ได้เงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน
นอกเหนือจากประเด็นนี้ คือ ความจริงที่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ทำตัวเป็นองค์กรอิสระอย่างที่ควรจะเป็น แทนที่จะขอให้ธนาคารต่างๆ ช่วยสภาพคล่องให้ธุรกิจคนทั่วไป เหมือนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางให้ธนาคารต่างๆ ทางเดียวกัน ให้ช่วยคนรวยและธุรกิจยักษ์ใหญ่เท่านั้น
มุ่งเน้นนโยบายการเงินอย่างเดียว "ไม่พอ"
บทความของนายทักษิณระบุด้วยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายที่ไม่เหมาะสมกับประเทศของเรา การใช้นโยบายการเงินใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เป็นนโยบายที่เหมาะกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยควรใช้นโยบายการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบเป้าหมายการแลกเปลี่ยนเงินตรา(Exchange Rate Targeting)
การใช้แต่นโยบายทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจนโยบายการคลังมากนักนำไปสู่สถานการณ์ ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคนี้ ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของประเทศ 2 ภาค คือ ภาคส่งออกและท่องเที่ยว
ที่เราเห็นได้วันนี้ คือ ภาคอุตสาหกรรมทั้งสองที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเราเริ่มประสบปัญหาและผลลัพธ์ที่กู่ไม่กลับ ถ้าสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข
สำหรับภาคส่งออกในตลาด 5 เดือนที่ผ่านมา หดตัวและตามที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้คาดการณ์ว่า ส่งออกไทยในปี 2563 จะหดตัว 0.9-2.4% จากตัวเลขส่งออกปี 2562
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของสภาวะการไหลออกของเงินทุน ผมขอเน้นอีกครั้งว่า ภาวะเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนรวย
สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ กำลังทำอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่า พวกเขายังเดินสายพานประกอบความคิดอยู่ ขณะที่ความเป็นจริงที่ถูกต้องคือ วิถีความคิดแบบองค์รวม (Holistic Approach) แต่รัฐบาลชุดนี้และองค์กรอิสระกำลังทำให้ประเทศไทย 'ตกขบวนรถไฟ'
ในปัจจุบัน วิธีการคิดของประเทศอื่นในโลกเป็นการหันหน้าเข้าหากัน หรือการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ประเทศของเรายังคงคิดแบบฉายเดี่ยว ประเทศไทยในฐานะประเทศหนึ่งในโลกควรมีความคิดแบบ 'หันหน้าเข้าหากัน' เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในประเทศ
โลกของเราวันนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากที่รัฐบาลชุดนี้คิดว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนสามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ประเทศไทยวันนี้ต้องการผู้นำที่มีความคิดและทำตัวให้เหมาะสมกับภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภายใต้การอยู่ในอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ปัญหาของเรา คือ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้เป็นพวกที่สนใจแต่เฉพาะมุมมองด้านการตลาดมากกว่าการมองว่า นโยบายต่างๆที่ออกมานำไปใช้ได้จริงหรือไม่
ถ้ามองไปที่นโยบาย ชิมช้อปใช้ ออกมาโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณจะเห็นได้ว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายทางการตลาดอย่างสิ้นเชิง การใช้เงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายหรือมาตรการนี้ เป็นเงื่อนไขที่จะนำประเทศไปสู่การล้มละลาย
สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันเงินเข้าสู่กระเป๋าของผู้คน คือ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนสามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยและเกิด Trickle down effect หรือเงินไปถึงประชาชนรากหญ้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต
สิ่งที่ธนาคารในประเทศไทยกำลังทำอยู่ เปรียบได้กับการยื่นร่มออกมาเพียงคันเดียวในช่วงที่ฝนตกกระหน่ำ และมีความต้องการร่มจำนวนหลายพันคัน แต่ในวันที่อากาศแจ่มใส กลับเสนอร่มนับพันคัน ทั้งที่ไม่จำเป็น
ในสภาวะปัจจุบันนี้ คนที่มีโอกาสน้อยของประเทศเรากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ตัวเองมีกำลังซื้อหดตัวอย่างมาก นี่คือเหตุผลที่ทำให้การบริโภคต่ำลง อัตราการบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้เป็นตัวพยุงประเทศในเวลาที่การส่งออกชะงักงัน เนื่องจากปัจจัยภายนอก
ความเคราะห์ร้ายที่ตามมาซ้ำสอง คือ การส่งออกของไทยที่ชะงักงัน ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นและการหดตัวของการบริโภค
ปิดท้ายจุดนี้ คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ชะงักงัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่า นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศเรา
การขาดความเชื่อมั่นและความมั่นใจไม่เคยเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ดีต่อเศรษฐกิจในรูปแบบใดๆ
ระบบทุนนิยมมี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ความเชื่อมั่น (Trust) ความมั่นใจ (Confident) และทฤษฎีการเก็งกำไร (Arbitrage)
ในสภาวะที่เกิดความเชื่อมั่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ ย่อมทำให้เกิดการไหลเข้าของการลงทุนทำให้สภาวะเศรษฐกิจเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าองค์ประกอบ 2 ข้อนี้ขาดไป จะเกิดสภาวะ”การเก็งกำไร” มากขึ้น และเป็นเครื่องชี้วัดที่ชัดเจนว่า สภาวะประเทศจะเป็นไปอย่างไรในอนาคต
ในสภาวะที่ดูเหมือนว่า การขาดความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทยและกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีเพียงหยิบมือเดียวเป็นกลุ่มที่หยิบฉวยผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เพราะความมั่งคั่งของประเทศไม่ควรอยู่ในมือ.ของกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มทุนที่มีเพียงหยิบมือเดียว
คนกลุ่มนี้โชคดีอย่างยิ่งที่ประเทศเรามีรัฐบาลแบบนี้อยู่ในอำนาจ แต่ในความสุขของคนพวกนี้ที่มีเพียงหยิบมือเดียว คือ ความทุกข์ทรมานของคนไทยมากกว่า 65 ล้านคน
สิ่งที่ควรจะเป็นและเกิดขึ้น คือ ทุกภาคทุกส่วนของสังคมไทย ไม่ว่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจใด มีความสุขกับนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจ
ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้จะทำให้ประเทศเกิดภาวะที่เติบโตและรุ่งเรืองได้"