กัมพูชาจี้มาเลเซีย "ตรวจผลใหม่" หลังพบผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมติดไวรัสฯ

กัมพูชาจี้มาเลเซีย "ตรวจผลใหม่" หลังพบผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมติดไวรัสฯ

กัมพูชาจี้มาเลเซีย "ตรวจผลใหม่" หลังพบผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมติดไวรัสฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาเลเซียประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ในประเทศเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัม ซึ่งได้เทียบท่าที่กัมพูชา หลังจากหลายแห่งปฏิเสธ โดยผู้โดยสารรายหนึ่งบินมาต่อเครื่องที่มาเลเซีย แต่ถูกตรวจพบเชื้อ

กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาออกแถลงการณ์ เรียกร้องหน่วยงานด้านสาธารณสุขมาเลเซียทบทวนผลการตรวจคัดกรองผู้โดยสารเรือเวสเตอร์ดัมที่เดินทางไปต่อเครื่องบินที่มาเลเซีย หลังหญิงชาวอเมริกันรายหนึ่งถูกวินิจฉัยเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อในประเทศมาเลเซียเพิ่มเป็น 22 รายเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.2563)

เนื้อหาในแถลงการณ์ของกัมพูชาระบุว่า การตรวจสุขภาพและคัดกรองผู้โดยสารบนเรือเวสเตอร์ดัม ได้มาตรฐานสากล และได้รับความช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงมีความเป็นไปได้ว่าการตรวจคัดกรองที่มาเลเซียเกิดความคลาดเคลื่อน

ขณะที่สำนักข่าวบางส่วนรายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียดำเนินการตรวจผู้โดยสารคนดังกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่กำลังอยู่ระหว่างรอผล ส่วนสามีของผู้โดยสารคนดังกล่าวมีอาการไข้และเป็นผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน แต่ผลตรวจบ่งชี้ว่า "ไม่ติดเชื้อ"

รายละเอียดข่าวระบุว่า ผู้โดยสารจากเรือเวสเตอร์ดัมที่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นหญิงชาวอเมริกัน วัย 83 ปี และเป็นหนึ่งในผู้โดยสาร 144 รายที่ลงจากเรือเวสเตอร์ดัมที่จังหวัดพระสีหนุ หรือสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา และเดินทางไปต่อเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม การตรวจพบผู้ติดเชื้อครั้งนี้ ทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดจากเรือเวสเตอร์ดัมถูกกักตัวอยู่ที่มาเลเซียชั่วคราวเพื่อรอผลตรวจเพิ่มเติม ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวดัตช์ที่เตรียมจะเดินทางต่อไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ส่วนรัฐบาลจีนเผยสถิติผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ รวมเป็น 1,622 รายในวันนี้ (16 ก.พ.) แต่สถิติผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 โดยยอดรวมของผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ 68,500 ราย ขณะที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา

ผู้โดยสาร-ลูกเรือบางส่วนยังอยู่บนเรือเวสเตอร์ดัม

ก่อนหน้านี้ บริษัทฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์ (HAL) ผู้บริหารกิจการเรือสำราญเวสเตอร์ดัม ประกาศว่าผู้โดยสารบนเรือได้รับการตรวจสุขภาพและวัดไข้อย่างสม่ำเสมอ ไม่พบอาการต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด

ส่วนชะตากรรมของเรือสำราญเวสเตอร์ดัมถูกรายงานเป็นข่าวไปทั่วโลก เนื่องจากเรือลำนี้ถูกปฏิเสธไม่ให้เทียบท่าในฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ดินแดนกวม รวมถึงประเทศไทย เพราะเกรงจะพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากเรือแวะเทียบท่าที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 ก.พ.และรับผู้โดยสารเพิ่มราว 800 คน ขณะที่ฮ่องกงประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ 26 ม.ค.เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เรือเวสเตอร์ดัมมีผู้โดยสารทั้งหมด 1,455 ราย และลูกเรือ 802 ราย ปัจจุบัน (16 ก.พ.) จอดเทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ เหลือผู้โดยสาร 236 ราย และลูกเรือ 747 รายที่อยู่บนเรือ ทั้งยังเป็นเรือที่อยู่ในเครือบริษัท 'คาร์นิวัลคอร์ปส์' ผู้บริหารเรือสำราญไดมอนด์พรินเซส ซึ่งถูกกักที่ท่าเรือโยโกฮามะของญี่ปุ่น และพบผู้ติดเชื้อบนเรือแล้วเกือบ 300 ราย

เวียดนามปฏิเสธเรือจากต่างประเทศ

การพบผู้ติดเชื้อบนเรือสำราญต่างๆ ทำให้หลายประเทศยกระดับมาตรการตรวจสอบและคัดกรอง รวมถึงปฏิเสธไม่ให้เรือเข้าเทียบท่าในประเทศ โดยเวียดนามปฏิเสธเรืออย่างน้อย 2 ลำเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของไทย เป็นหนึ่งในผู้ประกาศห้ามเรือเวสเตอร์ดัมเข้ามาจอดที่ท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทย หลังสื่อหลายสำนักทั้งในไทยและต่างประเทศรายงานข่าวอ้างอิงแถลงการณ์ของทางเรือว่า ได้รับอนุญาตให้เทียบที่ท่าเรือแหลมฉบังของไทยในวันที่ 13 ก.พ.

หลังจากสื่อรายงานข่าวเรือเวสเตอร์ดัมจะได้เทียบท่าที่ประเทศไทย หน่วยงานราชการไทยได้เผยแพร่ข้อมูลกล่าวหาว่า "มีการรายงานข่าวปลอมว่าไทยอนุญาตให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่า" โดยเป็นท่าทีไล่เลี่ยกับที่เกิดปฏิกิริยาตอบโต้เชิงลบจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้เรือเข้าจอดเช่นกัน หน่วยงานไทยหลายแห่งจึงยืนยันซ้ำหลายครั้งว่าจะไม่ให้เรือเวสเตอร์ดัมเทียบท่าในประเทศไทยแน่นอน แม้จะมีการเคลื่อนไหวจากสมาคมวิชาชีพเรือสำราญในไทย เรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้เรือเทียบท่าและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็ตาม

ต่อมา เรือเวสเตอร์ดัมได้ประสานไปยังกัมพูชา และได้รับอนุญาตให้เทียบท่าที่สีหนุวิลล์ โดยก่อนจะเดินทางไปถึงปลายทาง เรือเวสเตอร์ดัมได้เฉียดเข้าใกล้น่านน้ำทะเลอ่าวไทย ทำให้กองทัพไทยส่งเรือฟริเกตเข้าประกบ

หลังจากนั้นเพียง 1 วัน นายอนุทิน ได้อนุญาตให้เรือจากสิงคโปร์และมาเลเซียเทียบท่าที่ จ.ภูเก็ต พร้อมทั้งระบุว่า "จะมากี่ลำก็ได้" เพราะมั่นใจในมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของทางการไทย พร้อมย้ำว่า เรือที่เทียบท่า จ.ภูเก็ตมีเงื่อนไขต่างจากเรือสำราญเวสเตอร์ดัม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook