กรุงเทพมหานคร เปิดมาตรการสู้วิกฤต “ไวรัสโคโรนา”

กรุงเทพมหานคร เปิดมาตรการสู้วิกฤต “ไวรัสโคโรนา”

กรุงเทพมหานคร เปิดมาตรการสู้วิกฤต “ไวรัสโคโรนา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาในไทย เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศต่างรู้สึกกังวลกับการแพร่ระบาดที่ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ และไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทางเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีนและนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ทาง กทม. ได้เตรียมความพร้อมและมาตรการเข้มงวดในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมด่วนพร้อมศูนย์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเชื้อไวรัสโคโรนาแบบบูรณาการ ทั้งหน่วยงานที่สังกัดใน กทม. เช่น สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

“เราเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แนวทางปฏิบัติตัวสำหรับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะหากมีอาการ ไอ ไข้สูง น้ำมูก เบื้องต้นแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย จากนั้นโทรติดต่อมาที่ 1422 เป็นสายด่วนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยเจ้าหน้าที่จะคัดกรอง ตรวจสอบข้อมูล ตามขั้นตอนทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ถ้ามีความสงสัยว่าอยู่ในระยะเฝ้าระวัง ทางศูนย์เอราวัณ เบอร์โทร. 1669 จะจัดรถพิเศษไปรับ พร้อมส่งต่อไปยังขั้นตอนของการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล” ข้อแนะนำจาก พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

มาตรการพร้อมข้อแนะนำ จาก กทม.

หลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง

  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น ในพื้นที่อับอากาศ เช่น คอนเสิร์ต หรือ บริเวณที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไป

  • สิ่งสำคัญในช่วงเวลาแบบนี้ คือ การใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการป่วย เพราะการใส่หน้ากากอนามัยเป็นการช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง

ประชาสัมพันธ์โรงแรม 922 แห่ง อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม ทำป้ายแจ้งเตือน 3 ภาษา

  • กทม. มีโรงแรมที่ขึ้นทะเบียนอยู่ 922 แห่ง ได้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ 3 ภาษา ทั้ง ไทย-จีน-อังกฤษ

หากมีอาการเจ็บป่วยจะติดต่อ กทม. อย่างไร?

  • ในกรณีที่ผู้เข้าพักมีอาการที่สงสัย ทางผู้ประกอบการ หรือผู้พบเห็น สามารถติดต่อมาที่ 1422 ทางกรุงเทพมหานครจะดำเนินการต่อให้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง

ส่วนตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ การสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ

เตรียมห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure สำหรับเฝ้าสังเกตอาการผู้สงสัยการติดเชื้อ

ความร่วมมือระหว่าง กทม. และกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่มีผู้ป่วยต้องเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา เบื้องต้นมีการเตรียมห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure สำหรับเฝ้าสังเกตอาการผู้สงสัยการติดเชื้อ โดยห้องคลีนรูมชนิดนี้เป็นห้องที่ปรับความดันภายในห้องให้เป็น Negative คือ ความดันภายในห้องต่ำกว่าห้องข้างเคียง ทำให้เชื้อไม่สามารถแพร่ไปสู่ภายนอกได้ ที่ รพ.ตากสิน รพ.กลาง และ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ พร้อมรับสถานการณ์ และสามารถทำวอร์ดกักกันโรคนี้โดยเฉพาะได้หากมีความจำเป็นเพิ่ม

ติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้ แนะโทร 1422

อีกประเด็นที่สร้างความสับสน คือ Fake News และข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทางกรุงเทพมหานครแนะนำให้โทร 1422 จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ หรืออาจจะติดต่อสอบถามมาที่โรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์

คุมเข้ม เพิ่มจุดคัดกรอง พร้อมเฝ้าระวัง

  • กรุงเทพมหานครได้เข้าไปช่วยเสริมเพิ่มจุดคัดกรองที่ “ท่าเรือคลองเตย” ที่มีการขนส่งสินค้าไปมาระหว่างจีนจำนวนมาก มีลูกเรือทำงานเข้าออกกว่า 10,000 คน

  • สำนักอนามัยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสำนักงานเขตคลองเตย เข้าไปเสริมในการตรวจคัดกรองลูกเรือเพื่อความมั่นใจ

มาตรการ 3 ชั้นกับความพร้อมรับมือไวรัสแพร่ระบาด

นายแพทย์เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้อัปเดตมาตรการควบคุมโรค 3 ชั้น ที่เตรียมพร้อมไว้รับมือ คือ

  • ชั้นแรก คือ จุดคัดกรองบริเวณสนามบิน
  • ชั้นที่สอง คือ ความพร้อมสถานพยาบาล
  • ชั้นที่สาม คือ มาตรการคุมเข้มตามโรงแรม และห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ

เส้นทางการคัดกรอง ยกตัวอย่างเช่น สนามบินที่มีไฟลต์เดินทางระหว่างประเทศทุกที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขมีด่านที่จะตรวจ โดยเฉพาะไฟลต์บินจากจีน ใครที่มีอาการไข้ หรือ ไอ มีน้ำมูก จะถูกคัดออกมา เพื่อมาเก็บเสมหะไปตรวจหาเชื้อ

ยกตัวอย่าง นาย ก. เดินทางมาจากอู่ฮั่น มีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก จะถูกเก็บเสมหะไปตรวจ พร้อมทั้งเชิญไปยังห้องความดันลบ ถ้าพบว่าเป็นเชื้อไวรัสโคโรนา ผู้โดยสารที่เดินทางมาในเที่ยวบินนั้น บริเวณที่นั่ง 2 แถวหน้า 2 แถวหลัง หรือ กรุ๊ปทัวร์ที่มาพร้อมนาย ก. จะต้องถูกเก็บเสมหะไปตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน

ส่วนในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่ได้แสดงอาการ จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ว่าระยะในการเดินทางเกิน 14 วันหรือไม่

ถ้าเกิน 14 วัน ถือว่าโอกาสในการติดเชื้อน้อย

แต่ถ้าไม่ถึง 14 วัน เราจะให้ผ่านเครื่องสแกนอุณหภูมิด้วย

วิธีสังเกตอาการตัวเองแบบง่ายๆ

ในช่วงนี้ตามโรงเรียนหรือออฟฟิศหลายแห่งมีไข้หวัดใหญ่ระบาด หลายคนมีอาการ เป็นไข้ ไอ น้ำมูก อยากฝากพี่น้องประชาชนว่า ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ ทานยา 1-2 วันแล้วไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ แต่ถ้าต้องใกล้ชิดคนจีนหรือเดินทางกลับมาจากจีน แนะนำให้ติดต่อ 1422 แล้วทางเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนในการให้คำแนะนำ

“ประเทศไทยสามารถตรวจพบผู้ป่วยได้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 63 กระบวนการในการเฝ้าระวังของไทยถือว่าติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ขอให้ประชาชนมั่นใจ แต่หากท่านคลุกคลีกับชาวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือเพิ่งเดินทางกลับมาจากจีน ถ้าหากมี ไข้ ไอ น้ำมูก อยากแนะนำให้มาตรวจที่โรงพยาบาล พร้อมแจ้งประวัติให้แพทย์ทราบ” นายแพทย์เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวย้ำ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook