5 แฮชแท็กสะท้อนเรื่องราว “กราดยิงโคราช”

5 แฮชแท็กสะท้อนเรื่องราว “กราดยิงโคราช”

5 แฮชแท็กสะท้อนเรื่องราว “กราดยิงโคราช”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ณ ขณะนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุกราดยิงที่โคราชกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยลำดับเหตุการณ์ที่ทั้งระทึกขวัญและชวนให้สลดใจจากการสูญเสียที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ที่ควรบันทึกไว้ เพื่อเป็นบทเรียนในการทำงานของภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งเป็นบทเรียนให้สังคมได้ขบคิดกันต่อ ถึงแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำสอง

ท่ามกลางกระแสข่าวจากสื่อต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์คือ “แฮชแท็ก” ที่ชาวเน็ตช่วยกันสถาปนาขึ้น เพื่อประกอบฉากต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ นอกจากการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์แล้ว แฮชแท็กเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนแง่มุมเล็กๆ มากมาย ที่เกิดขึ้นจากเหตุกราดยิง และอาจเป็นบันทึกรูปแบบใหม่ ที่เราอาจจะกลับมาอ่านซ้ำได้ทุกเมื่อ และนี่คือ 5 แฮชแท็กที่สะท้อนเรื่องราวในเหตุกราดยิงที่โคราช

#PrayForKorat และ #SaveKorat

สองแฮชแท็กสำคัญที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากมีการเสนอข่าวกราดยิงที่โคราช เป็นการแสดงถึงความห่วงใยพี่น้องชาวโคราช จากคนอื่นๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ นับเป็นสิ่งที่น่าประทับใจในโลกยุคใหม่ ที่ผู้คนสามารถแสดงความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ได้จากทุกมุมโลก รูปแบบของแฮชแท็กที่ภาวนาให้บุคคลหรือคนในพื้นที่ปลอดภัย เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น #SaveAmazon ในเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอน #SaveAustralia ในเหตุการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ของออสเตรเลีย #SaveHakeem จากกรณีที่รัฐบาลไทยจับกุมตัวนายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน หรือ #PrayForWuhan ในกรณีโคโรนาไวรัสที่เป็นภัยคุกคามประชาชนในเมืองอู่ฮั่น เป็นต้น

#สื่อไร้จรรยาบรรณ

เหตุกราดยิงที่โคราชเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แสดงภาพการทำงานและระดับจริยธรรมของสื่อมวลชนได้อย่างชัดแจ้ง เพราะในขณะที่สื่อทั่วฟ้าเมืองไทยกำลังให้ความสนใจเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น สื่อบางสำนักกลับก้าวล้ำเส้นจริยธรรม จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ผู้ที่ติดอยู่ภายในห้าง พร้อมบอกจุดที่ซ่อนอย่างครบถ้วน จนเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ที่ซ่อนตัวอยู่ การถ่ายทอดสดปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการสัมภาษณ์ญาติผู้เสียชีวิตอย่างไม่เหมาะสม ก่อนที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะออกแถลงการณ์ให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ตามด้วย กสทช. ที่ห้ามสื่อถ่ายทอดสดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

#ทีมแป๊ะ

ในปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันครั้งนี้ หนึ่งในบุคคลที่สังคมไทยชื่นชมก็เห็นจะหนีไม่พ้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ “บิ๊กแป๊ะ” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ควงลูกชายคนโตคือ “ผู้กองฮัท” ร.ต.อ.ชานันท์ ชัยจินดา ลงพื้นที่เข้าร่วมปฏิบัติการตั้งแต่คืนวันที่ 8 ก.พ. และกลับออกมาหลังจากที่คนร้ายถูกวิสามัญฆาตกรรมในเช้าวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งกระแสชื่นชมการทำงานของบิ๊กแป๊ะก็ดูจะกลบกระแสข่าวเรื่องการแต่งตั้งลูกชายตัวเองเป็นสารวัตร แม้จะมีคุณสมบัติไม่ครบก็ตาม

#RIPPrayuth

หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และแถลงว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย และอยากให้เป็นครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยและการดูแลคลังอาวุธในค่ายทหารนั้นไม่ได้หละหลวม แต่เป็นเพราะผู้ก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่และชิงกุญแจคลังอาวุธมา อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเดินทางกลับ พล.อ.ประยุทธ์กลับทำท่ามินิฮาร์ตโชว์ประชาชน ทำให้ชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม นำไปสู่แฮชแท็ก #RIPPrayuth ที่ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook