“Parasite” ความเหลื่อมล้ำที่ทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ

“Parasite” ความเหลื่อมล้ำที่ทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ

“Parasite” ความเหลื่อมล้ำที่ทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จบลงไปแล้วสำหรับงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 92 ซึ่งในปีนี้ภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” จากประเทศเกาหลีใต้ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้ารางวัลใหญ่กลับบ้านไปได้ถึง 4 รางวัล ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม, รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม, และรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่ง Parasite ถือเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ออสการ์ที่สามารถคว้ารางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองได้สำเร็จ แต่ทำไมภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้เรื่องนี้จึงสามารถคว้าชัยชนะไปได้ เรื่องราวของคนเกาหลีใต้สะท้อนอะไรในบริบทสังคมโลก Sanook จึงขอร่วมค้นหาคำตอบของคำถามดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจข้อความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องดังที่เข้าไปนั่งอยู่ในใจของคอหนังทุกชนชาติ

“Parasite” บนเวทีออสการ์ 

“ออสการ์น่าจะสะท้อนความคิดเห็นและทัศนคติของคนอเมริกันในแวดวงฮอลลีวูดได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเราไปดูเทรนด์ของหนังที่ได้รับรางวัลออสการ์ในช่วงหลายปีให้หลัง มันจะเป็นหนังที่พูดถึงผู้แพ้หรือคนตัวเล็กตัวน้อยค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น The Shape of Water ที่พูดถึงพวกสัตว์ประหลาด Moonlight ก็จะพูดถึงชีวิตของเกย์ ไล่ลงไปถึง Birdman, 12 Years a Slave หรือที่เราพอจะรู้จักกันคือ Slumdog Millionaire อะไรแบบนี้ คือมันพูดถึงผู้แพ้เสียมาก ในขณะที่ก่อนหน้านี้มันยังพูดถึงผู้ชนะอยู่เลย ดังนั้น มันบอกว่าสังคมอเมริกันเริ่มคิดถึงบทบาทของคนที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมมากขึ้น” อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์ หนุนภักดี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็น

ในขณะที่ออสการ์เริ่มมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ที่กล่าวถึงคนตัวเล็กในสังคม กอปรกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนทั่วโลกรวมถึงคนอเมริกันเริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นแบบเห็นได้ชัด ภาพยนตร์ Parasite ซึ่งพูดถึงเรื่องทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และคนที่เป็นชนชั้นผู้เสียเปรียบในสังคมจึงทำหน้าที่สะท้อนสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมของสังคมอเมริกันได้อย่างดีเยี่ยม ขณะเดียวกัน ก็มีแนวโน้มที่จะสะท้อนปัญหาในสังคมอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย 

“Parasite” กำลังพูดแทนใจคน 

“ตัวข้อความในเรื่อง Parasite กำลังพูดแทนใจคนส่วนใหญ่ของโลก ในความเป็นจริง เราพบว่าเราอยู่ในโลกที่เห็นคนที่รวยกว่าเรา รวยมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราก็เห็นคนจำนวนน้อยใช้ชีวิตอย่างหรูหราและฟุ่มเฟือยตลอดเวลา เราเห็นคนซื้อนาฬิกาแพง ๆ เรือนละสองล้าน สามล้าน สิบล้าน ซื้อรถหรู แต่พอเรากลับมามองตัวเราและคนรอบข้าง เราเจอแต่ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาเรื่องการศึกษา ปัญหาเรื่องความยากจน อาจจะรวมถึงปัญหาฝุ่นก็ได้ ผมคิดว่าจุดนี้ของหนัง มันได้พูดแทนใจคนจำนวนมากในโลกนี้ แล้วที่สำคัญก็คือมันพูดได้อย่างสนุก และเข้าใจง่าย” อาจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ชี้ 

Parasite สามารถนำเสนอเรื่องของชนชั้น ความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยได้อย่างชัดเจน โดยตัวภาพยนตร์ได้หยิบยกเอาประเด็นหลัก 2 ประเด็นใหญ่ขึ้นมานำเสนอ ได้แก่ ประเด็นเรื่องความสามารถ และประเด็นเรื่องจริยธรรม ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนสามารถมองเห็นหรือสังเกตได้ชัดเจนที่สุดแต่คนทั่วไปไม่หยิบขึ้นมาถกเถียงพูดคุยกันเป็นวงกว้าง

อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์มองว่า ในภาพยนตร์ทำให้เห็นว่าคนชั้นล่างซึ่งเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนที่มีความสามารถ เพียงแต่ไม่สามารถเข้าไปสู่โครงสร้างของคนรวยได้ เพราะมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจน้อย 

“ในด้านศีลธรรมจริยธรรม มันแสดงให้เห็นอีกว่า คนรวยเวลาที่แสดงออกทางศีลธรรมหรือความเป็นคนดีของเขา ตัวละครในหนังตั้งคำถามว่า ความใจดีที่คนรวยมีให้เรา มันเป็นความใจดีหรือมันเป็นเพราะเขารวย เขาจึงใจดี ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ เวลาที่เราเห็นคนรวยซื้ออาหารหรือบริจาคทาน อันนั้นคือความมีศีลธรรมและเป็นความดีของเขา หรือเขาทำได้เพราะเขามีเงิน มีทรัพย์สิน” อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์อธิบาย 

ประเด็นเรื่องความสามารถและจริยธรรมจึงเป็นประเด็นที่อยู่ในใจของคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ด้อยกว่าหรือไร้ความสามารถ เพียงแต่คนกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพทางการเงินที่มากกว่า พร้อมกันนั้น ยังมีบางอย่างที่กดขี่ข่มเหงให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถไปไหนได้ 

ไม่เพียงถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ในสังคมยังถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คือกรอบคิดหรือวิธีคิดทางวัฒนธรรมที่บอกว่า การเป็นคนรวยหรือคนจนนั้น ไม่ใช่ปัญหาของการถูกกดขี่เชิงโครงสร้าง แต่เป็นปัญหาส่วนบุคคล ซึ่งอาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์ชี้ว่า 

ไล่ไปได้เลย ตั้งแต่ว่าโง่ ขี้เกียจ วัน กินแต่เหล้า ไม่ตั้งใจเรียน หรือไกลกว่านั้นก็คือโทษเรื่องเวรกรรม ซึ่งถ้าสังเกตดูเรื่อง Parasite จะไม่มีเรื่องเหล่านี้ มันไม่ได้บอกเราว่าทำไมใครจน หรือใครรวย ในแง่นี้ทำให้มันเป็นหนังที่ไม่พูดเรื่องอดีต มันกำลังพูดถึงในปัจจุบันว่า ถ้าเรามองเข้าไปในความเป็นจริงของปัจจุบัน เราจะเจอข้อเท็จจริงเหล่านี้แหละ โครงสร้างมันวางเอาไว้แบบนี้ โครงสร้างนี้มีทั้งคนมั่งมีและคนยากจน มีนายทุนกับคนงาน และคนยากจนหรือคนงานมักถูกคนที่เขารวยกว่าหรือนายทุนกดขี่อยู่เสมอ” 

“Parasite” กับ “Joker” สังคมที่ข่มเหงคนตัวเล็ก 

เมื่อลองเทียบภาพยนตร์ 2 เรื่องที่ทำผลงานได้ดีบนเวทีรางวัลทางภาพยนตร์ใหญ่ ๆ ของโลก ไม่ใช่แค่ “Parasite” เท่านั้นที่นำเสนอภาพของความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ภาพยนตร์เรื่อง “Joker” ก็เป็นอีกตัวอย่างของภาพยนตร์คนตัวเล็กของสังคมที่ถูกกดทับ และได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ซึ่งภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องต่างมีประเด็นที่ทับซ้อนกันอยู่ 

Parasite มุ่งเสนอเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่ทั้งขูดรีด กดขี่และกดทับคนที่อยู่ต่ำกว่า ทำให้คนเหล่านั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านศีลธรรม ซึ่งแปลได้ว่า นอกจากคนเหล่านี้จะจนเเล้ว พวกเขายังดูเป็นพวกไร้ศีลธรรมอีกด้วย 

“คนมักจะตีความชื่อหนังว่ากลุ่มคนจนที่ปลอมตัวเข้าไปทำงานในบ้านของคนรวยเป็นพวกปรสิต แต่ในทางทฤษฎีแล้ว อย่างของพวกมาร์กซิสต์ เวลาที่พูดถึงชนชั้นปรสิต เขาหมายถึงคนรวย คือพวกเจ้าที่ดินต่างหาก ที่เป็นพวกปรสิตก็เพราะคนพวกนี้รวยได้โดยทำงานน้อย รายได้ก็มาจากคนข้างล่างหรือคนงานต่างหากที่ทำงาน ดังนั้น คนรวยจึงเป็นปรสิตที่คอยเกาะและดูดเอาหยาดเหงื่อ แรงงาน และน้ำตาของคนงาน และเมื่อได้ความมั่งคั่งแล้ว เขายังมากดทับคนอื่นอีกทีด้วยการทำให้คนจนรู้สึกเป็นคนที่มีศีลธรรมด้อยกว่า” อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์กล่าว

หากเปรียบเทียบ Parasite กับภาพยนตร์เรื่อง Joker ที่ฉายไล่เลี่ยกันแล้ว Joker ได้สะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่กดทับคนในสังคม จนกระทั่งคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในชีวิต แล้วก็ไประเบิดออกในลักษณะของความรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถสะท้อนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ไม่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite เลย 

ดังนั้น ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องจึงตอกย้ำให้เห็นถึงความตระหนักรู้ของคนในสังคมต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำและการถูกกดขี่จากคนชนชั้นบนที่กระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก 

“Parasite” กับสังคมไทย 

“ผมไม่คิดว่า Parasite ช่วยให้คนไทยเข้าใจสังคมไทยได้ดีขึ้นเท่าไร เพราะคนไทยอยู่กับความเป็นจริงทุกวันอยู่แล้ว” อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์บอกอย่างขบขัน 

แต่อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์ก็แสดงความคิดเห็นต่อว่า Parasite ยังจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในแง่ของการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยสะกิดให้เราหันกลับไปมองความเคยชินที่เราอยู่กับมันในทุก ๆ วัน กล่าวคือ เมื่อคนในสังคมอยู่กับมาตรฐานชีวิตและโครงสร้างที่ย่ำแย่อย่างยาวนาน คนมีแนวโน้มที่จะรู้สึกชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนเหมือนกับว่า เราอยู่กับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติธรรมดา จนไม่เกิดการตั้งคำถามถึงสถานะและวิถีชีวิตที่ถูกกดขี่อยู่

อย่างไรก็ตาม ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังได้กล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อาจารย์ดร.เอกสิทธิ์มองว่าเป็นตัวละครที่สำคัญ นั่นคือ ตัวละครที่เป็นคนข้างล่างแต่ชื่นชมบูชาวิถีชีวิตของคนรวยซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนข้างล่างถูกกดขี่เอาไว้อย่างยาวนาน ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ถือเป็นปัญหา เพราะคนชั้นล่างด้วยกันเองจะกดขี่พวกเดียวกัน หรือเหยียบพวกเดียวกันเพื่อให้ตัวเองมีสถานะที่สูงขึ้น และสิ่งที่น่าเศร้าคือมีคนข้างล่างจำนวนมากที่เชิดชูชีวิตแบบคนข้างบน จึงทำให้คนข้างล่างที่มีมากกว่าตกอยู่ภายใต้การขูดรีดและความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างที่คนข้างบนได้ประโยชน์ 

“มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาเชิดชูบูชา เขาอยากจะอยู่ในโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะเขาเองรู้สึกว่ามันดี เขาไม่คิดจะทำลายมัน ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็เสียเปรียบจากโครงสร้างนี้ ผมจึงอยากให้คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ นอกจากโฟกัสไปที่ตัวคนรวยและคนจนแล้ว ผมคิดว่าส่วนที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือ คนจนที่แอบอาศัยอยู่ในบ้านคนรวยนั่นแหละ แล้วก็เชิดชูวิถีชีวิตแบบคนรวย อยากจะรักษาวิถีชีวิตแบบนี้เอาไว้ อยากจะเป็นเหมือนคนรวย ผมคิดว่าตัวละครกลุ่มนี้ต่างหากที่เป็นตัวละครที่สำคัญ แล้วก็เป็นตัวละครที่ชี้เป็นชี้ตายความเป็นอยู่ของทุกคนทั้งในหนังและในชีวิตจริง ผมรู้สึกแบบนั้น” อาจารย์ ดร. เอกสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook