ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เหตุกราดยิง” คือ “โรคระบาด” อย่างหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เหตุกราดยิง” คือ “โรคระบาด” อย่างหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เหตุกราดยิง” คือ “โรคระบาด” อย่างหนึ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเวลาเพียง 2 เดือนนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ปั่นป่วนไม่เบาสำหรับสังคมไทย เพราะหลังจากผ่านพ้นปีใหม่เพียงไม่นาน ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับเหตุสะเทือนขวัญบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีปล้นทองที่ จ.ลพบุรี จนกระทั่งกรณีล่าสุดอย่างเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งล้วนแต่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ควรจะปล่อยผ่านเลยไป แต่ควรนำมาเป็นบทเรียนสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

รายงานของ The New York Times เมื่อปี 2015 ระบุว่า “เหตุกราดยิงคือโรคระบาดอย่างหนึ่ง” โดยผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะไม่ใช่การแสดงความโกรธด้วยเหตุผลเฉพาะตัวบุคคล แต่กลายเป็นการเลียนแบบเหตุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันความรุนแรงกล่าวว่า ผู้ที่ก่อเหตุกราดยิงส่วนใหญ่จะมีการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในอดีต และมักจะแสดงความชื่นชมผู้ที่เคยก่อเหตุรุนแรงเหล่านั้น ขณะเดียวกัน การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุกราดยิงเหล่านี้ ก็อาจจะกระตุ้นอารมณ์ของผู้ที่มีปัญหาทางจิตและผู้ที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงด้วย

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กรณีสังหารหมู่ 9 ศพ ที่วิทยาลัยชุมชนในโอเรกอน โดยมีรายงานว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุ นายคริสโตเฟอร์ ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ มือปืนวัย 26 ปี ได้อัพโหลดวีดิโอเกี่ยวกับเหตุสังหารหมู่ที่โรงเรียนประถมแซนดี ฮุก ในนิวทาวน์ รัฐคอนเนตติคัต เมื่อปี 2012 ขณะเดียวกัน มือสังหารที่แซนดี ฮุก ก็เรียนรู้จากเหตุกราดยิงก่อนหน้า คือเหตุการณ์ในปี 1999 ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ในโคโลราโด ที่คร่าชีวิตผู้คนถึง 13 คน และในปี 2011 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 77 คน

ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นย้ำอีกว่า ประเด็นเรื่องสุขภาพจิต อาจจะกระตุ้นให้เกิดการสังหารหมู่ได้ โดยมีการศึกษาระบุว่า การกราดยิงก็เหมือนกับการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ที่อาจจะมีการ “สร้างกลุ่ม” จากเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามด้วยเหตุการณ์อื่นๆ โดยในการวิเคราะห์เหตุฆาตกรรมหลายร้อยคดี ตั้งแต่ปี 1997 - 2013 นักวิจัยพบว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหม่จะมีสูงในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากที่เหตุฆาตกรรมกลายเป็นข่าวดัง

ลักษณะ “การระบาด” เช่นนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกร้องให้มีการตอบสนองในด้านสาธารณสุข ซึ่งเน้นที่การตรวจพบล่วงหน้าและมาตรการเชิงป้องกัน เช่นเดียวกับการรณรงค์ทางการเมืองเกี่ยวกับข้อห้ามในการพกพาอาวุธ 

ดร. เจ. เรด เมลอย นักนิติจิตวิทยา ผู้ประเมินภัยคุกคามในโรงเรียนและบริษัท เสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหานี้ว่า ควรมีการทลายกำแพงระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานด้านสุขภาพจิต และพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยคุกคาม รวมทั้งระบุตัวตนของผู้ที่อาจก่อปัญหาหรือก่อความรุนแรง

ด้านบุคลากรด้านการบังคับใช้กฎหมายระบุว่าสื่อควรมีมาตรฐานในการรายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการรายงานข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น และเรียกร้องให้สื่อมวลชนเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการสังหารหมู่ โดยเฉพาะการเปิดเผยชื่อและหน้าตาของมือปืน โดย ดร.เดบอราห์ ไวส์บรอท รองศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวช มหาวิทยาลัยสโตนี บรู๊ค ระบุว่า การเปิดเผยใบหน้าและชื่อของผู้ก่อเหตุ และการนำเสนอข่าวนี้ซ้ำๆ อาจจะเป็นการสร้าง “พิมพ์เขียว” ของการก่อเหตุกราดยิง โดยที่สื่อไม่ได้ตั้งใจ

นอกจากนี้ ดร.เมลอยยังระบุว่า การใช้ภาพหรือคำพูดบางอย่างในสื่อ ก็อาจจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดให้กับผู้รับสื่อได้ โดย ได้ยกตัวอย่างคำว่า “lone wolf” ที่หมายถึงผู้ก่อการร้ายที่กระทำการคนเดียว โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับองค์กรใดๆ ซึ่งคำนี้ได้สร้างภาพลักษณ์ “เท่” ในสายตาของวัยรุ่น แม้ว่าสื่อจะไม่ได้ตั้งใจสร้างภาพลักษณ์เช่นนี้ให้กับผู้ก่อเหตุก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook