สืบคดียึดทรัพย์ ทักษิณ เบิกความซัดดับเบิ้ลสแตนดาร์ด

สืบคดียึดทรัพย์ ทักษิณ เบิกความซัดดับเบิ้ลสแตนดาร์ด

สืบคดียึดทรัพย์ ทักษิณ เบิกความซัดดับเบิ้ลสแตนดาร์ด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไต่สวนพยานครั้งแรกคดียึดทรัพย์ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน ฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายรับมอบอำนาจ เบิกความซัด คตส. ปิดโอกาสพิสูจน์กรรมสิทธิ์ทรัพย์ ดับเบิลสแตนดาร์ด ขณะที่ กาญจนภา หงส์เหิน เลขาส่วนตัว หญิงอ้อ แจงข้อมูลธุรกิจชินคอร์ป ขายหุ้นปี 36 ดีกว่า รวย 2 แสนล้าน เผยรายได้ครอบครัวเข้ากระเป๋าอ้อ ก่อนโอนให้แม้ว ไต่สวนนัดหน้า 23 ก.ค. เก้าโมงครึ่ง ยิ่งลักษณ์ - ตัวแทนซื้อที่ดินรัชดา รอคิวเบิกความ

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วันนี้ (16ก.ค.) เวลา 09.30 น. นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ไต่สวนพยานครั้งแรก คดีหมายเลข อม.14/2551 ที่อัยการสูงสุด ร้องขอให้ทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลในครอบครัว มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาทเศษ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยขณะดำรงตำแหน่งใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

โดยการไต่สวนนัดแรกในวันนี้ ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาได้นำพยานเข้าไต่สวนรวม 2 ปาก ประกอบด้วย นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการยื่นคำให้การคดีต่างๆ และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ

นายฉัตรทิพย์ ผู้รับมอบอำนาจพ.ต.ท.ทักษิณ เบิกความสรุปว่า พยานไดัรับมอบอำนาจจากพ.ต.ท.ทักษิณในการยื่นคำให้การและชี้แจงในคดีต่าง ๆ และสำหรับคดีการยื่นคำร้องยึดทรัพย์ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับโอกาสและความเป็นธรรมจาก คตส.ในการนำพยานบุคคลกว่า 100 ปาก เพื่อเข้าชี้แจง หลังจากที่คตส.ไม่อนุญาตให้ฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณขยายเวลาการยื่นเอกสารชี้แจงออกไปอีก

ทั้งนี้ เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบพยานหลักฐานซึ่งมีจำนวนมาก โดยการที่ คตส.ไม่อนุญาตขยายเวลาก็ระบุว่า ขณะนั้น คตส.มีเวลาจำกัด เนื่องจากใกล้จะหมดเวลาแล้ว โดยพยานเอกสารกว่า 2 หมื่นหน้าที่ได้ยื่นต่อศาลในคดียึดทรัพย์นี้ พยานและทนายความก็เพิ่งจะได้ตรวจสอบและเห็นเอกสารดังกล่าว

ขณะที่ในการทำสำนวนคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2และ 3 ตัว (หวยบนดิน) รวมทั้งคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น คตส.กลับเปิดโอกาสให้กับผู้ถูกกล่าวหา นำพยานบุคคลเข้าให้การชี้แจงเพิ่มเติมได้ก่อนที่จะมีการชี้มูลความผิดหลายเดือน จึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการลักลั่นในทางปฏิบัติ ขณะเดียวกันในชั้น คตส.ยังไม่ได้มีคำสั่งพิสูจน์ทรัพย์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านคนอื่น ๆ อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นหรือไม่ ก่อนที่จะมายื่นต่อศาล ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย

นายฉัตรทิพย์ ยังเบิกความด้วยว่า คณะของ คตส.ที่ไต่สวนคดีนี้ ปรากฏด้วยว่า มีกลุ่มบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ เช่น นายกล้าณรงค์ จันทิก นายแก้วสรร อติโพธิ และนายบรรเจิด สิงคเนติ ขณะที่การยื่นคำร้องยึดทรัพย์พยาน เห็น ว่า คดีขาดอายุความแล้ว เนื่องจากตามกฎหมาย ปปช.ต้องให้ยื่นคำร้อง ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหายังดำรงตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งแล้วไม่เกิน 2 ปี แต่คดีนี้ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ค.48

ทั้งนี้ การที่ คตส.ระบุว่า มีการนับเวลาต่อจากที่พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ 2 นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครอง ซึ่ง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เมื่อดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีก็ต้องเลือกตั้งใหม่ เสนอนายกรัฐมนตรีใหม่ และมีการแถลงนโยบายใหม่

ด้าน นางกาญจนาภา เบิกความสรุปว่า เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วทำงานกับบริษัทเอกชนนาน 10 ปี จึงเริ่มเข้ามาทำงานที่บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด ในตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ตั้งแต่ปี 2530 และลาออกเมื่อเดือนเมษายน 2549

ทั้งนี้ ขณะทำงานกับคุณหญิงพจมาน มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่เรื่องงาน การเงิน ทรัพย์สิน หุ้น และเรื่องส่วนตัว รวมทั้งดูแลบุตรชายหญิงทั้ง 3 คน โดยตระกูลชินวัตรเริ่มต้นทำธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหม ภาพยนตร์ อพาร์ทเมนต์ ให้เช่าที่ดิน กระทั้งมาทำบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ให้บริการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ มี พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่ต้น กระทั่งปี 2533 ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทั้งสามคนมีหุ้นรวมกันประมาณ 16-17 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 438 บาท รวมมูลค่าประมาณ 6 พันล้านบาทเศษ ต่อมามีการเพิ่มทุนรวม 3 ครั้งในปี 2534, 2537 และ 2542 ซึ่งทุกครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ จะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุกครั้งทำให้สัดส่วนการถือหุ้นคงเดิมตลอด

นางกาญจนาภา เบิกความว่า การนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพราะมีการซื้อกันตามอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในขณะเวลานั้น ซึ่งการซื้อขายหุ้นของบริษัททุกครั้งมีการบันทึกตามรายงานของตลาดหลักทรัพย์ โดยในปี 2536 นั้น มูลค่าหุ้นชินฯมีมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ราคาหุ้นละ 1,400 บาทเศษ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ ถือหุ้นรวมกันประมาณ 34 ล้านหุ้นเศษ หากมีการซื้อขายหุ้นกันในขณะนั้น คาดว่า ได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และหากจะเปรียบเทียบกับที่ขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็กประเทศสิงคโปร์จำนวน 134 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 49 บาทเศษแล้ว ก็น่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นที่ขายให้กับเทมาเส็กนั้น ถือว่า เป็นราคาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ มูลเหตุการณ์ซื้อขายหุ้นชินฯมีจำนวนมาก เนื่องจาก บริษัทชิน ถือเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นในบริษัทลูกที่ทำธุรกิจด้านโทรคมนาคม สื่อสารดาวเทียม โทรทัศน์ สายการบินพาณิชย์ และธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งต้องลงทุนสูง โดยเฉพาะทรัพย์สินของบริษัทชิน มีรวมกันไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

นางกาญจนา ยังเบิกความด้วยว่า ในส่วนบริษัทแอมเพิลริช อินเวสเมนท์ จำกัด ที่จดทะเบียนที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ว่า มีทุนจดทะเบียน 50,000 เหรียญสหรัฐ แต่มีการเรียกชำระค่าหุ้นเพียง 1 เหรียญสหรัฐ มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้กับนายพานทองแท้ บุตรชาย และ น.ส.พิณทองทา บุตรสาวแล้ว ทั้งสองจึงเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทร่วมกับพยาน และนายเฮนรี เรา ซึ่งการเปิดบริษัทแอมเพิลริช ฯ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจใด แต่เพื่อใช้ถือหุ้นในสัดส่วนบริษัทต่างชาติ ในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค (ประเทศสหรัฐอเมริกา) โดยพยานไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นกรรมการ แต่ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทในเครือชินคอร์ป

นางกาญจนา ยังเบิกความถึงการให้การในชั้น คตส. ด้วยว่า เดินทางเข้าให้การทั้งหมดรวม 5 ครั้ง และได้ให้การไว้อย่างละเอียดพร้อมกับให้เอกสาร ที่เกี่ยวกับบัญชีทรัพย์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และบุตรชายหญิงทั้ง 3 คนแล้วว่า มีทรัพย์สินอะไรอยู่ที่ใดบ้าง แต่ คตส. ยังออกมาแถลงว่า มีการซุกซ่อนทรัพย์สิน โดยไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จึงไม่เป็นความจริง ซึ่งทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และบุตรทั้ง 3 คนเสียหาย ทั้งที่เปิดเผยข้อมูลทางบัญชีไปหมดแล้ว ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า เอกสารและข้อมูลที่เคยให้กับ คตส.นั้น ถูกนำไปใช้พิจารณาหรือไม่ โดยความจริงแล้ว รายได้ของครอบครัวชินวัตร จะโอนเข้าสู่บัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสำนักรัชโยธิน ของคุณหญิงพจมานเป็นหลัก ก่อนที่จะโอนเข้าสู่บัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นครั้งคราว

ภายหลังพยานไต่สวนพยานทั้งสองปากแล้ว นัดไต่สวนพยานฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ อีกครั้งในวันที่ 23 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยทนายความเตรียมพยานเข้าไต่สวน 2 ปาก คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้คัดค้านยึดทรัพย์สิน และนายสมบูรณ์ คุปติมนัส ผู้รับมอบอำนาจคุณหญิงพจมาน ในการเข้าประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook