ทำไม “ชุดไทย” จำเป็นต้องผงาดในเวทีโลก

ทำไม “ชุดไทย” จำเป็นต้องผงาดในเวทีโลก

ทำไม “ชุดไทย” จำเป็นต้องผงาดในเวทีโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แทบจะเป็นธรรมเนียมประจำทุกปีแล้ว สำหรับการเดินพรมแดงในงานระดับโลกของเซเลบไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นเทศกาลภาพยนตร์หรืองานประกาศรางวัลภาพยนตร์ ก็จะมีเหล่าคนดังจากประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ทั้งในฐานะนักแสดง ผู้กำกับ หรือพรีเซนเตอร์สินค้าต่างๆ และล่าสุด “แก้ม – วิชญาณี เปียกลิ่น” นักร้องสาวเสียงทรงพลัง ก็ได้เป็นนักร้องหญิงไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 92 โดยเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมขับร้องเพลง Into the Unknown ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Frozen 2 ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

แต่นอกจากการโชว์ตัวหรือโชว์ผลงานแล้ว อีกหนึ่งภารกิจที่เซเลบไทยบนพรมแดงระดับโลกต้องแบกรับไปด้วย ก็คือการนำ “ความเป็นไทย” ออกไปสู่สายตาชาวโลก ซึ่งถ้าใครสามารถแสดงความเป็นไทยบนเวทีโลกได้ ก็จะได้ใจคนไทยไปอย่างท่วมท้น แต่หากเซเลบเหล่านั้นไม่ได้แสดงภาพความเป็นไทย ก็เป็นอันถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และลามไปเป็นดราม่าในที่สุด สำหรับกรณีของแก้ม แม้ว่าเธอจะเปิดตัวในชุดแบรนด์ไทยอย่าง “POEM” ก็ไม่อาจรอดพ้นดราม่าครั้งนี้ได้ เนื่องจากชุดที่เธอใส่นั้น “ไม่ใช่ชุดไทย”

แก้ม วิชญาณี เปียกลิ่น ในชุดราตรี POEM ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้Gam Wichayaneeแก้ม วิชญาณี เปียกลิ่น ในชุดราตรี POEM ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้

เหตุใดคนไทยบางคนจึง “อิน” กับความเป็นไทยในเวทีโลก อาจารย์ฐิติพงษ์ ด้วงคง นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องของผู้หญิง เพศสถานะและเพศวิถี ให้เหตุผลว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดจากความรู้สึกที่คนไทยต้องการบุคคลที่เป็นเหมือน “ฮีโร่” นำพาประเทศให้เข้าสู่พื้นที่สากลให้ได้มากที่สุด ซึ่งภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่จะทำได้นั้นจึงถูกเรียกร้องมากเป็นพิเศษ และความเป็นไทยที่จะสามารถออกสู่สายตาชาวโลกได้นั้น ก็ต้องถูกคัดเลือกมาแล้ว เช่น การแต่งชุดไทย การไหว้ และภาษาไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่กำหนดโดยชนชั้นนำ ระบบการศึกษา และบรรทัดฐานของสังคม

“โอกาสของการปรากฏตัวของวัฒนธรรมไทย เอกลักษณ์ความเป็นไทยในพื้นที่สากล ส่วนใหญ่จะเป็นความเป็นไทยที่เป็นของชนชั้นนำ เป็นสิ่งที่ราชสำนักคอยบอก คอยปลูกฝังเรา หรือว่าเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางระดับสูงพูดกัน รวมไปถึงคนที่อยู่ล่างๆ ที่เขาเห็นว่า วัฒนธรรมนี้มันสามารถเผยแพร่ออกไปได้ ระบบการศึกษาของเราก็บอกว่า เราเป็นคนไทย เราต้องไหว้นะ หรือไปงานอะไรก็ตาม เราต้องแต่งชุดไทย เพื่อให้เขารู้ว่าเราเป็นคนไทย” อาจารย์ฐิติพงษ์กล่าว

ส่วน “ตัวละคร” ที่จะรับบทฮีโร่ไปประกาศศักดาความเป็นไทยในเวทีโลกก็ถูกคัดสรรมาแล้วเช่นกันว่าต้องเป็น “ผู้หญิง” ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคนดังที่เป็นผู้หญิงมักจะมีพื้นที่บนพรมแดงในการประชันความงาม พร้อมสอดแทรกข้อความหรือสัญลักษณ์ทางการเมืองหรือวัฒนธรรมมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจารย์ฐิติพงษ์อธิบายว่า เนื่องจากผู้หญิงถูกมองว่าเป็น “วัตถุแห่งความปรารถนา” หรือ Object of desire และในสายตาของรัฐ ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ชาย ก็มองว่าผู้หญิงสามารถเรียกสายตาของช่างภาพในงานต่างๆ ได้ ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงคาดหวังการเป็นตัวแทนประเทศจากผู้หญิงมากกว่า 

“ส่วนใหญ่แล้ว อะไรก็ตามที่มันแสดงให้เห็นถึงคาแรกเตอร์ ตัวตนของความเป็นไทย ความอ่อนน้อม ความชดช้อยอ่อนหวาน ความสวยงาม ความแปลก มันมักจะถูกนำเสนอผ่านร่างกายของผู้หญิงอยู่แล้ว ในโลกยุคปัจจุบัน ในงานอีเวนต์หรืองานที่มีคนดังไป เราก็ใช้ดาราผู้หญิงมากกว่าดาราผู้ชาย เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ยึดโยงกับเรื่องแฟชั่นและความงาม ซึ่งผู้หญิงทำได้ดีกว่า เพราะฉะนั้น คนในบ้านเราก็มักจะมองว่า ถ้าเราจะนำเสนอความเป็นไทยออกไป วิธีการที่เร็วที่สุดและง่ายที่สุดก็คือใช้เรือนกายของผู้หญิง เพราะฉะนั้น ความคาดหวังที่มีต่อผู้หญิงถึงสูงมาก”  อาจารย์ฐิติพงษ์อธิบาย

ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต เจ้าแม่พรมแดงในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ผู้เคยผ่านดราม่าชุดไทยบนพรมแดงมาก่อนAFPชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต เจ้าแม่พรมแดงในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ผู้เคยผ่านดราม่าชุดไทยบนพรมแดงมาก่อน

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีของแก้มและชุดราตรีจาก POEM นั้น แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เห็นด้วยกับการใส่ชุดของ  POEM เพราะมองว่าเหมาะสมกับรูปแบบงาน และกลุ่มที่เรียกร้องให้ใส่ชุดไทย เนื่องจากเห็นตัวอย่างจากศิลปินชาวญี่ปุ่น ที่สวมชุดกิโมโนเข้าร่วมงานเดียวกัน ซึ่งอาจารย์ฐิติพงษ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับกระแสเหล่านี้ว่า

“คนที่มองว่า POEM ก็เหมาะสมแล้ว คือกลุ่มคนที่เห็นว่าตัวเสื้อผ้า ที่มีลักษณะความเป็นสากล เหมาะกับงานออสการ์ มันก็สามารถสื่อความเป็นไทยแบบสมัยใหม่ได้เหมือนกัน ก็คือสื่อว่าไทยเราก็มีศักยภาพในการผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าได้ไม่แพ้แบรนด์ระดับโลก โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นชุดไทยอย่างเดียว และชุดของ POEM ก็สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการทำธุรกิจข้ามชาติของคนไทย เพราะตอนนี้ POEM มีฐานอยู่ที่ไทย แต่ก็มีชาวต่างชาติสั่งซื้อ นี่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่าแบรนด์ POEM ก็ได้ขยายพื้นที่ของตัวเองไปสู่โลกตะวันตก”

นอกจากนี้ อาจารย์ฐิติพงษ์ยังเสริมว่า การที่แก้มไม่ได้ใส่ชุดไทยเดินพรมแดง อาจเกี่ยวข้องกับการโปรโมตสินค้าต่างๆ ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์เครื่องแต่งกาย และคนดังที่สวมใส่เครื่องแต่งกายจากสปอนเซอร์เหล่านั้นก็ต้องทำหน้าที่เป็น “พรีเซนเตอร์” ให้กับสินค้าไปด้วย

หญิง รฐา โพธิ์งหญิง รฐา โพธิ์งาม ที่ชนะใจแฟนชาวไทย จากการไหว้ขณะโชว์ตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์คานส์ 2013 AFPหญิง รฐา โพธิ์งหญิง รฐา โพธิ์งาม ที่ชนะใจแฟนชาวไทย จากการไหว้ขณะโชว์ตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์คานส์ 2013 ด้านกลุ่มที่เรียกร้องให้สวมชุดไทย เช่นเดียวกับที่นักร้องญี่ปุ่นแต่งชุดกิโมโน อาจารย์ฐิติพงษ์มองว่าน่าจะมาจากความเชื่อในอุดมการณ์ความเป็นชาติไทยที่ถูกปลูกฝังโดยรัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด นอกจากนี้ อาจารย์ยังชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างชุดไทยกับชุดกิโมโน ที่มีความเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และมีบริบทในพื้นที่สากลไม่เท่ากัน 

“เราก็มองว่าชุดไทยก็มีผลในระดับหนึ่ง แต่ว่ามันไม่สามารถขึ้นไปสู่ระดับของกิโมโนได้ เพราะว่าญี่ปุ่นโปรโมตและใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัฒนธรรมอย่างชุดกิโมโนในพื้นที่สากลนานมากแล้ว แล้วก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย แล้วตะวันตกก็เห็นภาพของกิโมโนอยู่แล้ว ซึ่งมันมีความเป็นสากลในชุดกิโมโนมากกว่า คุณจะเห็นดีไซน์เนอร์อย่าง จอห์น กัลลิอาโน ของดิออร์ ก็ดี ที่เคยใช้กิโมโนเป็นแรงบันดาลใจในคอลเล็กชันเสื้อผ้าตะวันตกของตัวเอง ในขณะที่ชุดไทยยังไม่เยอะเท่า เพราะฉะนั้น branding ของกิโมโนมันชัดอยู่แล้ว และญี่ปุ่นก็มีความเป็นชาตินิยมสูง เพราะฉะนั้น เขาก็คิดว่าชุดเขามีพลังพอที่จะตะโกนร้องได้ในพื้นที่สากล” อาจารย์ฐิติพงษ์กล่าว

แต่ในเมื่อเราคนไทยก็ต้องการ “สปอตไลต์” ในพื้นที่สากล จะทำอย่างไรให้ความเป็นไทยสามารถส่งเสียงได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อาจารย์ฐิติพงษ์ให้ความเห็นว่า เนื่องจากพรมแดนของประเทศต่างๆ ในโลกปัจจุบันนั้นแทบจะจางหายไปหมดแล้ว คนไทยสามารถสวมชุดแบบใดก็ได้ แต่ที่สำคัญ การแต่งกายนั้นควรจะมีส่วนผสมของความเป็น Local และ Global ด้วยกัน และการที่แก้มเลือกใช้เสื้อผ้าแบรนด์ไทยที่มีรูปแบบเป็นสากล ก็เรียกว่า “Glocal” คือการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับชุดคุณค่าจากโลกตะวันตก ซึ่งอาจารย์ฐิติพงษ์มองว่าเป็นการก้าวข้ามพรมแดนของชาติ

“การไปของแก้มครั้งนี้ หรือเซเลบไทยคนอื่นๆ ในพื้นที่ที่เป็นอีเวนต์สากล ในเสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์ไทย แล้วก็มีคุณสมบัติของความเป็นสากลหรือความเป็นตะวันตก มันก็สะท้อนว่าเซเลบหรือดาราไทยก็พาความเป็นไทยข้ามชาติไปแล้ว ด้วยพาหนะที่เป็นตะวันตก คุณไม่จำเป็นต้องนั่งเรือสุพรรณหงษ์ไปฮอลลีวู้ดก็ได้ คุณอาจจะนั่งเครื่องบินเจ็ตไปก็ได้ เพราะฉะนั้น เสื้อผ้าพวกนี้มันก็เป็นพาหนะหนึ่งที่ขนความเป็นไทยไปได้ ขณะเดียวกันสังคมไทยก็ควรเริ่มตีความและมองความเป็นไทยในแบบอื่นๆ ด้วย นอกไปจากความเป็นไทยสุดโต่งหรือแบบเดิมที่รัฐคอยชี้บอกเรามา โดยเฉพาะความเป็นไทยที่อาจจะได้รับการนิยามด้วยคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตเอง เพราะเมื่อห้วงเวลาเปลี่ยนไป การตีความของอุดมการณ์ทางการเมืองก็ย่อมจะเปลี่ยนไปด้วย” อาจารย์ฐิติพงษ์สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook