กราดยิงโคราช ตั้งคำถามการกดขี่-ความปลอดภัยกองทัพ วอนปฏิรูปก่อนเกิดเหตุซ้ำ

กราดยิงโคราช ตั้งคำถามการกดขี่-ความปลอดภัยกองทัพ วอนปฏิรูปก่อนเกิดเหตุซ้ำ

กราดยิงโคราช ตั้งคำถามการกดขี่-ความปลอดภัยกองทัพ วอนปฏิรูปก่อนเกิดเหตุซ้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุการณ์กราดยิงและจับตัวประกันในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 อ.เมืองนครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) จนกระทั่งเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันนี้ (9 ก.พ.) สร้างคำถามเกี่ยวกับการกดขี่และการใช้อำนาจหาประโยชน์จากผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในอนาคต

ย้อนปมความสัมพันธ์ผู้บังคับบัญชา

ก่อนการกราดยิงที่ศูนย์การค้า ผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นทหาร บุกเข้าไปยิงผู้บังคับบัญชา อายุ 48 ปี และหญิง อายุ 65 ปี เสียชีวิตในบ้านพัก หลังจากทวงเงินค่านายหน้าซื้อขายที่ดินจากฝ่ายผู้เสียชีวิต แต่ไม่เป็นผล

เมื่อเข้าไปอ่านในเฟซบุ๊กของผู้ก่อเหตุ จะพบโพสต์หนึ่งที่กล่าวถึงบุคคลที่ 3 ด้วยน้ำเสียงเคียดแค้นว่า ร่ำรวยจากการโกงและเอาเปรียบคนอื่น

ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย มองว่า การฆ่าผู้อื่นแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็สงสัยว่า นอกจากความขัดแย้งส่วนตัวแล้ว ลำดับชั้นของอำนาจ และการใช้อำนาจที่เหนือกว่าหาประโยชน์หรือเอาเปรียบผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่หรือ ที่เป็นสาเหตุต้นตอของเรื่องนี้

ขณะเดียวกัน หลายคนยังนำไปเชื่อมโยงกับการกราดยิงในต่างประเทศว่า ผู้ก่อเหตุหลายคน ก็ถูกกลั่นแกล้งจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน จนก่อเหตุในลักษณะนี้กับคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและไม่รู้จักกันมาก่อน

ความปลอดภัยคลังอาวุธหละหลวม

หลังจากยิงผู้บังคับบัญชาและญาติเสียชีวิตแล้ว ผู้ก่อเหตุบุกเข้าไปในค่ายทหาร และยิงทหารในค่าย ก่อนนำอาวุธออกมาก่อเหตุต่อที่ศูนย์การค้า

จุดนี้เองที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรู้สึกว่าระบบรักษาความปลอดภัยของคลังอาวุธอาจหละหลวมเกินไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่มีประสบการณ์การเป็นทหาร แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า ระบบกองทัพที่มีการเกณฑ์ทหาร และเรียกทหารเกณฑ์ไปรับใช้ที่บ้านของผู้บังคับบัญชา จนทำให้มีทหารในค่ายทหารน้อย น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรักษาความปลอดภัยไม่ดีเท่าที่ควร 

"ปล่อยกลับบ้านยาวเป็นปีสัก 2 เพื่อเอาเงินเดือนเข้ากระเป๋า ปล่อยกลับบ้านเป็นเดือนสัก 3 เพื่อเอาเงินเดือนเข้ากระเป๋า ถูกดึงไปทำงานส่วนตัวนายทหารสัก 2 ดึงไปทำงานที่กองพัน 1 เท่ากับว่าเหลืออยู่ที่กองร้อยแค่ 7-8 คน"

"พอคนน้อย เวรกะกลางคืนก็ต้องลดจำนวนลง จากที่พักเวรกองร้อย จะมีเวรคลังโรงรถคนนึง คลังแสงคนนึง ที่กองบังคับการกองร้อยคนนึง จากสามคน แม่*ลดเหลือคนเดียว ซึ่งเป็นคนเดียวที่สภาพอ่อนเพลียเพราะทำงานเหนื่อยตอนเช้าและเข้าเวรกลางคืนและอีกหลายๆ เวร"

"เพราะฉะนั้นที่ถามว่า ทำไมมันเอาง่าย ถ้าตอบแบบง่ายๆ คือ ระบบความปลอดภัยมันต่ำ"

ผู้โพสต์จึงเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนการเกณฑ์ทหารทบทวนว่า จะดึงดันให้มีการเกณฑ์ทหารต่อไปอยู่หรือ ขณะเดียวกันกองทัพ ควรเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่านี้หรือไม่

ระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ

อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียพูดถึงต่อเหตุการณ์นี้ คือ หากเกิดเรื่องเช่นนี้ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ควรมีการส่งคำเตือนภัยผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือการแจ้งเตือน ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทราบเหตุ และเอาตัวรอดทันเวลา

หลายคนยกตัวอย่างการแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในหลายประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ที่เมื่อมีพายุไต้ฝุ่น หรือแผ่นดินไหว ประชาชนก็จะได้รับการแจ้งเตือน ที่ทำให้ประชาชนทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์คับขัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook