เสียงสะท้อนจากเหตุ "กราดยิงโคราช" ที่สังคมไม่ควรลืม

เสียงสะท้อนจากเหตุ "กราดยิงโคราช" ที่สังคมไม่ควรลืม

เสียงสะท้อนจากเหตุ "กราดยิงโคราช" ที่สังคมไม่ควรลืม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“กราดยิงโคราช” นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ แม้ว่าสถานการณ์ดูจะเริ่มคลี่คลาย แต่ม่านหมอกความหวาดระแวงกลับยังคงปกคลุมอยู่ในใจของคนในสังคม ซึ่งน่าจะใช้เวลาพอสมควร กว่าทุกอย่างจะฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม เหตุกราดยิงครั้งนี้ไม่ได้ทิ้งไว้เพียงความหวาดกลัว แต่ยังมีเสียงสะท้อนอีกมากมายจากเหตุการณ์นี้ ที่รัฐและสังคมไม่ควรจะละเลย แต่ต้องร่วมกันหาคำตอบ เพื่อเป็นบทเรียนในการป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

อาชญากรเป็นผลลัพธ์ของสังคม

หลังจากเกิดเหตุกราดยิง มูลเหตุจูงใจของผู้ก่อเหตุถูกเปิดเผยอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับธุรกิจบ้านจัดสรรในแวดวงทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างทหารชั้นผู้น้อยกับผู้บังคับบัญชา รวมทั้งความกดดันจากระบบ แต่ประเด็นหนึ่งที่ยังไม่มีการพูดถึงมากนักคือ “สังคมแบบไหนที่สร้างอาชญากรขึ้นมา” 

ประเด็นนี้ อ.ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในเชิงอาชญาวิทยา นอกจากบุคลิกภาพและการเลี้ยงดูของครอบครัวแล้ว สังคมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หล่อหลอมคน ซึ่งในกรณีนี้ ค่านิยมในสังคมยุคปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่คาดหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีฐานะร่ำรวย ก่อให้เกิด “มนุษย์พันธุ์ใหม่” ที่ต่อสู้ดิ้นรนและแข่งขันกับผู้อื่น เพื่อชีวิตที่ดีกว่า จนกระทั่งขาดการประนีประนอม รวมทั้งขาดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ หรือเชื่อมโยงกับมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งผู้ก่อเหตุกราดยิงครั้งนี้ ก็เป็นผลลัพธ์ของสังคมเช่นนี้นั่นเอง

“ผู้ก่อเหตุอายุยังน้อย ก็ถือได้ว่าไม่ใช่คนรุ่นเก่า ดูแล้วชีวิตเขาไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรมาก มีโอกาสเรียนนายสิบ แต่ความคาดหวังเขาสูงมาก มีความทะเยอทะยาน ความคิดที่ว่าต้องมีรถ ต้องมีล้านแรก ขอกดล้านแรกให้ได้ภายในอายุเท่านี้ มันก็คือปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร” อ.ดร.อมรให้ความเห็น

เมื่อคนกลุ่มนี้พุ่งทะยานไปสู่ความฝันของตัวเอง แต่กลับพบกับอุปสรรคที่ทำให้ตนเองรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ พ่ายแพ้ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ความไม่พอใจก็จะระเบิดออกมาในรูปของความรุนแรง ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่ง อ.ดร.อมรอธิบายว่า

“เขาก็คือเด็กปาหินกับเด็กแว้น เพียงแต่ว่ามีปืนกับรถฮัมวีย์ เด็กแว้นมีมอเตอร์ไซค์ เด็กปาหินอาจจะใช้หินหรือใช้กำลังประทุษร้ายข้าวของ รถราของคนอื่นๆ แต่มันมาจากพื้นฐานจิตใจเดียวกัน ก็คือความคับข้องใจ ความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่มาตรฐานความเป็นธรรม บางทีคุณได้เยอะแล้ว แต่คุณมีความคาดหวังเยอะกว่าคนอื่นเขา คุณจะก้าวข้ามเส้นที่คนอื่นมีไปเรื่อยๆ จนขาดความเห็นอกเห็นใจ ก็ไม่ต่างอะไรกับโรคซึมเศร้า ที่ถึงจุดหนึ่งเขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข ถ้าเขาไม่ฆ่าตัวตาย เขาก็ไปฆ่าคนอื่น มันเป็นซึมเศร้าแบบที่ไปทำลายคนอื่น”

ความคับแค้นใจจากการถูกเอารัดเอาเปรียบถูกสะท้อนผ่านการก่อเหตุกราดยิงผู้บริสุทธิ์หลายราย พร้อมถ่ายคลิปขณะก่อเหตุไปด้วย ซึ่ง อ.ดร.อมรระบุว่า การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุมีการเตรียมการมาอย่างดี และอาจจะรู้ถึงวาระสุดท้ายของตัวเอง จึงก่อเหตุรุนแรงที่ “ไม่ธรรมดา” และโลกต้องจดจำเขาจากการฆ่าคนที่ดูเหมือนเป็นการ “เก็บแต้ม” เช่นเดียวกับเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น การสังหารหมู่ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1999 หรือเหตุกราดยิงมัสยิด 2 แห่ง ในนิวซีแลนด์เมื่อปี 2019

“เด็กสองคนที่ไปฆ่าอาจารย์และเพื่อนที่โรงเรียนโคลัมไบน์ ก็ไปซ้อมยิงลูกพินโบว์ลิงก่อน สะท้อนให้เห็นว่าเขาก็เชี่ยวชาญอาวุธ และเด็กสองคนนี้ก็คิดว่าวันนี้ต้องทำให้เหนือสถิติเดิม จากเหตุการณ์รุนแรงก่อนหน้า เพราะฉะนั้น ในเมื่อโลกจะจดจำ เขาก็ต้องเพิ่มจำนวน ต้องเก็บแต้ม ซึ่งก็เหมือนกับคนที่ฆ่ามุสลิมในนิวซีแลนด์ ก็ตั้งเป้าไว้เลยว่าถ้าเจอคนที่แต่งตัวเหมือนมุสลิม เก็บไม่ให้เหลือ แล้วก็ไลฟ์ไปด้วย คือเตรียมพร้อมชัดเจน แล้วก็ไล่ยิงไปทีละจุด คิดว่าเขาไม่มีการยับยั้งชั่งใจแล้ว เขาต้องการปลดปล่อยทุกอย่างที่เขาคิดว่าเขาควรได้รับการชดใช้ ให้มันรู้ไปว่าโลกนี้มันไม่เป็นธรรม” อ.ดร.อมรกล่าว

ด้านคุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เนื่องจากผู้ก่อเหตุถูกวิสามัญฆาตกรรมแล้ว ทำให้เราไม่สามารถรู้ถึงเหตุปัจจัยที่แท้จริงของการทำร้ายบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องได้ ทำได้เพียงคาดเดาจากข้อมูลที่สื่อนำเสนอ โดยคุณทิชาระบุว่า เหตุรุนแรงครั้งนี้อาจเชื่อมโยงกับข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 

“เหตุการณ์ร้ายๆ ในสังคม ไม่ว่าตั้งแต่สมคิด พุ่มพวง ไอซ์ หีบเหล็ก ผอ.กอล์ฟ เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้คนรู้สึกชินชากับการใช้ความรุนแรง และที่สำคัญก็คือ เขาอาจจะรู้หรือคาดเดาจุดจบของเขาเอง ก็คือติดคุกหรือประหารชีวิต เขาก็เลยเหมือนกับไปให้สุดเลย และที่สำคัญ ในขณะนั้น ความโกรธของเขาอาจจะหยุดไม่ได้ เมื่อเขาโกรธมากๆ แล้วไม่มีทักษะที่จะจัดการกับมัน และมีอาวุธอยู่ในมือ เขาก็มองคนที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางของเขา อาจจะไม่ใช่มนุษย์ที่มีสายใยกับใครทั้งสิ้น เป็นแค่ที่ระบาย เป็นเป้านิ่งที่เขาเคยซ้อมอยู่บ่อยๆ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรอก มันคงเกิดจากอารมณ์โกรธ แต่ความที่เขาคุ้นเคยกับการใช้อาวุธ คุ้นเคยกับเป้านิ่ง เห็นความรุนแรงในช่วงนี้อย่างถี่ๆ ก็อาจจะเป็นปัจจัยร่วมทั้งหมด” คุณทิชากล่าว

บทเรียนจากปฏิบัติการช่วยเหลือ

เหตุกราดยิงโคราชน่าจะเป็นเหตุกราดยิงครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น การเผชิญเหตุต่างๆ จึงค่อนข้างวุ่นวายและไม่ได้มีขั้นตอนการระงับเหตุที่ชัดเจน ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ กรณีนี้ อ.ดร.อมรมองว่าการสูญเสียครั้งนี้เกิดจากการประเมินสถานการณ์ที่ยังไม่ดีพอ เพราะผู้ก่อเหตุเตรียมการมาอย่างดี พร้อมอาวุธครบมือ ไม่ใช่เหตุการณ์ซึ่งหน้า ซึ่งใช้วิธีการรับมือต่างกัน ทำให้ไม่มีการเตรียมพร้อมด้านกำลังพลและอาวุธ

“เมื่อตำรวจได้รับแจ้งจากพระ พระก็คงอธิบายได้ไม่ชัดเจน ตำรวจก็อาจจะไม่ได้เตรียมพร้อม เพราะว่าข้อมูลไม่ชัดเจนว่าเขาจะไปเจออะไรในเหตุการณ์ข้างหน้า แล้วก็วิธีการแก้ปัญหาเรื่องแบบนี้ ต้องยอมรับว่าน่าจะเกินศักยภาพของตำรวจท้องที่ มันต้องไปถึงหน่วยพิเศษที่มีหน้าที่ต่อต้านยับยั้งเหตุแบบนี้ มันมีจุดที่มันชี้ให้เราเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญ ในที่สุดเขาก็ใช้ยุทธวิธีของตัวเองในการซ่อนตัว ไม่มีทีท่าว่าจะขอยอมจำนนแต่อย่างใด” อ.ดร.อมรกล่าว

นอกจากนี้ ประเด็นที่ อ.ดร.อมรตั้งคำถามคือ หลังจากที่เหตุการณ์ยุติลง ได้มีการตรวจสอบพื้นที่ที่ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต พบว่ามีผู้เสียชีวิตในบริเวณนั้น คือตัวประกัน 3 คน และผู้ก่อเหตุ รวมเป็น 4 คน เมื่อพิจารณาจากจุดที่เจ้าหน้าที่ยิง ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าตัวประกันเหล่านั้นเสียชีวิตด้วยกระสุนของใครกันแน่ ดังนั้น จึงควรมีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างละเอียด และสังคมมีสิทธิที่จะรับทราบเรื่องนี้

“เราอาจจะมองว่าเรื่องมันแล้วไปแล้ว แต่ผมคิดว่าสังคมมีสิทธิตั้งคำถาม มันเป็นคำถามที่ญาติผู้ตายและสังคมควรได้รับคำตอบ เพราะว่าเมื่อเราจะถอดบทเรียนแล้ว เราต้องยอมรับและเปิดใจกว้างเพื่อรับเสียงสะท้อน เพื่อการแก้ไขปัญหาในอนาคต เราจะลดความเสี่ยงหรือลดความสูญเสียเหล่านี้ได้อย่างไร นี่คือปัญหา เพราะว่าบุคลากรของเรามีค่ามาก การเสียไปคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะฉะนั้น ที่เราศึกษา ที่เราต้องเปิดเผย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น และเราจะป้องกันมันอย่างไร” อ.ดร.อมรให้ความเห็น

อาชญากร = คำตอบของการป้องกัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งหนึ่งของประเทศไทย ทำให้หลายคนออกมาประณามผู้ก่อเหตุ ขณะเดียวกันก็มีกระแสเรียกร้องให้สืบสวนและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ต้องการทำความเข้าใจอาชญากรกลับถูกมองว่ากำลังเห็นใจฆาตกร และสร้างความชอบธรรมให้กับการสังหารหมู่ครั้งนี้ ซึ่งคุณทิชากล่าวว่า มุมมองเช่นนี้น่าจะเกิดจากความเจ็บปวดและสะเทือนใจต่อชะตากรรมของผู้บริสุทธิ์ แต่เราจำเป็นต้องมีการศึกษาแรงจูงใจและทำความเข้าใจผู้ก่อเหตุ เพราะอาชญากรจะเป็นคำตอบของการป้องกัน การเฝ้าระวังโศกนาฏกรรมในครั้งต่อไป

“แรงจูงใจของเขามันเป็นภูมิ เป็นวัคซีนของสังคม เพราะว่ามันจะนำไปสู่การดูแลคนในครอบครัว คนในสังคม การออกแบบในเชิงระบบ การเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างด้วย อย่างเช่นกรณีนี้เราน่าจะเห็นคล้ายกันว่าอำนาจนิยมมันซ่อนความรุนแรงไว้ได้เยอะ แล้วมันจะรู้อีกทีต่อเมื่อเป็นระเบิดเวลาแล้ว พอเป็นอำนาจนิยม การต่อรองมันก็น้อย การถูกขู่ การกำราบมันสูงมาก เพราะฉะนั้น เราจะจัดการอย่างไรกับอำนาจนิยม เราอาจจะต้องเจรจาให้สังคมรับรู้ว่าอำนาจนิยมต้องมีพื้นที่เล็กลง และก็เป็นพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น” คุณทิชากล่าว

ด้าน อ.ดร.อมรก็มองว่า การทำความเข้าใจอาชญากรคือการพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยมองในเชิงวิชาการ และเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ของคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ การศึกษาเพื่อหาแรงจูงใจในการก่อเหตุ ยังอาจเป็นการเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียอีกทางหนึ่งด้วย

“คนที่ต้องการการเยียวยาอาจจะไม่ได้ต้องการเงิน แต่เขาต้องการความเป็นธรรม หรือต้องการทราบความจริงว่าญาติพี่น้องหรือบุคลากรตรงนั้น ตายด้วยเหตุผลอะไรกันแน่ ไม่ใช่ว่าตายแล้วก็แล้วไป มันไม่ง่ายอย่างนั้น ชีวิตมนุษย์ไม่ใช่ผักปลา” อ.ดร.อมรระบุ พร้อมเสริมว่า แม้ว่าเราจะไม่เปิดเผยหน้าตาและชื่อของผู้ก่อเหตุ แต่เราไม่ควรลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ ในมุมที่ไม่ให้การยกย่องการสังหาร และความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

“การเรียนรู้จากเหตุรุนแรงมันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ยืนยันว่าต้องทำทุกเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤต ตั้งแต่น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ จลาจลอะไรก็ตาม ถือว่าเป็นการถอดบทเรียน หรือเป็นเรื่องของการทบทวน การศึกษาเสียงสะท้อน หรือเสียงสะท้อนจากเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง เพื่อไปวินิจฉัย วิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหา”

เช่นเดียวกับคุณทิชา ที่มองว่าไม่มีใครเห็นดีเห็นงามกับการก่ออาชญากรรมต่อผู้บริสุทธิ์ และอาชญากรผู้นี้ไม่ได้ถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของผู้ถูกกดขี่ แต่เขาเป็น “เจ้าของความจริงอีกชุดหนึ่งที่สังคมไม่เคยรู้มาก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook